อาการเจ็บคอยาจีนช่วยได้

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  2091 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาการเจ็บคอยาจีนช่วยได้

เจ็บคอ เป็นอาการที่รู้สึกระคายคอ มักเป็นมากขึ้นเวลากลืนเนื่องจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อลำคอ  พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัยซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะขึ้นกับเชื้อโรคที่เราได้รับเข้ามา ในทางการแพทย์แผนจีนกล่าวว่า คอเป็นส่วนที่ง่ายต่อการกระทบกับปัจจัยก่อโรคภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ความร้อนความเย็น รวมไปถึงเชื้อโรคหรือไวรัส ล้วนส่งผลต่อลำคอของเราเป็นอันดับแรก จึงอยากแนะนำยาจีนที่สามารถนำมาทำเป็นชาดื่มได้ง่ายๆ

1.   พั่งต้าไฮ่ 胖大海 หรือลูกสำรอง

ฤทธิ์ของยา: เย็น รสชาติหวาน เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ: ดับร้อน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ปอดและลำคอ ช่วยให้ชุ่มคอและยังมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ

เหมาะกับกลุ่มอาการเจ็บคอที่เกิดจากหวัดร้อน ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ เสียงแหบ หรืออาจมีอาการท้องผูกร่วมด้วย

วิธีการรับประทาน: พั่งต้าไฮ่ 2-4 เมล็ด นำมาต้มหรือแช่น้ำร้อน

ข้อควรระวัง: พั่งต้าไฮ่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ซึ่งนำความร้อนออกทางอุจจาระและปัสสาวะ ควรดื่มน้ำตามเพื่อช่วยขับความร้อนและป้องกันการขาดน้ำ

2.   หล่อฮังก๊วย罗汉果

ฤทธิ์ของยา: เย็น รสชาติหวาน เข้าสู่เส้นลมปราณปอด และลำไส้ใหญ่

สรรพคุณ: ดับร้อน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ปอดและลำคอ

เหมาะกับกลุ่มอาการเจ็บคอที่เกิดจากปอดร้อน ไอแห้ง ไอกรน

วิธีการรับประทาน: หล่อฮั่งก๊วย 1 ผล (20 กรัม) นำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร

ข้อควรระวัง: เนื่องจากหล่อฮั่งก๊วยมีรสชาติหวาน หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อม้ามและกระเพาะอาหารในแพทย์แผนจีน

3. ม่ายตง 麦冬

ฤทธิ์ของยา: ขมเล็กน้อย รสชาติหวาน ฤทธิ์เย็นเล็กน้อย

สรรพคุณ: เสริมบำรุงอิน ให้ความชุ่มชื้นแก่ปอดทำให้ปอดชุ่มชื้น เสริมสร้างสารน้ำให้กระเพาะอาหาร ลดอาการกระวนกระวาย ทำให้จิตใจสบาย

เหมาะกับกลุ่มอาการเจ็บคอที่เกิดจากปอดแห้ง สารอินพร่อง ไอแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง

วิธีการรับประทาน: ม่ายตง 6 กรัม แช่น้ำร้อน

ข้อควรระวัง: ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดความชื้นและเสมหะได้

4.   จินอิ๋นฮวา 金银花

ฤทธิ์ของยา: มีรสหวาน เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด หัวใจ และกระเพาะอาหาร 

สรรพคุณ: ขจัดความร้อนและขับพิษ กระจายลมร้อน

เหมาะกับกลุ่มอาการเจ็บคอที่เกิดจากหวัดร้อน เสมหะเหลือง น้ำมูกเหลืองข้น หรืออาจมีอาการหลอดลมอักเสบร่วมด้วย

วิธีการรับประทาน: จินอิ๋นฮวา 20 กรัม แช่ในน้ำร้อน

ข้อควรระวัง: ไม่เหมาะกับผู้ที่มีม้ามและกระเพาะอาหารเย็นพร่องจะทำให้ท้องเสียได้

 

หากใครที่มีอาการเจ็บคอ คออักเสบบวมแดง ลองใช้ยาจีนช่วยเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมดื่มน้ำอุณหภูมิห้องอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ

------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ชนกนันท์ ชวชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้