Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 6027 จำนวนผู้เข้าชม |
ปาจี๋เทียน (巴戟天) คือ รากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morinda officinalis How วงศ์ Rubiaceae
ชื่ออื่น ๆ
ปาจี๋เทียน (จีนกลาง) ปาเก็กเทียน (จีนแต้จิ๋ว) Morinda Root, Morindae Officinalis Radix
ลักษณะภายนอก
รูปทรงกระบอกแบน โค้งงอ ผิวสีเหลืองอมเทา หรือเทาเข้ม มีรอยย่นตามแนวยาวและรอยแตกตามแนวขวาง เปลือกรากอาจปริออกตามแนวขวาง ทำให้เห็นเนื้อข้างใน เนื้อแน่น หน้าตัดส่วนเปลือกหนา สีม่วง แยกจากแก่นได้ง่าย แก่นแข็ง สีน้ำตาลอมเหลือง มีกลิ่นอ่อน ๆ รสหวานและฝาดเล็กน้อย
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลกว่างตง กว่างซี ฝูเจี้ยน และไห่หนาน
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. ปาจี๋เทียน : กำจัดสิ่งแปลกปลอม ทุบให้แบน
2. ปาจี๋โร่ว : นึ่งปาจี๋เทียนที่ล้างน้ำสะอาดให้เนื้อตัวยาอ่อนนุ่ม แยกส่วนแก่นรากออกในขณะที่ร้อน ตัดเป็นท่อน แล้วทำให้แห้ง
3. เอี๋ยนปาจี๋เทียน : นำปาจี๋เทียนมาพรมด้วยน้ำเกลือปริมาณพอเหมาะ (ใช้เกลือ 2 กิโลกรัม ต่อปาจี๋เทียน 100 กิโลกรัม) ทิ้งไว้จนน้ำเกลือถูกดูดซับหมด แล้วนึ่งต่อจนนิ่ม แยกส่วนแก่นรากออกในขณะที่ร้อน ตัดเป็นท่อน แล้วทำให้แห้ง
4. จื้อปาจี๋เทียน : นำปาจี๋เทียนมาต้มในน้ำต้มกันเฉ่า (ใช้กันเฉ่า 6 กิโลกรัม ต่อปาจี๋เทียน 100 กิโลกรัม) แยกส่วนแก่นรากออกในขณะที่ร้อน ตัดเป็นท่อน แล้วทำให้แห้ง
5. จิ่วปาจี๋เทียน : ผสมปาจี๋เทียนกับเหล้าเหลืองให้เข้ากัน (ใช้เหล้าเหลือง 12 กิโลกรัม ต่อปาจี๋เทียน 100 กิโลกรัม) ทิ้งไว้จนเหล้าเหลืองซึมเข้าสู่เนื้อตัวยา ผัดด้วยไฟอ่อนจนแห้ง แล้วทิ้งไว้ให้เย็น
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสหวาน เผ็ด อุ่นเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณไตและตับ
1. ปาจี๋เทียน : เสริมหยางของไต เสริมความแข็งแรงของเอ็นและกระดูก ขจัดลมและความชื้น
2. ปาจี๋โร่ว : ฤทธิ์แรงกว่าปาจี๋เทียน เนื่องจากไม่มีแก่นราก
3. เอี๋ยนปาจี๋เทียน : นำฤทธิ์ยาเข้าสู่ไต ให้ความอบอุ่นแต่ไม่แห้ง
4. จื้อปาจี๋เทียน : เสริมฤทธิ์บำรุงหยางและไต เสริมความแข็งแรงของเอ็นและกระดูก
5. จิ่วปาจี๋เทียน : เสริมฤทธิ์อบอุ่นไต บำรุงหยาง เสริมความแข็งแรงของเส้นเอ็นและกระดูก ขจัดลมและความชื้น
ขนาดและวิธีใช้
ต้มรับประทาน 3-10 กรัม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
-
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
23 เม.ย 2567
19 ก.พ. 2567
24 มี.ค. 2566