Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 23450 จำนวนผู้เข้าชม |
สารจำเป็น (精 จิง) ชี่ (气) เลือด (血 เซฺวี่ย)
และของเหลวในร่างกาย (津液จินเยี่ย)
มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยเป็นสารประกอบพื้นฐานของร่างกาย ในคัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง《黄帝内经》ได้มีการอธิบายถึงทฤษฎีและหลักการอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแนวคิดทางปรัชญาและทฤษฎีว่าด้วยเรื่องอวัยวะภายใน (脏腑จั้งฝู่)
สารจำเป็น ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย
มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ ร่างกาย และการเปิดทวาร หากการทำงานของอวัยวะภายในปกติ เส้นทางเดินลมปราณ ร่างกาย และการเปิดทวารจึงสามารถผลิตและมีการทำงานของสารจำเป็น ดังนั้นในภาวะปกติการทำงานต้องสัมพันธ์กัน หากในภาวะเกิดโรคสารประกอบพื้นฐานและอวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ ร่างกาย และการเปิดทวารย่อมเกิดผลกระทบกันและกันอย่างแยกกันไม่ออก
สารจำเป็น (精 จิง)
สารจำเป็น หมายถึง สารประกอบชนิดหนึ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของร่างกายและการดำรงชีวิตในที่นี้จะใช้ทับศัพท์ว่า “จิง”
การสร้างสารจำเป็นจิงมีแหล่งกำเนิด 2 แหล่ง ได้แก่
- สารจำเป็นก่อนกำเนิด (先天之精 เซียนเทียนจือจิง) ได้รับการถ่ายทอดจากบิดามารดาเกิดพร้อมกับการกำเนิดชีวิตในครรภ์
- สารจำเป็นหลังกำเนิด (后天之精 โฮ่วเทียนจือจิง) ได้รับจากอาหาร เมื่อรับประทานอาหารร่างกายมีการดูดซึม ม้ามจะเปลี่ยนสารที่ถูกดูดซึมให้เป็นจิงแล้วรวมกับของเหลวในร่างกาย แล้วส่งไปยังอวัยวะภายใน เส้นลมปราณ ร่างกาย และทวารทั้งหลาย
สารจำเป็นนั้นถือเอาสารจำเป็นก่อนกำเนิดเป็นพื้นฐาน มีการสร้างสารจำเป็นหลังกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการเติมเสริมกันสารจำเป็นในร่างกายจึงสมบูรณ์ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเกิดภาวะสารจำเป็นพร่อง
การเก็บกักและการขับสารจำเป็น
- การกักเก็บสารจำเป็นจิงนั้นจะถูกแบ่งไปเก็บยังอวัยวะภายในทั้งหลาย แต่แหล่งสำคัญที่สุดสำหรับการกักเก็บจิง คือไต โดยจิงก่อนกำเนิดนั้นเริ่มแรกถูกกักเก็บที่ไตแต่มีการแบ่งบางส่วนไปยังอวัยวะภายในอื่น เพื่อการเจริญเติบในระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา
ส่วนจิงหลังกำเนิดนั้น เกิดจากสารอาหารที่ถูกกระเพาะอาหารและม้ามย่อยอย่างละเอียด ถูกลำเลียงไปยังอวัยวะภายในต่าง ๆ โดยชี่ของม้ามกลายเป็นจิงของอวัยวะภายใน เพื่อการทำงานของอวัยวะภายใน ส่วนจิงที่เหลือใช้นั้นจะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ที่ไต จิงก่อนกำเนิดจะถูกเติมเต็มด้วยจิงหลังกำเนิดอยู่เสมอ
การขับสารจำเป็น
การขับสารจำเป็นมี 2 ทาง ได้แก่
- จิงที่ขับไปยังอวัยวะภายในเพื่อหล่อเลี้ยง ขับดัน และควบคุมการทำหน้าที่ของอวัยวะภายในนั้น ๆ
- จิงที่คัดหลั่งเพื่อการขยายพันธุ์ในหญิงและชาย
หน้าที่ของสารจำเป็น
- ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย
การเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย มีความสัมพันธ์กับปริมาณของสารจำเป็นในไต ในวัยเด็กสารจำเป็นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ร่างกายเติบโตมีพัฒนาการตามลำดับ เช่น มีฟันน้ำนม ฟันน้ำนมหลุดล่วง มีฟันแท้แทนที่ เข้าสู่วัยรุ่นสารจำเป็นสมบูรณ์เต็มที่กล้ามเนื้อและกระดูกเติบโตแข็งแกร่ง เมื่อล่วงเข้าวัยกลางคนและวัยชรา สารจำเป็นค่อย ๆ ลดลง ร่างกายค่อยๆ เสื่อมลง กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง กระดูกบาง ฟันล่วง ผมขาวและล่วงบาง ตามัว หูตึง สารจำเป็นมีบทบาทควบคุมการเจริญเติบโต และพัฒนาการของร่างกาย ถ้าสารจำเป็นพร่องลง จะมีผลกระทบทำให้เด็กเติบโตมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ ผู้ใหญ่จะแก่ก่อนวัย
- ควบคุมพัฒนาการทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์
สารจำเป็นของไตที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์ หลังคลอดและวัยเด็ก สารจำเป็นของไตจะค่อย ๆ สมบูรณ์จนถึงวัยรุ่น สารจำเป็นของไตจะเปลี่ยนเป็นเทียนเกฺว่ย (天癸) ซึ่งจะทำให้พัฒนาการทางเพศถึงจุดสูงสุด อวัยวะเติบโตพัฒนาเต็มที่ ผู้ชายมีการสร้างอสุจิ ผู้หญิงมีประจำเดือน มีความพร้อมในการสืบพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นผ่านเข้าสู่วัยกลางคนและวัยชรา เทียนเกฺว่ยและความสามารถในการสืบพันธุ์จะค่อย ๆ ลดลงจนหมดไป ดังนั้นสารจำเป็นในไตโดยเฉพาะเทียนเกฺว่ยจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์ ความผิดปกติในการเก็บสะสมสารจำเป็นในไต จึงมีผลทำให้พัฒนาการทางเพศผิดปกติ ความสามารถในการสืบพันธุ์ลดถอย
- สามารถเปลี่ยนเป็นเลือดและลมปราณ
สารจำเป็นสามารถเปลี่ยนเป็นเลือดและลมปราณไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้ทำงานเป็นปกติ
- ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค
สารจำเป็นสามารถต่อต้านการรุกรานของโรคจากภายนอก และขจัดสาเหตุของโรค
ชี่ (气ลมปราณ)
ชี่ เป็นสสารที่เล็กที่สุดในร่างกาย มีการเคลื่อนไหวขึ้นบนลงล่างตลอดเวลา ขับดันและควบคุมการทำงานของร่างกาย เมื่อการเคลื่อนไหวของชี่สิ้นสุด ชีวิตก็สิ้นสุดด้วย
การสร้างชี่
ที่มาของชี่ก่อนกำเนิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ร่างกายสร้างชี่โดยอาศัยจิงก่อนกำเนิด กลายเป็นชี่ก่อนกำเนิด ซึ่งเป็นพื้นฐานของชี่ เรียก เจินชี่ (真气) หรือ เหวียนชี่ (原气) หรือ เหวียนชี่ (元气)
ชี่หลังกำเนิด หลังคลอดร่างกายได้รับชี่เพิ่มเติมจากม้ามและกระเพาะอาหารโดยการดูดซึมจากสารอาหารเปลี่ยนเป็นชี่ และจากปอดที่สูดอากาศที่บริสุทธิ์เข้าสู่ร่างกายเปลี่ยนเป็นชี่ ซึ่งชี่ในร่างกายจะแบ่งเป็น ชี่อิน และ ชี่หยาง โดยในชี่อินนั้นมีความหนาวเย็น จุดเด่นคือทำให้สงบ ลด หรือทำให้เจือจาง ส่วนชี่หยางนั้นมีความอุ่นร้อน จุดเด่นคือกระตุ้น ผลักดัน ทั้งชี่อินและหยางในร่างกายจะทำงานสมดุล สนับสนุนหรือควบคุมการทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างสมดุล
หน้าที่ของชี่
กระตุ้นและควบคุมการทำงานในร่างกาย
ชี่หยางกระตุ้น ขับดัน และส่งเสริม ดังนี้
- ให้ร่างกายเจริญเติบโตและระบบอวัยวะสืบพันธุ์สมบูรณ์
- กระตุ้นและขับดันการทำงานของระบบอวัยวะภายในและลมปราณ
- กระตุ้นและขับดันการสร้างและการลำเลียงจิง เลือด และของเหลวในร่างกาย
ชี่อิน ชะลอ และควบคุมการทำงาน ดังนี้
- ควบคุมและลดการเจริญเติมโตของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ให้มีการเจริญเติบโตหรือ
การทำงานมากเกินไป
- ควบคุมและช่วยลดการทำงานของระบบอวัยวะภายในไม่ให้ทำงานมากเกินไป
- ควบคุมและลดการสร้างและการลำเลียงของจิง เลือด และของเหลวในร่างกายไม่ให้
มากเกินไป
