Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 14383 จำนวนผู้เข้าชม |
กันเจียง (干姜) คือ เหง้าแห้งของพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale (Willd.) Rosc. วงศ์ Zingiberaceae
ชื่ออื่น ๆ ขิงแก่แห้ง (ไทย) , กันเจียง (จีนกลาง) , กังเกีย (จีนแต้จิ๋ว) , Zingiber (Dried Ginger) , Zingiberis Rhizoma
ลักษณะภายนอก
ก้อนแบน มีแขนงรูปนิ้วมือ มีข้อชัดเจน และใบเกล็ดที่ยังหลงเหลือติดอยู่ มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลซื่อชวน (พื้นที่เพาะปลูกที่ดีที่สุดคือ เมืองเฉียนเหวย) กุ้ยโจว กว่างซี เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน ส่านซี เจียงซี หยุนหนาน
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. กันเจียงเพี่ยน : หั่นกันเจียงเป็นชิ้นหรือเป็นแผ่นหนา ทำให้แห้ง
2. เผ้าเจียง : คั่วทรายด้วยไฟแรง แล้วใส่กันเจียงลงไป คั่วต่อจนผิวมีสีน้ำตาลเข้ม ร่อนเอาทรายออก
3. เจียงถ้าน : ผัดกันเจียงในกระทะ ใช้ไฟแรงผัดจนผิวมีสีดำไหม้
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ดร้อน เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหาร ไต หัวใจ และปอด
1. กันเจียงเพี่ยน : มีฤทธิ์อบอุ่นม้าม ปอดและกระเพาะอาหาร ฟื้นฟูหยาง ทะลวงเส้นลมปราณ สลายของเหลวที่คั่งค้างในร่างกาย
2. เผ้าเจียง : รสขม เผ็ด และอุ่น มีคุณสมบัติแห้งและเผ็ดน้อยกว่ากันเจียง จึงมีฤทธิ์อุ่นภายในอ่อนกว่า แต่การออกฤทธิ์จะนานและสุขุมกว่า ใช้บรรเทาอาการปวด บรรเทาอาการท้องเสีย อบอุ่นจงเจียว (ส่วนกลางของร่างกาย) และห้ามเลือด
3. เจียงถ้าน : รสเผ็ดหายไป มีรสขม ฝาด และอุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้ามและตับ มีฤทธิ์อบอุ่นจงเจียว อ่อนกว่าเผ้าเจียง แต่ฤทธิ์ห้ามเลือดจะแรงกว่า
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
มีรสหวาน เผ็ดร้อน มีฤทธิ์ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้บิด และแก้ไอ ขับเสมหะ
ขนาดและวิธีใช้ ต้มรับประทาน 3-10 กรัม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ห้ามใช้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการร้อนในที่เกิดจากอินพร่อง มีความร้อนในเลือดสูง
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
23 เม.ย 2567
19 ก.พ. 2567
24 มี.ค. 2566