Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 40723 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างหนึ่งก็คือ "อาหาร" ซึ่งอาหารจะช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีพลังงานในการเคลื่อนไหว และอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ และอาหารยังช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ดังนั้น การทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพดี ทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า "อาหาร" ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมบำรุงร่างกายแล้ว อาหารยังช่วยบรรเทารักษาโรคได้อีกด้วย โดยหลักในการรักษาโรค “ควรให้การรักษาทั้งหมด 3 ส่วน และอีก 7 ส่วน จะเน้นที่การบำรุงสุขภาพร่างกายเป็นสำคัญ” ดังนั้น การใช้อาหารเป็นยาเพื่อบำรุงสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ไว้เพื่อจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และปรับให้เหมาะกับตนเอง
หลักในการเลือกทานให้เหมาะสม 4 ด้าน
1. ทานอย่างสมดุล คือ ไม่เลือกทานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรเลือกทานให้หลากหลายและเข้ากัน ในศาสตร์ของการแพทย์แผนจีนจะแบ่งรสชาติของอาหารออกเป็น 5 ประเภท คือ เปรี้ยว ขม หวาน เผ็ด เค็ม
นอกจากนี้ในคัมภีร์โบราณยังกล่าวว่า “ข้าวและธัญพืชใช้บำรุงเป็นหลัก ผักผลไม้และเนื้อสัตว์ใช้เป็นตัวเสริม” ดังนั้นควรเลือกทานอาหารให้หลากหลาย และไม่ทานรสจัดจ้านมากเกินไป จึงจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ครบถ้วนทำให้มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง
2. ต้องควบคุม คือ ไม่ควรทานจนอิ่มเกินไปและไม่ควรปล่อยให้หิวมากจนเกินไป เนื่องจากการปล่อยให้หิวมากเกินไปจะทำให้ร่างกายขาดการหล่อเลี้ยงและบำรุง ซึ่งหากยิ่งขาดการบำรุงมาก ๆ จะทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ถดถอย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ ในทางกลับกันถ้ากินมากจนเกินไปก็จะทำให้ กระเพาะอาหาร และลำไส้รับภาระหนักเกินไป ทำให้มีอาหารตกค้าง หมักหมม ระบบย่อยอาหารไม่ดี ก็จะกระทบต่อการดูดซึมและการลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงการสร้างเลือดและชี่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้อีกเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรทานอาหารอย่างพอเหมาะเพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนอกจากนี้ เราควรทานอาหารให้เหมาะกับในแต่ละช่วงนาฬิกาชีวิตด้วย ตามคำกล่าวที่ว่า “มื้อเช้าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด มื้อกลางวันทานให้อิ่มแต่พอดี มื้อเย็นทานให้น้อย”
3. ถูกสุขลักษณะ คือ ในการป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ เราควรจะเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาด ปรุงสุก สดใหม่ ไม่ควรทานอาหารที่ปรุงค้างคืนหลายวัน หรือขึ้นรา เพราะอาจทำให้เกิดพิษสะสมในร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ แปรปรวน เลือดและชี่ไหลเวียนสับสน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้