การทำงานทุก ๆ ด้านของร่างกายต้องอาศัยชี่ ทั้งชี่หยางและชี่อินควรอยู่ในระดับที่พอเหมาะสมดุลกัน เพื่อไม่ให้มีการทำงานที่มากหรือน้อยเกินไป
ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย
ชี่หยางให้ความร้อนและความอบอุ่นแก่ร่างกาย อวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ และสลายความเย็น ชี่อินให้ความเย็นแก่ร่างกาย อวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ และลดความร้อนในร่างกาย ความร้อนและความเย็นในร่างกายต้องอาศัยชี่ ชี่หยางและอินอยู่ในระดับสมดุล ต่างควบคุมกันและกัน ทำให้สภาพร่างกายอยู่ในระดับความร้อนและความเย็นที่พอเหมาะ ให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข
ปกป้องรักษาร่างกาย
ชี่ปกป้องรักษาร่างกายโดยป้องกันการรุกรานจากสาเหตุและโรคจากภายนอกร่างกายและต่อสู้ขับไล่สาเหตุของโรค ถ้าชี่ในร่างกายลดลงจะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้ป่วยง่าย
เหนี่ยวรั้งและควบคุมการทำงานของร่างกาย
- ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือด ถ้าชี่พร่องจะมีอาการเลือดออกง่าย ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำในกระเพาะอาหารและลำไส้ ในกรณีชี่พร่องอาจเกิดปัญหาเหงื่อออกมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาเจียนเป็นน้ำใส ท้องร่วงหรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น
- ชี่ควบคุมการหลั่งอสุจิ หากชี่พร่องอาจเกิดปัญหาการหลั่งเร็ว ฝันเปียก หลั่งอสุจิโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น
- ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมต่ำแหน่งอวัยวะภายในไม่ให้หย่อน ถ้าชี่พร่อง อาจเกิดปัญหา
รูทวารหย่อน ไตหย่อน กระเพาะอาหารหย่อน เป็นต้น
ประสานการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
อวัยวะภายในร่างกายแต่ละอวัยวะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน การจะทำงานประสานกันระหว่างอวัยวะ และการรับรู้ข่าวสารระหว่างอวัยวะต้องอาศัยชี่ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลง และเข้าออกตลอดเวลาเป็นตัวนำสาร
ควมคุมการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกาย
ชี่ควบคุมการย่อยอาหาร ดูดซึมเพื่อนำสารอาหารไปสร้างเป็นวัตถุพื้นฐานของร่างกาย ได้แก่ จิง ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย เพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย หากเกิดความผิดปกติจะทำให้กระบวนการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกายหยุดชะงัก
การเคลื่อนไหวของชี่
การเคลื่อนไหลของชี่ เรียก ชี่จี (气机) ชี่ในร่างกายมีการไหลเวียนตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานเป็นปกติ การไหลเวียนของชี่มี 4 ทิศทาง ได้แก่ จากล่างขึ้นบน จากบนลงล่าง จากในออกนอก และจากนอกเข้าใน
ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของชี่ มีดังนี้
- ชี่ไหลเวียนผิดปกติ เรียก ชี่จีสือเถียว (气机失调)
- ชี่ติดขัดเฉพาะที่ เรียก ชี่จื้อ (气滞)
- ชี่สวนทางลอยขึ้น หรือ ชี่ย้อนกลับ เรียก ชี่นี่ (气逆)
- ชี่จมลงข้างล่าง เรียก ชี่เซี่ยน (气陷)
- ชี่เคลื่อนออกนอกเกินไป เรียก ชี่ทัว (气脱)
- ชี่เคลื่อนเข้านมากเกินไป เรียก ชี่ปี้ (气闭)
ชนิดของชี่
เหวียนชี่ (元气, 原气) หรือเจินชี่ (真气)
เหวียนชี่เป็นชี่พื้นฐานและสำคัญที่สุดของร่างกาย เป็นพลังแรกเริ่มของร่างกายและชีวิต
