ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงอายุอันตรายกว่าที่คิด ป้องกันได้ด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

Last updated: 13 พ.ย. 2567  |  65 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงอายุอันตรายกว่าที่คิด ป้องกันได้ด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) คือการที่ปริมาณกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงอย่างผิดปกติ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยพบได้มากเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยจะส่งผล กระทบต่อการทำงานของร่างกาย ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยสัมพันธ์อย่างมากกับการทรงตัวที่ไม่ดี และก่อให้เกิดการหกล้มได้ง่าย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายและกระดูกหัก จนอาจกระทบถึงการที่ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ตามเดิม ภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะติดเตียงและการเสียชีวิตได้
 ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในมุมมองของแพทย์แผนจีน

ในทางการแพทย์แผนจีนมีมุมมองโรคเกี่ยวกับภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการแบบพร่อง ส่วนน้อยเป็นแบบพร่องผสมแกร่ง โดยรวมแล้วจัดอยู่ในกลุ่มอาการม้ามตับและไตพร่อง 肝肾亏虚与脾肾两虚 เป็นหลัก แพทย์แผนจีนมองว่าไตเป็นรากฐานของชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับร่างกายหลายระบบ เช่น กระดูก ไขกระดูก ระบบสมอง ระบบฮอร์โมน ถ้าเสื่อมสภาพหรือมีไม่เพียงพอก็จะเกิดการเสื่อมสลายของระบบดังกล่าวตามมา

โรคในระยะเริ่มแรกมักเกิดจากความชราและสมรรถนะร่างกายค่อยๆเสื่อมถอย ชี่ในไตเริ่มเสื่อมและถดถอยลงไปด้วย ทำให้กระดูกเปราะ ไขกระดูกไม่เพียงพอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งไตทำงานสัมพันธ์กับตับ ชี่ในตับเองก็ถดถอยลง เลือดไม่เพียงพอไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นขยับเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว และเมื่อชี่ในตับถดถอยจึงไปรบกวนการทำงานของม้าม ตับกับม้ามไม่ปรองดองกัน ม้ามไม่สามารถควบคุมการย่อยและดูดซึมอาหารได้ ร่างกายจึงไม่ได้รับสารอาหารและเลือดอย่างเพียงพอที่จะไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ แขนขาไม่มีแรง เดินเคลื่อนไหวลำบาก    

หากมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ควรเริ่มดูแลตนเองเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ด้วยการออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการหกล้ม ร่วมกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอ แต่สำหรับผู้สูงวัยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยขั้นรุนแรง ควรได้รับการประเมินและการดูแลรักษาต่อไปจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงหาสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

เพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้กับร่างกายง่ายๆด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

1. การออกกำลังกาย เพื่อฝึกฝน เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก โดยการใช้ท่าชี่กงง่ายๆ  คือท่าหม่าปู้ (马步) หรือ ท่านั่งม้า โดยท่านี้จะช่วยเสริมพลังชี่ของม้าม ตับและไต สร้างกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก ต้นแขน ต้นขา น่อง และแกนกลางลำตัว  เพื่อการทรงตัวที่ดียิ่งขึ้น เดิน ลุก นั่ง ได้อย่างมั่นคง
 
วิธีการทำท่าหม่าปู้ เริ่มจากการหันหลังยืนชิดกำแพง แผ่นหลังและส้นเท้าชิดกำแพงตามภาพ จากนั้นย่อตัวลงช้าๆ โดยที่หัวเข่าไม่เลยปลายเท้า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของข้อเข่า ค่อยๆยกมือในท่าอุ้มโอ่งขึ้นมาบริเวณหน้าอก พยายามผ่อนคลายบ่าไหล่และแขน ผ่อนลมหายใจเข้า-ออกลึกๆ หายใจเข้าท้องพองหายใจออกท้องยุบ เพื่อเป็นการฝึกสติและฝึกฝนเพิ่มพลังชี่ม้ามและไต ให้ไหลเวียนสู่แขนขา เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูกทั่วร่างกาย ยืนนิ่งค้างไว้ราวครั้งละ 2-5 นาที  ควรทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ไม่น้อยกว่า 4 วันต่อสัปดาห์

2. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทานอาหารที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน  ไข่ขาว เต้าหู้ เป็นต้น โดยปริมาณของโปรตีนที่ร่างกายควรได้รับ คืออย่างน้อย 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว  ยกตัวอย่างอาหารที่เป็นโภชนาบำบัด โดยเป็นอาหารที่มีสมุนไพรจีนเป็นส่วนประกอบคือ “ ไก่ตุ๋นห่วยซัวเก๋ากี้ ” (山药枸杞炖鸡汤)
ไก่ตุ๋นห่วยซัวเก๋ากี้  มีสรรพคุณในการบำรุงชี่ม้ามและไต เพราะในห่วยซัว(山药)มีสารที่ช่วยในการกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร เหมาะกับผู้ที่มีพื้นฐานสุขภาพของร่างกายที่จัดอยู่ในกลุ่มชี่พร่อง โดยเฉพาะชี่ม้ามพร่อง และ เก๋ากี้(枸杞子)ยังช่วยบำรุงไต บำรุงอิน อีกทั้งยังมีโปรตีนจากเนื้อไก่ที่ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อด้วย

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย เป็นภาวะที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อมวลกล้ามเนื้อลดลง จะส่งผลทำให้ความแข็งแรงของร่างกายลดลง สมรรถภาพทางกายลดน้อยลง อาจทำให้มีปัญหาในด้านการทรงตัว  เกิดการบาดเจ็บหรือการหกล้มได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผู้สูงอายุทุกคนควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดูแลรักษาโรคประจำตัวให้อยู่เกณฑ์ที่ดี เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย หรือชะลอการลดลงของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วได้


------------------------

 บทความโดย

แพทย์จีน กฤษฎากรณ์ ศรีสาคร (หมอจีน หลี่ หยุน เฟิง) 
李雲峰  中医师
TCM. Dr. Kritsadakorn Srisakorn (Li Yun Feng)  
คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท 中医脑病针灸康复门诊 (Stroke and Neurological Rehabilitation Clinic)


เอกสารอ้างอิง

1.《中医内科学》十一五
2. วารสารอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คำสำคัญ มวลกล้ามเนื้อ สมรรถภาพทางกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ muscle mass physical performance muscle strength
3. Iron Shirt Chi Kung I
4. https://www.huachiewtcm.com/content/6458/เมนูอาหารจากซันเย่าสมุนไพรบำรุงชี่ม้าม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้