4. ทานให้เหมาะแต่ละช่วงเวลา-ฤดูกาล แต่ละบุคคล เนื่องจากในแต่ละช่วงของฤดูกาล การเลือกทานอาหารให้เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ด้วย เช่น ฤดูใบไม้ผลิควรบำรุงตับ ฤดูร้อนควรบำรุงหัวใจ ปลายฤดูร้อนหรือฤดูฝนควรบำรุงม้าม ฤดูใบไม้ร่วงควรบำรุงปอด ฤดูหนาวควรบำรุงไต แต่ตลอดทุกฤดูกาลก็ควรให้ความสำคัญกับกระเพาะอาหารและม้าม นอกจากนี้ เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาจมีอาการเจ็บป่วยที่ต่างกัน ดังนั้น เราจึงต้องเลือกทานอาหารที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
การที่ร่างกายของเราจะมีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาวได้นั้น สิ่งที่สำคัญ คือ อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายจะต้องทำงานอย่างปกติและมีความสมดุล ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับปัญจธาตุ หรือธาตุทั้ง 5 คือ ไม้ ไฟ ดิน ทอง น้ำ และสรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลก รวมถึงฤดูกาล อาหาร อวัยวะภายในร่างกายเราก็ล้วนมีอินหยางและปัญจธาตุเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น
ธาตุไม้ สัมพันธ์กับอวัยวะตับ มีอวัยวะร่วมคือถุงน้ำดี โดยตับจะเปิดทวารที่ดวงตา เพื่อควมคุมเส้นเอ็นและเล็บ ซึ่งตับจะมีหน้าที่กระจายชี่ออกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กักเก็บเลือด และสัมพันธ์กับอารมณ์ ช่วงเวลาที่ควรปกป้องดูแลอวัยวะตับ คือ ช่วงฤดูใบไม้ผลิ
คนธาตุไม้ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเหนื่อยและอ่อนแรงได้ง่าย แต่เวลาทำงานจะมีความมุ่งมั่น หักโหมเกินกำลัง หงุดหงิดง่าย เคร่งเครียด คิดเยอะ ชอบถอนหายใจ นั่งไม่ติดที่ อยู่ไม่สุข มักมีใบหน้าและใบหูแดง ใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ มักมีอาการอ่อนเพลีย หูอื้อ สำหรับคนธาตุไม้ที่เป็นเพศหญิงก็อาจมีปัญหาประจำเดือนมาผิดปกติ มาไม่สม่ำเสมอกัน คนธาตุไม้ต้องให้ความสำคัญกับการปรับชี่ตับให้ไหลเวียนเป็นปกติอยู่เสมอ โดยการควบคุมอารมณ์ไม่ให้หงุดหงิดมากจนเกินไป และคนธาตุไม้ไม่ควรทำงานหนักและหักโหมจนตัวเองเหนื่อย นอกจากนี้ คนธาตุไม้ยังควรดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 1 - 1.5 ลิตรเป็นอย่างต่ำ เพื่อให้น้ำที่ดื่มเข้าไปช่วยล้างพิษตับ ขจัดของเสียออกจากร่างกายได้เป็นปกติ
อาหารสำหรับคนธาตุไม้ ควรเน้นที่ปรับชี่ตับ บำรุงม้าม ระบายร้อน ไล่ชื้น
รสชาติอาหารสำหรับคนธาตุไม้ คือ รสเปรี้ยว เพราะอาหารที่มีรสเปรี้ยวจะเข้าเส้นลมปราณตับ ช่วยบำรุงตับ แต่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ คนธาตุไม้ไม่ควรจะทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวมากจนเกินไปนัก เพราะจะยิ่งทำให้ชี่ตับมากเกินไป ซึ่งเป็นการไปข่มการทำงานของม้ามจนทำให้ระบบย่อยทำงานผิดปกติ ในทางกลับกัน หากทานอาหารที่มีรสหวานเล็กน้อย จะเป็นการช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีกว่า นอกจากนี้ คนธาตุไม้ที่เป็นโรคตับไม่ควรจะทานอาหารที่มีรสเผ็ด ส่วนคนธาตุไม้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเอ็นซึ่งควบคุมโดยตับ ก็ไม่ควรทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัดจนเกินไป เนื่องจากรสเปรี้ยวจะทำให้เส้นเอ็นยิ่งหดตัวลงและอาจทำให้อาการของโรคเป็นเยอะขึ้น