การสร้างเหวียนชี่สร้างจากจิงก่อนกำเนิดเป็นสำคัญ แต่หลังคลอดต้องอาศัยจิงหลังกำเนิดที่เกิดจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหารเติมเต็มเหวียนชี่ ดังนั้นความสมบูรณ์ของเหวียนชี่นอกจากอาศัยจิงก่อนกำเนิดแล้วยังต้องอาศัยความสมบูรณ์ของม้าม กระเพาะอาหาร และโภชนาการด้วย
การไหลเวียน
การไหลเวียนของเหวียนชี่เมื่อสร้างจากจิงก่อนกำเนิดเริ่มที่จุดมิ่งเหมิน (命门) ผ่านซานเจียวไปยังทุกส่วนของร่างกาย
การทำงาน
- กระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย เหวียนชี่กระตุ้นให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตตั้งแต่เกิด เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก็กระตุ้นระบบการสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ เหวียนชี่จะลดลงเมื่อถึงวัยสูงอายุเป็นผลให้ร่างกายเริ่มเกิดการเสื่อมและอ่อนแอลง
- ควบคุมการทำงานของระบบในร่างกายอยู่ในสมดุล เช่น ควบคุมร่างกายไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
จงชี่ (宗气)
การสร้างจงชี่เกิดจาก 2 แหล่ง ได้แก่
- สร้างจากม้ามและกระเพาะอาหาร จากการย่อยและดูดซึมสารอาหาร
- ได้จากปอดสูดอากาศที่บริสุทธิ์ จากทั้งสองแหล่งรวมเป็นจงชี่
การไหลเวียนของจงชี่
จงชี่เริ่มจากจุดถันจง (膻中) ตรงกลางอก ส่งไปปอดแล้วขึ้นไปลำคอกระตุ้นการหายใจ อีกส่วนไปยังหัวใจและซานเจียวเพื่อส่งไปทั่วร่างกาย โดยไปทางหัวใจจะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทางซานเจียวจะลงล่างไปยังตันเถียน (丹田) คือ จุดชี่ไห่ (气海:CV6) เสริมเหวียนชี่และจากชี่ไห่ส่งลงขาทางเส้นเท้าเส้าหยางหมิง
การทำงานของจงชี่
- กระตุ้นระบบการหายใจ รวมทั้งการออกเสียง ถ้าจงชี่สมบูรณ์ทำให้การหายใจเต็มอิ่ม ออกเสียงมีพลังก้องกังวาน หากจงชี่อ่อนแอ ทำให้การหายใจแผ่วเบา ออกเสียงออกเบาไร้พลัง
- กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ในโบราณกาลมีการประเมินความสมบูรณ์ของจงชี่โดยดูจากจังหวะการเต้นที่บริเวนซฺวีหลี่ (虚里) ซึ่งอยู่ใต้หัวนมซ้าย
- เสริมเหวียนชี่ เนื่องจากเหวียนชี่เกิดจากจิงก่อนกำเนิดเป็นสำคัญซึ่งมีจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการเสริมจากจงชี่
อิ๋งชี่ (营气)
อิ๋งชี่เป็นชี่ที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งจนไม่สามารถแยกจากกันได้ มักเรียกว่า อิ๋งเซฺวี่ย (营血)
อิ๋งชี่เป็นอิน ขณะที่เว่ย์ชี่เป็นหยาง
การสร้างและการไหลเวียน
อิ๋งชี่สร้างจากจิงหลังกำเนิดซึ่งจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหาร เมื่อได้อิ๋งชี่แล้วส่งไปยังเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย
การทำงานของอิ๋งชี่
- อิ๋งชี่อยู่ในเส้นเลือดสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเลือดได้
- อิ๋งชี่ไหลเวียนไปพร้อมเลือด หล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย
เว่ย์ชี่ (卫气)
การสร้างและการไหลเวียน
เว่ย์ชี่สร้างจากจิงหลังกำเนิดซึ่งจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหาร ที่ออกมาอยู่นอกเส้นลมปราณจะกลายเป็นเว่ย์ชี่
การทำงานของเว่ย์ชี่
- เว่ย์ชี่ป้องกันการรุกรานของสาเหตุภายนอกที่มากระทบร่างกาย ช่วยขับไล่สาเหตุของโรค ถ้าเว่ย์ชี่พร่องจะทำให้เจ็บป่วยจากสาเหตุภายนอกได้ง่าย
- เว่ย์ชี่สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ไม่ให้ถูกกระทบจากความหนาวเย็น
