Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 12088 จำนวนผู้เข้าชม |
อี้อี่เหริน (薏苡仁) คือ เนื้อในเมล็ดสุกแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coix lacryma-jobi L. var. mayuen (Romen.) Stapf วงศ์ Poaceae (Graminae)
ชื่ออื่น ๆ
ลูกเดือย (ไทย) อี้อี่เหริน (จีนกลาง) อี้อี๋ยิ้ง (จีนแต้จิ๋ว) Coix seed, Coicis Semen
ลักษณะภายนอก
รูปทรงไข่กว้าง หรือทรงกระบอกยาว ผิวสีขาวน้ำนม เกลี้ยงเกลา อาจพบเปลือกเมล็ดสีน้ำตาลอมเหลืองที่หลงเหลืออยู่ ปลายด้านหนึ่งกลมทื่อ อีกด้านค่อนข้างกว้างและมีรอยบุ๋ม มีขั้วเมล็ดเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อน 1 จุด ด้านหลังนูนกลม ด้านท้องมีร่องตามยาวที่กว้างและลึก 1 เส้น เนื้อแข็ง หน้าตัดมีสีขาว กลิ่นอ่อน ๆ รสหวานเล็กน้อย
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลฝูเจี้ยน เหอเป่ย เหลียวหนิง และเจ้อเจียง
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. อี้อี่เหริน : กำจัดสิ่งแปลกปลอมออก
2. ฝูเฉ่าอี้อี่เหริน : อุ่นกระทะให้ร้อน ใส่รำข้าวสาลีลงไปคั่วจนมีควัน (ใช้รำข้าวสาลี 15 กิโลกรัม ต่ออี้อี่เหริน 100 กิโลกรัม) แล้วจึงใส่อี้อี่เหรินลงไปผัดด้วยความเร็วจนเป็นสีเหลืองและพองตัว นำออกจากเตา ใช้ตะแกรงร่อนแยกรำข้าวสาลีออก ทิ้งไว้ให้เย็น
3. เฉ่าอี้อี่เหริน : คั่วอี้อี่เหรินด้วยไฟระดับกลางจนสีเหลือง พองตัวเล็กน้อย
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
รสหวาน จืด มีฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะ ปอด
1. อี้อี่เหริน : ขับปัสสาวะ และความชื้น ระงับปวด ขับหนอง ขับพิษ สลายก้อน
2.ฝูเฉ่าอี้อี่เหริน และ เฉ่าอี้อี่เหริน : มีฤทธิ์สุขุมมากขึ้น บำรุงม้ามและระงับอาการท้องเสียได้ดี
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
รสมันเย็น แก้หลอดลมอักเสบ แก้ปอดอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้น้ำคั่งในปอด นำมาหมักด้วยแอลกอฮอล์ ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ เนื้อในเมล็ด ใช้เป็นอาหารบำรุงกำลังสำหรับคนฟื้นไข้
ขนาดและวิธีใช้ ต้มรับประทาน 9-30 กรัม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
-
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
24 มี.ค. 2566
19 ก.พ. 2567
23 เม.ย 2567