สีหรือรูปลักษณ์ของคนธาตุไม้ เกี่ยวข้องกับตับ ซึ่งจะสัมพันธ์กับสีเขียว ดังนั้น อาหารใด ๆ ที่มีสีเขียว ส่วนใหญ่จะบำรุงตับได้
อาหารที่คนธาตุไม้ควรรับประทาน ได้แก่ ผักใบเขียวต่าง ๆ ดอกกระหล่ำ บล็อกโคลี่ กระหล่ำปลี ผักกาด ปวยเล้ง ผักบุ้ง อะโวคาโด กีวี แอปเปิ้ลเขียว ถั่วเขียว สาหร่าย มะเขือเทศ มะละกอ มะนาว ส้ม มะม่วง บ๊วยดำ ซานจา ทับทิม องุ่น ส้มโอ ลิ้นจี่ น้ำส้มสายชู มะเขือเทศ บวบ ผักกาดก้านขาว กุ๊ยช่าย ใบบัว เก๋ากี๊ น้ำส้มสายชู ลิ้นจี่ เชอร์รี่ มะม่วง ปลาไหล กุ้ง แมงกะพรุน ปู หรือกินตับไก่ ตับหมูที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ก็สามารถบำรุงตับเราได้เช่นกัน
ธาตุไฟ มีความสัมพันธ์กับอวัยวะหัวใจ มีอวัยวะร่วมคือ ลำไส้เล็ก โดยหัวใจจะเปิดทวารที่ลิ้น เพื่อทำหน้าที่ควบคุมหลอดเลือด ควบคุมสติและเสิน ช่วงเวลาที่ควรปกป้องดูแลหัวใจคือ ช่วงฤดูร้อน
คนธาตุไฟ มักเกิดความร้อนง่าย เนื่องจากธาตุไฟมีเอกลักษณ์คือความร้อน และการลอยขึ้นด้านบน ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทยเรา จะมีอากาศที่ร้อนอบอ้าวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงง่ายต่อการกระทบกับร่างกายของคนธาตุไฟ และอวัยวะภายในของคนธาตุไฟ โดยเฉพาะ "หัวใจ" มักจะมีอาการ ร้อนในได้ง่าย ใจร้อน อารมณ์หงุดหงิด แปรปรวน ไม่สงบ หัวใจเต้นเร็ว รูปร่างผอม ผิวแห้ง ดังนั้น ในฤดูร้อนหรือเวลาที่อากาศร้อนมาก ๆ คนธาตุไฟจึงควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลหัวใจเป็นหลัก
อาหารสำหรับคนธาตุไฟ ควรเน้นอาหาร
ที่มีฤทธิในการลดความร้อน ระบายไฟแก้ร้อน
รสชาติอาหารสำหรับคนธาตุไฟ คือ รสขม เพราะอาหารที่มีรสขมจะเข้าเส้นลมปราณหัวใจ ช่วยบำรุงหัวใจ ระบายไฟได้ และอาหารที่มีฤทธิในการลดความร้อน มีรสขมฤทธิเย็น เนื่องจากคนธาตุไฟ มักเกิดความร้อนได้ง่าย ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นมาง่าย ๆ ของคนธาตุไฟก็มักจะไปทำลายน้ำหล่อเลี้ยง เป็นเหตุให้น้ำหล่อเลี้ยงในร่างกายพร่องลง และเมื่อน้ำหล่อเลี้ยงพร่องลงก็จะทำให้ร่างกายร้อนง่ายขึ้นนั่นเอง ดังนั้น คนธาตุไฟจึงควรเพิ่มอาหารที่มีฤทธิเสริมสร้างน้ำหล่อเลี้ยง หรือทำให้ชุ่มชื้นขึ้นด้วย ทั้งนี้ หากมองในมุมของปัญจธาตุ ธาตุไม้ให้กำเนิดธาตุไฟ และในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ก็มีการระบุเอาไว้ว่า หากอวัยวะใดพร่องให้บำรุงอวัยวะธาตุแม่ ดังนั้น หากเราต้องการจะบำรุงหัวใจซึ่งเป็นธาตุไฟ เราสามารถทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวเพื่อให้รสเปรี้ยวช่วยบำรุงธาตุไม้ ให้เกิดการสร้างธาตุไฟ ในกรณีตรงกันข้ามเราควรให้ความสำคัญกับการบำรุงอวัยวะไตด้วย เนื่องจากถ้าอวัยวะไตซึ่งเป็นธาตุน้ำมีความแข็งแรง ก็จะช่วยควบคุมไม่ให้ไฟของหัวใจมีมากจนเกินไป นอกจากนี้ คนธาตุไฟที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ จึงไม่ควรทานอาหารที่มีรสเค็มมากจนเกินไป เพราะรสเค็มจะทำให้เลือดเหนียวและข้น ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดติดขัดได้