- เว่ย์ชี่ช่วยควบคุมการเปิดปิดรูเหงื่อ เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย และรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
เลือด (血 เซฺวี่ย)
เลือด เป็นของเหลวสีแดงที่อยู่ในหลอดเลือด ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ
การสร้างเลือด
เลือดสร้างมาจาก
- สารจำเป็นหลังกำเนิด (后天之精 โฮ่วเทียนจือจิง)
ม้ามและกระเพาะอาหารจะย่อยและดูดซึมอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นอิ๋งชี่ (营气)
และของเหลวในร่างกาย (津液) และส่งไปยังเส้นเลือด ซึ่งทั้งอิ๋งชี่และของเหลวในร่างกายถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเลือด
- สารจำเป็นจากไต
เลือดจึงเกิดจากอิ๋งชี่ ของเหลวในร่างกาย และสารจำเป็นจากไต นอกจากนั้นอวัยวะภายในอื่นล้วนมีบทบาทต่อการสร้างเลือดทั้งสิ้น
- ม้ามและกระเพาะอาหาร ย่อยและดูดซึมสารอาหารเพื่อสร้างอิ๋งชี่และของเหลวในร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเลือด
- หัวใจและปอด สารจำเป็นหลังกำเนิดสร้างอิ๋งชี่และของเหลวในร่างกาย จากนั้นส่งขึ้นไปปอดและหัวใจ รวมกับอากาศบริสุทธิ์ที่สูดจากปอด ชี่จากหัวใจจะเปลี่ยนเป็นเลือดสีแดง
- ไตสะสมสารจำเป็น สารจำเป็นจากไตเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด
การไหลเวียนของเลือด
เส้นเลือดเป็นอวัยวะสำคัญของการไหลเวียนของเลือด ซึ่งต่อออกจากหัวใจแล้วแตกแขนงกระจายไปทั่วร่างกาย
- หัวใจ เป็นจ้าวแห่งเลือด จะสูบฉีดเลือดมาที่ปอด
- ปอด เป็นเจ้าแห่งชี่ จะแผ่กระจายช่วยพาเลือดให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย
- ตับ สะสมรักษาสมดุลของเลือด และช่วยควบคุมให้เลือดไหลเวียนอย่างราบรื่น
- ชี่ของม้าม ควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ภายในเส้นเลือด
ถ้าแรงขับดันจากหัวใจ ปอด และตับไม่เพียงพอ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก เกิดเลือดคั่งได้ ถ้าม้ามอ่อนแออาจทำให้มีอาการเลือดออกง่าย
การทำงานของเลือด
- เลือดอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย การลำเลียงของเลือดไปด้านใน ได้แก่ อวัยวะภายใน
- ด้านนอก ได้แก่ ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูกเส้นเอ็น จะช่วยหล่อเลี้ยงและให้ความชุ่มชื้นทั่วร่างกายอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างปกติ
- เลือดเกี่ยวกับจิตใจ เลือดเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของจิตใจ ถ้าเลือดเพียงพอจะทำให้จิตใจแจ่มใส ถ้าเลือดที่หัวใจและตับพร่อง จะทำให้มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ฝัน ความจำเสื่อม หงุดหงิด กระวนกระวาย หมดสติ
ของเหลวในร่างกาย (津液 จินเยี่ย)
ของเหลวในร่างกาย คือ ของเหลวทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของเหลวในร่างกายแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
- จิน (津) เป็นของเหลวใสไหลไปมา เป็นหยาง ทำหน้าที่แทรกซึมหล่อเลี้ยงผิวหนัง กล้ามเนื้อ ช่องเปิดต่าง ๆ
- เยี่ย (液) เป็นของเหลวเหนียวข้น เป็นอิน ทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อ ไขกระดูก สมอง อวัยวะภายใน
จินและเยี่ย สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นซึ่งกันและกันได้ ถ้าจินลดลงจะทำให้เยี่ยลดลงด้วย ถ้าเยี่ยลดลงก็จะทำให้จินลดลงได้ สมดุลของของเหลวในร่างกาย เกิดจากการทำงานร่วมกันของม้าม ปอด และไต ความผิดปกติของอวัยวะเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการสร้าง การไหลเวียน และการขับถ่ายของเหลว อาจทำให้ของเหลวสร้างไม่เพียงพอ การไหลเวียนติดขัด มีน้ำคั่ง
