Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 6496 จำนวนผู้เข้าชม |
อาเหว่ย (阿魏) คือ น้ำมันชันที่ได้จากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ferula sinkiangensis K.M. Shen หรือ F. fukanensis K.M. Shen วงศ์ Apiaceae (Umbelliferae)
ชื่ออื่น ๆ อาเหว่ย (จีนกลาง) Chinese Asafoetida, Ferulae Rasina
ลักษณะภายนอก
ก้อนรูปร่างไม่แน่นอน เป็นมัน เนื้อเหมือนขี้ผึ้ง หน้าตัดมีรูเล็กน้อย สีของหน้าตัดที่เพิ่งตัดใหม่ ๆ จะค่อนข้างอ่อน เมื่อวางทิ้งไว้สีจะเข้มขึ้น ผิวเป็นขี้ผึ้งสีเหลืองถึงสีเหลืองอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุนรุนแรงเหมือนกระเทียม มีรสเผ็ด เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกแสบร้อน
แหล่งผลิตที่สำคัญ
ภูมิภาคเอเชียกลาง อิหร่าน และอัฟกานิสถาน
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
กำจัดสิ่งแปลกปลอมออก หั่นเป็นก้อนเล็ก ๆ
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสขม เผ็ด เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ช่วยขับลม ย่อยอาหาร แก้จุกเสียดแน่นท้อง ฆ่าพยาธิ
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
มหาหิงคุ์ (น้ำมันชันของ F. assa-foetida L.) : เป็นเครื่องยาใกล้เคียงกับอาเหว่ย มีรสเฝื่อนร้อนเหม็น ขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้น อืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ แก้โรคเส้นประสาท แก้ปวด แก้ชักกระตุก และใช้ทาแก้ท้องขึ้น ปวดท้องในเด็ก
ขนาดและวิธีใช้ รับประทาน 1-1.5 กรัม ทำเป็นลูกกลอนหรือยาผง ใช้ภายนอกในปริมาณที่เหมาะสม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง และหญิงมีครรภ์
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
23 เม.ย 2567
24 มี.ค. 2566
19 ก.พ. 2567