Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 12790 จำนวนผู้เข้าชม |
ปอด หรือ 肺 เฟ่ย์
เป็นจ้าวแห่งการเกิดและเคลื่อนไหวของลมปราณทั่วร่างกาย รวมทั้งลมปราณที่เกิดจากการหายใจเข้าออกด้วย
ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์
ปอดมี 2 ข้าง ตั้งอยู่ในช่องอกซ้ายขวา เป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่สูงสุดของร่างกาย มีเนื้อสีขาวแบ่งเป็นกลีบ นุ่มเบา มีอากาศอยู่ภายใน แพทย์จีนจางเจี้ยปิน (张介宾) อธิบายลักษณะปอดว่า “โพรงเหมือนรังผึ้ง ด้านล่างไม่มีทวารเปิด สูดเข้าจะพองเต็ม เป่าออกจะแฟบ สูดเข้าและออกทำให้เคลื่อนไหวแยกสิ่งบริสุทธิ์และสกปรกออกจากกัน เปรียบเสมือนหีบลมในร่างกาย”
หน้าที่ทางสรีรวิทยา
ปอดควบคุมลมปราณทั่วร่างกายให้สมดุล ให้ทิศทางของชี่ขึ้นลงเข้าออกสะดวก เกิดจากการหายใจเข้าออก คัมภีร์ซู่เวิ่น อู่จั้งเซิงเฉิง《素问 。五脏生成》กล่าวว่า “ชี่ทั้งหลายล้วนมาจากปอด” ชี่ที่เกิดขึ้นบางส่วนถูกสะสมที่ทรวงอก เรียกว่า จงชี่ (宗气) ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ
ปอดควบคุมการไหลเวียนของน้ำในร่างกาย
หน้าที่ของปอดนั้นมีอธิบายในคัมภีร์ซู่เวิ่น จิงม่ายเปี๋ยลุ่น《素问 。经脉别论》กล่าวว่า “อาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร จิงชี่ที่ได้ถูกม้ามนำไปยังปอด ปอดจะทำให้การไหลเวียนของน้ำสะดวก ลงสู่กระเพาะปัสสาวะ”
ปอดทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของลมปราณ โดยการแผ่กระจายออกข้างนอกลมปราณปอด เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนำส่วนที่เหลือใช้ขับออกจากร่างกายทางลมหายใจและเหงื่อ การไหลเวียนของลมปราณปอด แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- กระจายน้ำไปสู่ผิวหนัง และขับน้ำส่วนเกินออกมาเป็นเหงื่อ
- ไหลเวียนลงสู่ส่วนล่างของร่างกาย นำน้ำส่วนเกินไปที่ไต และขับออกนอกร่างกายทางกระเพาะปัสสาวะ ถ้าผิดปกติจะเกิดอาการน้ำคั่ง เช่น กลุ่มอาการเสมหะและของเหลวคั่ง บวมน้ำ เป็นต้น
ปอดช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือด
ปอดเป็นจ้าวแห่งลมปราณ ควบคุมการไหลเวียนของลมปราณทั่วร่างกาย ลมปราณไหลเวียนจึงช่วยพาให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย แสดงถึงการทำงานสัมพันธ์กันระหว่างเลือดกับลมปราณ หัวใจกับปอด ถ้าลมปราณของปอดพร่อง จะเกิดการไหลเวียนของเลือดติดขัด เช่น แน่นหน้าอก ใจสั่น ลิ้น และริมฝีปากเขียวคล้ำ
ในคัมภีร์ซู่เวิ่น《素问 》คำว่า “เฟ่ย์เฉาไป่ม่าย (肺朝百脉)” หมายถึง หน้าที่ของปอดที่จะช่วยการไหลเวียนของเลือดให้สมบูรณ์ในผู้ป่วยโรคปอดที่มีอาการไอเรื้อรัง หน้าที่ของปอดด้านกระจายเก็บลงพร่อง ทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดติดขัด จะพบว่าผู้ป่วยมีสีหน้าหมองคล้ำ ริมฝีปากม่วงคล้ำ เกิดเม็ดสีตกค้าง และมีลักษณะของเลือดคั่งที่ลิ้น
ปอดควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานอยู่ในสมดุล
ปอดมีหน้าที่จัดการการไหลเวียนของน้ำ สารอาหาร จินเยี่ย (津液) และเลือดลม ให้ไปทั่วร่างกายให้สมดุล ในคัมภีร์ซู่เวิ่น หลิงหลันมี่เตี่ยนลุ่น《素问 。灵兰秘典论》กล่าวว่า “ปอดเปรียบเสมือนรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดการบริหาร” โดยควบคุมการหายใจ ทำให้หายใจเข้า-ออกสม่ำเสมอ ควบคุมทิศทางการไหลเวียนของลมปราณ โดยมีทิศทางขึ้น-ลง เข้า-ออกแน่นอน ช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ควบคุมการไหลเวียนน้ำ และรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย
ความสัมพันธ์ระหว่างปอดกับอารมณ์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะรับรู้
ปอดมีความสัมพันธ์กับอารมณ์เศร้าโศก
ความเศร้าโศกเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่น่าพึงพอใจ มีผลกระทบต่อร่างกาย คือ ทำให้ลมปราณพร่องลง จึงมักกระทบกระเทือนปอด เพราะปอดควบคุมลมปราณ ถ้าการทำงานของปอดไม่เต็มสมรรถภาพ ความต้านทานต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่ดีจะลดลง จึงเกิดเป็นอารมณ์เศร้าโศกได้ง่าย
ปอดมีความสัมพันธ์กับการขับของเสียของจมูก
จมูกเป็นหน้าต่างของปอด ปอดจะสร้างน้ำมูกมีลักษณะเหนียวเป็นเมือกหลั่งออกมาให้ความชุ่มชื้นแก่โพรงจมูก ถ้าปอดผิดปกติ ลักษณะของน้ำมูกที่ไหลออกมาจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ถ้าได้รับลมเย็นมากระทบน้ำมูกจะมีลักษณะใส ถ้าถูกลมร้อนกระทบน้ำมูกจะมีสีเหลืองและมีลักษณะข้น เป็นต้น
ปอดมีความสัมพันธ์กับผิวหนังและเส้นขน
ผิวหนังและเส้นขนเป็นเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันอันตรายจากภายนอก ขับเหงื่อ และควบคุมการหายใจ ถ้าปอดทำงานปกติ ผิวหนังจะแข็งแรง มีความต้านทานอันตรายจากภายนอก เส้นขนเงางาม โบราณว่า “ปอดควบคุมดูแลผิวหนังและขน” ถ้าลมปราณปอดอ่อนแอ การไหลเวียนของลมปราณลดลง ทำให้ความต้านทานของผิวหนังลดลง มีสาเหตุของโรคจากภายนอกมารุกราน ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย ผิวหนังและเส้นขนหยาบแห้ง
จมูกเป็นหน้าต่างของปอด
ปอดควบคุมการหายใจ ในขณะที่จมูกเป็นทางผ่านและเป็นส่วนบนสุดของเส้นทางการหายใจ ปอดจึงติดต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยผ่านทางจมูก ถ้ามีสาเหตุของโรคจากภายนอกมารุกรานปอด ทำให้ลมปราณปอดติดขัด มีอาการไอ หอบ ก็มักจะมีอาการผิดปกติของจมูกร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น เป็นต้น ในสมัยโบราณใช้อาการผิดปกติของจมูกเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยโรคปอดด้วย
คุณสมบัติพิเศษของปอด
ปอดเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน
ปอดเป็นอวัยวะที่อ่อนแอ ละเอียดอ่อน ง่ายต่อการกระทบโดยเสียชี่ (邪气) ทั้งหมด โดยเฉพาะความแห้ง ในภาวะที่อากาศหนาวและร้อนปกติ แต่ถ้าอากาศร้อนหรือเย็นผิดปกติ ปอดจะทนไม่ได้ ถ้าปอดถูกกระทบลมเย็นมากเกินไป ชี่ของปอดจะถูกปิดกั้น รูผิวหนังจะปิด เกิดอาการไอ ไม่มีเหงื่อ ถ้าปอดถูกกระทบความร้อนมากเกินไป การกำจัดเสียชี่จะไม่ดี เกิดอาการไอจนเสมหะเป็นเลือดได้
ปอดเป็นอวัยวะตันที่อยู่สูงสุด
ปอดเชื่อมต่อกับหลอดลม ลำคอ และเปิดสู่ภายนอกร่างกายที่จมูก ปอดทำงานหายใจเข้าออก จึงมีโอกาสถูกเสียชี่มากระทบได้ง่าย คัมภีร์ซู่เวิ่น ลิ่วเจี๋ยจั้งเซี่ยงลุ่น《素问 。六节藏象论》กล่าวว่า “ปอดเป็นไท่อินในหยาง เชื่อมโยงกับฤดูในไม้ร่วง” ในฤดูร้อนเสียชี่ที่อยู่ในปอดจะสะสมถึงระดับหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงซึ่งอากาศเย็นลง ฤดูใบไม้ร่วงเป็นธาตุทอง ปอดเป็นธาตุทองเหมือนกัน คุณสมบัติของธาตุทองจะมีทิศทางลงและกำจัดเสียชี่ที่สะสมในฤดูร้อน
ลมปราณ เลือด อินหยางของปอด
ลมปราณของปอด
ให้ความอบอุ่นแก่ปอด มีหน้าที่กระจายชี่ของปอดและมีทิศทางลง รับชี่จากไตผ่านซานเจียวมารวมเป็นจงชี่ (宗气) เป็นจงชี่ที่มาก่อนเกิด อีกด้านหนึ่ง ชี่ของปอดมารวมกับชี่ที่เกิดจากม้าม กระเพาะอาหารมารวมเป็นจงชี่ เป็นจงชี่ส่วนที่มาหลังเกิด ถ้าไตไม่แข็งแรง ชี่ที่มาจากไตไม่เพียงพอ ชี่ของปอดจะพร่องตามได้ ทำให้หายใจหอบ ภาวะนี้เรียกว่า “ไตไม่รับชี่” ถ้าม้ามและกระเพาะอาหารไม่แข็งแรง มีผลกระทบต่อชี่ปอด มีอาการหายใจสั่น ไม่มีแรง เสียงเบาต่ำ ภาวะนี้เรียกว่า ดินไม่เกื้อหนุนทอง
ในระยะแรกของโรคปอดมักจะเป็นโรคแกร่ง เพราะปอดมีลักษณะละเอียดอ่อน บอบบาง อ่อนแอ และไม่ทนทานต่อความร้อนหนาว แต่หากเป็นโรคเรื้อรัง จะทำให้ชี่ของปอดพร่องลงด้วย
เลือดของปอด
มีการกล่าวถึงเลือดของปอดน้อยมาก อาจเป็นเพราะว่า ปอดหนุนการไหลเวียนของเลือดที่เกิดจากหัวใจ ทำให้ปอดไม่มีปัญหาการขาดเลือด เลือดคั่งของปอดไม่มีการกล่าวถึงมากนัก ซึ่งมีผลต่อการหล่อเลี้ยงของเลือดที่ไปเลี้ยงไม่ถึง ทำให้สมรรถภาพของปอดลดลง ส่วนอาการมีเลือดออกนั้นเกิดจากธาตุไฟในปอดหรือในเส้นลมปราณปอด
อินของปอด
อินของปอดเป็นส่วนหนึ่งของอินในร่างกาย อินของปอดเป็นตัวคู่กับหยางของปอด ช่วยยับยั้งไม่ให้หยางของปอดมีมากเกินไป อินของปอดช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด และขจัดสิ่งสกปรกในปอด ช่วยให้ชี่ของปอดมีทิศทางลงล่าง ทำให้การไหลเวียนของชี่มีทิศทางขึ้นบน-ลงล่าง เข้า-ออก หนุนโดยชี่ตับมีทิศทางขึ้นบน ชี่ปอดมีทิศทางลงล่าง ร่วมกับอินของไต เพื่อจับชี่ อินปอด ช่วยให้การขับเหงื่อสมดุล ลดเสียชี่ร้อนที่ผิวหนัง โรคที่เกิดจากอินของปอดมักพบบ่อย
หยางของปอด
ในศาสตร์การแพทย์จีนมีกล่าวถึงน้อยมาก
เอกสารอ้างอิง
ทฤษฎีอวัยวะภายใน "ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น"
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-974-16-0792-1
24 ต.ค. 2566
14 พ.ย. 2566
28 ก.พ. 2567
2 ม.ค. 2568