การแปรรูปสมุนไพรไทย-สมุนไพรจีน ต่างกันอย่างไร?

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  5840 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การแปรรูปสมุนไพรไทย-สมุนไพรจีน ต่างกันอย่างไร?

การแปรรูปสมุนไพรจีนเรียกว่า “เผาจื้อ” คือกระบวนการเตรียมตัวยาพร้อมใช้ (อิ่นเพี่ยน) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นเทคนิคการเตรียมยาที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของศาสตร์การแพทย์แผนจีน ส่วนการแปรรูปสมุนไพรไทย จะแบ่งตามชื่อเรียกที่แตกต่างกันคือ การประสะ การสะตุ และการฆ่าฤทธิ์
หัวเฉียวศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรจีนแบบครบวงจร
Huachiew Comprehensive Chinese Herbal Medicine Learning Center
 
การแปรรูปสมุนไพรจีน “เผาจื้อ”

วัตถุประสงค์ของการเผาจื้อเพื่อ ลดพิษหรือลดผลข้างเคียงของตัวยา เพื่อปรับเปลี่ยนหรือช่วยให้สรรพคุณและฤทธิ์ของยาสุขุมขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการรักษาของตัวยา เพื่อปรับทิศทางการออกฤทธิ์ของตัวยา เพื่อให้ยาไปออกฤทธิ์ในตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งวิธีการเผ้าจื้อแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การทำความสะอาด การลดขนาด และการเผ้าจื้อด้วยวิธีเฉพาะ

          การทำความสะอาด เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการเผ้าจื้อ เย่าไฉทุกชนิดต้องผ่านการทำความสะอาดก่อนนำมาใช้ ซึ่งวิธีการทำความสะอาดทำได้โดยการ การคัดแยกด้วยมือ การแร่ง การคัดแยกโดยใช้ลม การคัดแยกโดยใช้น้ำ (การล้างด้วยน้ำ การแกว่งในน้ำ การแช่ในน้ำ)
 
         การลดขนาด คือ การนำเย่าไฉที่สะอาดแล้วมาทำให้อ่อนนุ่ม แล้วหั่นให้ได้ตามมาตรฐาน เป็นแผ่นเป็นริ้วเล็ก ๆ เป็นชิ้น หรือเป็นท่อน

         การเผ้าจื้อด้วยวิธีเฉพาะ (炮炙) หมายถึงการเตรียมอิ่นเพี่ยนตามภูมิปัญญา เป็นเทคนิคทางเภสัชกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถจำแนกเป็น การคั่ว การผัด การหมกด้วยความร้อน การสะตุ การนึ่ง การต้ม การลวกด้วยนํ้าเดือด และการตุ๋น ซึ่งการคั่วแบ่งออกเป็น การคั่วแบบธรรมดา (清炒) [การคั่วให้เหลือง (炒黄), การคั่วให้เกรียม (炒焦), การคั่วให้เป็นถ่าน (炒炭)]; การคั่วแบบเติมฝู่เลี่ยว (加辅料炒) ฝู่เลี่ยวที่ใช้ ได้แก่ รำข้าวสาลี ข้าวสาร ดิน ทรายแม่นํ้า ผงหอยกาบ ผงหินลื่น เป็นต้น; การผัดกับฝู่เลี่ยว (炙法) เป็นการผัดตัวยาที่สะอาดและหั่นแล้วกับฝู่เลี่ยวที่เป็นของเหลว สามารถใช้ฝู่เลี่ยวแตกต่างกันหลายชนิด ชนิดของฝู่เลี่ยวที่ใช้ ได้แก่ เหล้า นํ้าส้มสายชู นํ้าเกลือ นํ้าผึ้ง นํ้าขิง นํ้ามัน เป็นต้น; การหมกด้วยความร้อน (煨法) เป็นการห่อตัวยาด้วยแผ่นแป้งบาง ๆ หรือกระดาษชื้น ๆ หรือกระดาษดูดซับนํ้ามัน แล้วให้ความร้อนหรือนำไปผัดกับรำข้าวสาลี ผัดจนกระทั่งตัวยามีลักษณะตามที่ต้องการ; การสะตุ (煅法) ทำโดยใส่ตัวยาที่สะอาดลงไปเผาในเตาไฟที่ไม่มีควันโดยตรง หรือใส่ตัวยาในภาชนะที่ทนความร้อนแล้วค่อยนำไปเผา การสะตุเหมาะกับตัวยาประเภทธาตุวัตถุและตัวยาที่มีลักษณะแข็ง [ได้แก่ การสะตุแบบเปิด (明煅), การสะตุแล้วจุ่มในฝู่เลี่ยวที่เป็นของเหลว (煅淬), และการสะตุแบบปิด (扣锅煅)]; การนึ่ง (蒸法) เป็นการคลุกเคล้าตัวยาที่คัดแยกขนาดแล้วกับนํ้าหรือฝู่เลี่ยวที่เป็นของเหลว นำไปนึ่งด้วยไอนํ้า แล้วตากแดดให้แห้ง หั่นเป็นแผ่นหรือเป็นท่อนตามต้องการ; การต้ม (煮法) ทำโดยต้มตัวยาที่คัดแยกขนาดแล้วกับนํ้าสะอาดหรือฝู่เลี่ยวจนกระทั่งตัวยาสุกทั่ว นำไปหั่นเป็นแผ่น แล้วจึงทำให้แห้งสนิท; การลวกด้วยน้ำเดือด (燀法) ทำโดยต้มนํ้าให้เดือด ใส่ตัวยาลงในภาชนะที่มีรู แล้วหย่อนลงในนํ้าเดือด จนกระทั่งเปลือกของตัวยาประเภทเมล็ดพองตัวและสามารถลอกออกได้ง่าย นำตัวยาขึ้นมาแช่ในนํ้าเย็นเพื่อลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก นำเนื้อในเมล็ดไปตากแห้ง; การตุ๋น (炖法) ทำโดยเติมฝู่เลี่ยวที่เป็นของเหลวลงในตัวยา นำมาตุ๋นในภาชนะที่เหมาะสม มีฝาปิดสนิท ตุ๋นด้วยไอนํ้าหรือฝู่เลี่ยวจนกระทั่งฝู่เลี่ยวซึมเข้าเนื้อตัวยาจนหมด นำไปตากให้แห้ง แล้วหั่นเป็นแผ่น แล้วจึงทำให้แห้ง นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ เช่น วิธีแบบผสมผสาน (复制), การหมัก (发酵), การทำให้งอก (发芽), การทำผงยารูปแบบน้ำค้างแข็ง (制霜), การตกผลึก (提净), การบดกับน้ำโดยวิธีหมุนว่อน (水飞)