การสร้างของเหลวในร่างกาย
ของเหลวในร่างกายสร้างจากอาหารและน้ำที่ถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ การทำงานของม้าม กระเพาะอาหาร และลำไส้ จึงมีผลต่อการสร้างของเหลวในร่างกาย
หน้าที่ของของเหลวในร่างกาย
- ให้ความชุ่มชื้นแก่อวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย
- เป็นส่วนประกอบของเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวก ทำให้เลือดไม่ข้น และมีปริมาณ คงที่ ช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้อุณหภูมิคงที่ ช่วยขับของเสียออกนอกร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ
- การไหลเวียนของของเหลวในร่างกาย
การไหลเวียนและขับถ่ายของเหลวในร่างกาย ขึ้นกับการทำงานของม้าม ปอด และไต โดยม้ามจะควบคุมการดูดซึมน้ำจากทางเดินอาหารส่งขึ้นไปที่ปอด ชี่ของปอดแผ่กระจายช่วยพาน้ำไปหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขับน้ำส่วนเกินออกทางลมหายใจและเหงื่อ ชี่ของปอดยังไหลเวียนลงส่วนล่าง พาน้ำส่วนเกินไหลเวียนไปที่ไต ไตช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย โดยน้ำที่ใช้แล้วถูกส่งมาที่ไต ไตแยกน้ำที่ยังมีประโยชน์ส่งกลับไปที่ปอด เพื่อไหลเวียนหล่อเลี้ยงร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ส่วนน้ำเสียที่ไม่มีประโยชน์ถูกส่งมาเก็บที่กระเพาะปัสสาวะ และขับออกมาเป็นปัสสาวะ
ความสัมพันธ์ระหว่างสารจำเป็น ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย
ความสัมพันธ์ระหว่างชี่กับเลือด
ผลของชี่ต่อเลือด
- สร้างเลือด
- ขับดันให้เลือดไหลเวียน
- เหนี่ยวรั้งไม่ให้เลือดไหลออกนอกหลอดเลือด
ผลของเลือดต่อชี่
- เป็นทางลำเลียงให้ชี่ไปที่ต่าง ๆ ได้
- หล่อเลี้ยงอวัยวะภายใน ถ้าไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง อวัยวะภายในก็จะทำงานไม่ได้ ทำให้
ไม่เกิดชี่
ความสัมพันธ์ระหว่างชี่กับของเหลวในร่างกาย
- ชี่สร้างของเหลวในร่างกาย
- ชี่ขับดันของเหลวในร่างกาย ชี่ของม้ามจะแปรสภาพอาหาร และลำเลียงน้ำไปปอด ชี่ของไตแปรสภาพน้ำเป็นไอส่งไปที่ปอดและชี่ของปอดกระจายน้ำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
ชี่เหนี่ยวรั้งของเหลวในร่างกาย
ของเหลวในร่างกายเป็นทางลำเลียงชี่
ความสัมพันธ์ระหว่างเลือดกับของเหลวในร่างกาย
- มีแหล่งกำเนิดจากม้ามเหมือนกัน
- ของเหลวในร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของเลือด เพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ
สามารถซึมกลับมาอยู่ในเส้นเลือด การสูญเสียเลือดและของเหลวในร่างกายจะมีผลกระทบซึ่งกันและกัน
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
อ้างอิงข้อมูล : Basic Traditional Chinese Medinine
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-974-16-0792-1
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
注意 :这份文件的版权和知识产权属于华侨中医院,仅对外宣传和传播科普知识所用。禁止擅自用于任何形式的商业谋利。
Attention : The copyright and intellectual assets are belonged to the Hua Chiew (TCM) Clinic for public knowledge only. It is prohibit to copy for commercial purposes in all cases without permission.
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567