สีหรือรูปลักษณ์ของคนธาตุไฟ เกี่ยวข้องกับหัวใจ ซึ่งสัมพันธ์กับสีแดง ดังนั้น อาหารที่มีสีแดงส่วนใหญ่จะบำรุงตับได้
อาหารที่คนธาตุไฟควรรับประทาน ได้แก่ ฟัก มะระ มะเขือเทศ สับปะรด กล้วยหอม ข้าวเหนียว งา น้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากนม ปลา ผักใบเขียว เม็ดบัว ผลไม้ที่มีความชุ่มชื้น หรืออาหารที่มีสีแดง
ธาตุดิน สัมพันธ์กับอวัยวะม้าม มีอวัยวะร่วมคือกระเพาะอาหาร โดยม้ามจะเปิดทวารที่ปาก เพื่อทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ม้ามยังมีหน้าที่ควบคุมกระเพาะอาหารให้ย่อยอาหาร ทั้งยังทำหน้าที่ในการสร้างและควบคุมเลือด และทำหน้าที่นำพลังชี่ไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยช่วงเวลาที่ควรปกป้องดูแลม้ามคือ ช่วงฤดูร้อน
คนธาตุดิน มักจะมีระบบย่อยที่อ่อนแอง่าย และมักจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยง่ายกว่าคนธาตุอื่น ๆ ดังนั้นคนธาตุดินจะต้องระมัดระวังในเรื่องของอาหารการกินเป็นอย่างมาก โดยไม่ควรกินจนอิ่มมากเกินไป หรือกินจุกจิกมากจนเกินที่ร่างกายต้องการเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ของระบบย่อย ในคนธาตุดินจะมีลักษณะร่างกายที่ค่อนข้างใหญ่ หุ่นค่อนข้างอ้วน ท้วม มีใบหน้ากว้าง จมูกโต และมักจะเป็นคนที่คิดมาก หรือชอบคิดเล็กคิดน้อย ชอบอยู่นิ่ง ๆ
อาหารสำหรับคนธาตุดิน ควรเน้นปรับบำรุงม้าม บำรุงชี่ไล่ความชื้น
รสชาติอาหารสำหรับคนธาตุดิน คือ รสหวาน เพราะอาหารที่มีรสหวานจะเข้าเส้นลมปราณม้าม ช่วยบำรุงม้ามและบำรุงระบบย่อย แต่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนคนธาตุดินไม่ควรทานอาหารที่มีรสหวานจัดจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้การทำงานของม้ามผิดปกติจนส่งผลต่อระบบย่อยให้ทำงานผิดปกติได้ นอกจากนี้คนธาตุดินที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบย่อยไม่ควรทานอาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุก อาหารดิบ ๆ สุก ๆ รวมถึงไม่ควรทานน้ำเย็น และที่สำคัญ รสหวานที่บำรุงม้ามนั้นคือรสที่มีความหวานอ่อน ๆ ตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่รสหวานที่ได้มาจากน้ำตาลหรือสารปรุงแต่ง หรือขนมหวานต่าง ๆ การที่คนธาตุดินทานอาหารที่มีรสหวานมากจนเกินไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดสภาวะม้ามชื้นจนอาจจะทำให้เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อย รวมไปถึงระบบเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือด เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว คนธาตุดินที่มีม้ามอ่อนแอหรือระบบย่อยทำงานไม่ดี ไม่ควรทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวมากเกินไป เนื่องจากรสเปรี้ยวจะไปเสริมชี่ตับมากจนเกินไป เกิดการข่มการทำงานของม้ามเอง ทำให้ระบบย่อยจะยิ่งทำงานได้แย่ลง