การแปรรูปสมุนไพรไทย

         การแปรรูปสมุนไพรไทย ก็มีวัตถุประสงค์คล้ายกับการแปรรูปสมุนไพรจีน คือ เพื่อให้ได้เครื่องยาที่พร้อมใช้ (ตัวยาสะอาด, ลดขนาด ง่ายต่อการเก็บรักษา สะดวกในการปรุงยา) เพื่อให้ได้เครื่องยาที่มีความปลอดภัย (ลดพิษ หรือกำจัดพิษ หรือลดผลข้างเคียงของตัวยา เพื่อให้ได้เครื่องยาที่มีฤทธิ์ตามที่ต้องการ (ช่วยลดฤทธิ์ของตัวยา ช่วยเพิ่มฤทธิ์ของตัวยาให้แรงขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนรสยาและคุณสมบัติของตัวยา ซึ่งขั้นตอนการแปรรูป เป็นดังนี้
 
         การทำความสะอาดตัวยา ประกอบด้วย การคัดแยกสมุนไพร (แยกด้วยมือ การร่อน การฝัด) การทำความสะอาดด้วยน้ำ (การล้างน้ำ การแช่ในน้ำ การเขย่ากับน้ำ การร่อนในน้ำ)

         การลดขนาดตัวยา ได้แก่ การสับหรือหั่นสมุนไพร การทุบ ตำให้แตก หรือบด

         การเตรียมเครื่องยาที่ต้องผ่านกระบวนการเฉพาะ ได้แก่ การประสะ การสะตุ และ การฆ่าฤทธิ์

         การประสะ  มีความหมาย 2 อย่าง คือ ทำให้สะอาด บริสุทธิ์ หรือมีมากขึ้น และการที่ตำรับยามีเครื่องยาเท่ายาอื่นทั้งหมด ซึ่งความหมายของประสะที่เกี่ยวกับการแปรรูป คือ การทำให้พิษของตัวยานั้นลดลง ซึ่งตัวอย่างวิธีการคือ การเอาตัวยา (ยาง หรือชิ้นส่วนของตัวยา) ใส่ในถ้วย ต้มน้ำร้อนให้เดือด ชงลงในยาง ทิ้งไว้ให้เย็นค่อย ๆ รินน้ำทิ้ง แล้วใช้น้ำเดือด ๆ ชงอีกครั้งจนสุก หรือการเอายางใส่ถ้วย ใส่น้ำเย็นลงไปเล็กน้อย ใส่กระทะตั้งไฟ ปิดฝาตุ๋น อย่าให้น้ำในกระทะเข้าไปในถ้วยยาง เมื่อยางสุกจึงนำไปใช้ปรุงยาได้
 