สีหรือรูปลักษณ์ของคนธาตุดิน เกี่ยวข้องกับม้าม ซึ่งจะสัมพันธ์กับสีเหลือง ดังนั้น อาหารที่มีสีเหลืองตามธรรมชาติจะสามารถบำรุงม้ามได้
อาหารสำหรับคนธาตุดินที่ควรรับประทาน ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวโอ้ต ข้าวโพด รากบัว มันฝรั่ง ลูกเดือย ถั่วเหลือง ฟักทอง น้ำผึ้ง ขิง ข่า เต้าหู้ มะละกอ ซานจา ส้ม เกาลัด ลำไย เม็ดบัว น้ำผึ้ง เปลือกส้ม พุทราจีน ห่วยซัว ข้าวโพด มันฝรั่ง ฟักทอง ถั่วเหลือง กล้วย
ธาตุทอง มีความสัมพันธ์กับอวัยวะปอด มีอวัยวะร่วมคือหัวใจคือลำไส้ใหญ่ ปอดเปิดทวารที่จมูก ควบคุมผิวหนัง มีหน้าที่ควบคุมการหายใจและชี่ทั่วร่างกาย ช่วยหัวใจในการสูบฉีดเลือดและส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ควบคุมระบบหมุนเวียนน้ำในร่างกาย ช่วงเวลาที่ควรปกป้องดูแลปอด คือช่วงฤดูใบไม้ร่วง
คนธาตุทอง มักมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ อาการไอ หอบเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก หายใจสั้น เสียบแหบ น้ำมูกไหล คัดจมูก หรือโรคทางผิวหนังต่าง ๆ จากทฤษฏีปัญจธาตุ ธาตุทองกำเนิดจากธาตุน้ำ ดังนั้น อาหารที่สามารถบำรุงธาตุน้ำหรือไต ได้ ก็จะช่วยบำรุงธาตุทองได้อีกทางหนึ่ง แพทย์แผนจีนกล่าวว่า ปอดเป็นธาตุทอง มักได้ถูกทำร้ายได้ง่ายจาก ความแห้ง ดังนั้น อาหารที่ควรจะเน้นเป็นพิเศษ ก็ได้แก่ อาหารที่มีน้ำ มีความชุ่มชื้น หรืออาหารต่างๆที่มีฤทธิ์ในการระบายร้อนปอด ทำให้ปอดชุ่มชื้น เสริมสารน้ำหล่อเลี้ยง
อาหารสำหรับคนธาตุทองควรเน้นบำรุงชี่ปอด เพิ่มความชุ่มชื้น
รสชาติอาหารสำหรับคนธาตุทอง คือ รสเผ็ด เพราะอาหารที่มีรสเผ็ดจะเข้าเส้นลมปราณปอด ช่วยกระจายชี่ปอด ขับไล่ปัจจัยเสียก่อโรคภายนอกที่มากระทบ และยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและชี่ด้วย แต่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงอากาศมักจะแห้ง โดยทั่วไปปอดจะไม่ชอบความแห้ง ดังนั้นการทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัดมากเกินไป ความเผ็ดร้อนจะทำให้สารน้ำที่หล่อเลี้ยงในร่างกายพร่องลง ทำให้ปอดความชุ่มชื้น สังเกตุได้ว่าบางคนในช่วงนี้จะมีอาการไอแห้งๆ นอกจากนี้การทานรสเผ็ดมากเกินไปจะยิ่งทำให้ปอดประจายชี่มากเกินจนกระทบการทำงานของตับ เลือดที่กักเก็บที่ตับส่งไปเลี้ยงตามเส้นเอ็นและเล็บไม่ดี ทำให้เล็บแห็งเปราะ เส้นเอ็นไม่มีความยึดหยุ่น ใบหน้าหมองคล้ำ ดังนั้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจึงควรทานอาหารที่มีรสหวานเล็กน้อย เพื่อเสริมความชุ่มชื้นให้กับปอด ตามหลักธาตุดินสามารถเสริมธาตุทองได้ ส่วนการทานรสขมมากเกินไปจะไปเสริมธาตุไฟหัวใจ กระทบต่อปอดได้เช่นกัน ซึ่งปอดควบคุมเส้นขนและผิวหนัง เมื่อทานรสขมมากเกินจึงเป็นผลให้ผิวแห้งกระด้าง ขนหลุดร่วงได้ง่าย
สีหรือรูปลักษณ์ของคนธาตุทอง เกี่ยวข้องกับปอด ซึ่งจะสัมพันธ์กับสีขาว ดังนั้น อาหารที่มีสีขาวตามธรรมชาติจะสามารถบำรุงปอดได้
อาหารสำหรับคนธาตุทองที่ควรรับประทาน ได้แก่ อาหารจำพวกเห็ดต่างๆ เห็ดที่มีสีขาว เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนูขาว เนื้อไก่ หัวไชเท้า ฟัก แปะก๊วย รังนก ลูกเดือย รากบัว ผลไม้เช่น สาลี่ แอปเปิ้ล หรือปอดหมูที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ก็สามารถบำรุงปอดได้
ธาตุน้ำ สัมพันธ์กับอวัยวะไต มีอวัยวะร่วมคือกระเพาะปัสสาวะ โดยไตเปิดทวารที่หู ควบคุมกระดูก ไตมีหน้าที่เก็บกังสารจิง(สารจำเป็นในร่างกายที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของมนุษย์ ) ควบคุมสารน้ำในร่างกาย และควบคุมสมดุลอิน-หยางในร่างกาย ช่วงเวลาที่ควรปกป้องดูแลไต คือช่วงฤดูหนาว
คนธาตุน้ำ มักมีอาการมือเท้าเย็น หัวเข่าและเอวกลัวลมเย็น ถ้าเป็นเยอะจะหนาวเย็นทั้งแขนและขา ถ้าไม่ค่อยออกกำลังกายประกอบกับทานของเย็นเยอะ จะยิ่งทำให้พลังปกป้องร่ายกายก็จะอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย ขี้หนาว นอกจากนี้มักมีอาการปวดเมื่อยเอว บวมน้ำ และมักมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต ระบบสืบพันธุ์ ไขข้อกระดูก และสมอง
อาหารสำหรับคนธาตุไต ควรเน้นอบอุ่นไตหยาง ขจัดความเย็น
รสชาติอาหารสำหรับคนธาตุน้ำ คือ รสเค็ม เพราะอาหารที่มีรสเค็ม จะเข้าเส้นลมปราณไตได้ ในทฤษฎีของการแพทย์จีนนั้น อาหารที่มีรสเค็มเล็กน้อยตามธรรมชาติจะสามารบำรุงไตได้ แต่ในขณะเดียวกันอาหารที่มีรสเค็มจัด หรือการทานอาหารรสเค็มบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีผลเสียต่อไตได้เช่นกัน ในฤดูหนาวเป็นช่วงที่ไตทำงานได้ดี แต่ถ้าหากทานรสเค็มมากเกินไปจะยิ่งทำให้ไตทำงานหนัก เลือดไหลเวียนติดขัด นอกจากนี้อาหารที่มีรสเค็มมักจะมีฤทธิ์เย็น ซึ่งในฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นอยู่แล้วจะยิ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อไตหยางได้ง่าย ซึ่งไตหยางเมื่อถูกทำลาย พลังที่จะปกป้องร่ายกายก็จะอ่อนแอลง ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย เป็นหวัด ปวดเอวแบบหนาวเย็น และอาจทำให้แก่ก่อนวัยอันควร จึงควรทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนเล็กน้อย ก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของไตหยางได้ นอกจากนี้ควรหลีกทานอาหารรสหวานมากเกินในคนที่เป็นมีปัญหาเกี่ยวกับไต เนื่องจากรสหวานที่มากเกินจะทำให้ไปเสริมธาตุดินม้ามเยอะเกินไป จนกระทบต่อธาตุน้ำไตได้ ขาดความชุ่มชื้นชื้นไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงส่วนเอว หู เส้นผมและไขกระดูก ทำให้ปวดเมื่อยเอว หูอื้อ ผมร่วง กระดูกเปราะบางได้ง่าย
สีหรือรูปลักษณ์ของคนธาตุน้ำ เกี่ยวข้องกับไต ซึ่งจะสัมพันธ์กับสีดำ ดังนั้น อาหารที่มีสีดำตามธรรมชาติจะสามารถบำรุงไตได้
อาหารสำหรับคนธาตุทองที่ควรรับประทาน ได้แก่ สาหร่ายทะเล สาหร่ายจีไฉ่ เกลือ แมงกะพรุน ปู ปลาทะเล ซีอิ๋ว ถั่ว กุ้ยช่าย กุ้ง สาหร่ายทะเล สาหร่ายจีไฉ่ เซี่ยงจี้ (ไตหมู) ปลิงทะเล เนื้อปลาทะเล ถั่ววอลนัท งาดำ ถั่วดำ เห็ดหูหนูดำ ไก่ดำ ข้าวสีนิล