          การสะตุ หมายถึงทำให้ตัวยาแห้งและมีฤทธิ์แรงขึ้น (เช่น การสะตุสารส้ม) หรือทำให้พิษของตัวยาลดลง (เช่น การสะตุยาดำ) หรือทำให้ตัวยาแห้งและปราศจากเชื้อ (เช่น การสะตุดินสอพอง) หรือการทำให้ตัวยานั้นสลายตัวลง (เช่น การสะตุเหล็ก) การสะตุสารส้ม ทำโดยบดสารส้มให้ละเอียด ใส่ในหม้อดินหรือกระทะเหล็ก ตั้งไฟจนสารส้มฟูและมีสีขาว แล้วจึงยกลงจากไฟ การสะตุยาดำ ทำได้โดยใส่ยาดำในกระทะ คั่วจนกรอบ หรือเอายาดำใส่กระทะ บีบน้ำมะกรูดลงไปพอควร ตั้งบนเตาไฟกวนให้แห้ง หรือเอาใบข่าหรือใบบัวห่อยาดำปิ้งไฟ จนใบที่ห่อเหลือง จวนจะไหม้ หรือเอายาดำใส่หม้อดิน เติมน้ำเล็กน้อย ยกขึ้นตั้งไฟจนยาดำกรอบดี แล้วจึงนำมาใช้ การสะตุดินสอพอง ทำได้โดยนำดินสอพองใส่ในหม้อดินเผา ปิดฝา นำขึ้นตั้งไฟจนดินสอพองสุก การสะตุสนิมเหล็ก ทำได้โดยนำสนิมเหล็กมาใส่ในฝาละมีหรือหม้อดิน แล้วใส่น้ำมะนาวให้ท่วม ยกขึ้นตั้งไฟ เคี่ยวจนแห้ง ทำอย่างนี้ซ้ำ ๆ จนเหล็กกรอบดี แล้วจึงนำไปใช้ได้

          การฆ่าฤทธิ์ หมายถึง การทำให้ความเป็นพิษของเครื่องยาบางอย่างลดลงหรือหมดไป มักใช้กับตัวยาที่มีพิษมาก เช่น ลูกสลอด สารหนู ปรอท ชาด หรือใช้กับตัวอย่างที่ไม่มีพิษ เช่น ชะมดเช็ด ซึ่งเป็นการฆ่ากลิ่นฉุนหรือดับกลิ่นคาว ทำให้ชะมดเช็ดมีกลิ่นหอม ตัวอย่างการฆ่าฤทธิ์ เช่น การฆ่าฤทธิ์สลอด ทำได้โดยการผ่าเอาเมล็ด บดให้ละเอียด แล้วทอดในน้ำมันมะพร้าวให้เกรียม บางตำราใช้วิธีการคั่วให้เมล็ดสลอดเกรียม หรือการนำผลสลอดปอกเปลือก แล้วต้มกับใบพลูแก ต้มกับใบช้าพลู ต้มกับใบพริกเทศ ต้มกับใบมะขาม ต้มน้ำเกลือ ต้มกับข้าวสาร แล้วต้มกับมูตรโคดำ ตามลำดับ; การฆ่าฤทธิ์ชะมดเช็ด ทำโดยผสมชะมดเช็ดกับหัวหอม หรือผิวมะกรูดที่หั่นเป็นฝอยละเอียด วางบนใบพลู หรือช้อนเงิน นำไปลนไฟเทียนจนชะมดละลายและมีกลิ่นหอม กรองเอาน้ำชะมดเช็ดไปใช้ปรุงยาต่อไป เป็นการทำให้ชะมดเช็ดมีกลิ่นที่ดีขึ้น ไม่ได้หมายถึงการทำลายฤทธิ์ของชะมดเช็ด

          สรุป การแปรรูปสมุนไพรไทย สมุนไพรจีน มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือ มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายกัน เพื่อลดพิษหรือลดผลข้างเคียงของตัวยา และเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการรักษาของตัวยา เป็นต้น กระบวนการแปรรูปจะประกอบด้วย การทำความสะอาดของตัวยาก่อน แล้วทำการแปรรูปด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนและแผนไทย ความรู้การแปรรูปเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างนมนาน ฉะนั้นคนในยุคปัจจุบันควรเรียนรู้ สืบทอด และพัฒนาต่อยอดต่อไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมภูมิปัญญาดังกล่าว
 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้