Last updated: 23 ม.ค. 2568 | 60 จำนวนผู้เข้าชม |
หัตถการการนวดทุยหนา หรือท่านวดทุยหนา มีท่านวดทุยหนาพื้นฐานประกอบไปด้วย 24 ท่า ซึ่งแต่ละท่าจะมีความจำเพาะต่อการนวดตามตำแหน่งบนร่างกายและความเหมาะสมของอวัยวะนั้น เช่น ขั้นตอนในการนวดทุยหนารักษาโรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อจะเริ่มจากการใช้หัตถการที่มีน้ำหนักเบาเพื่อเป็นการคลายกล้ามเนื้อและเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อก่อนที่จะรับหัตถการที่มีน้ำหนักที่มากขึ้นในขั้นตอนต่อไปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ เช่น ท่ากลิ้ง ท่านวดคลึง ท่าสั่น
การนวดทุยหนาระงับอาการปวดจะใช้หัตถการที่มีน้ำหนักที่มากขึ้น ในการคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ระงับอาการปวด หลังจากที่ผ่านการคลายกล้ามเนื้อและระงับอาการปวดจนกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ท่ากด ท่าดีด ท่าจิก ท่าหยิบ ท่าบิด ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเคลื่อนไหวข้อต่อเพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่าง ๆ และปรับโครงสร้างให้เข้าที่ เช่น ท่าหมุน ท่าเขย่า และขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังจากการรักษาจะใช้หัตถการที่ผ่อนคลาย เช่น ท่านวดคลึง ท่าทุบ ท่าตี ด้วยน้ำหนักที่เบาเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายหลังจากการนวดทุยหนา ถือเป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการนวดทุยหนา
สรรพคุณของการนวดทุยหนา เป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ เส้นลมปราณเป็นระบบที่เชื่อมโยงทั่วทั้งร่างกายทั้งอวัยวะภายในไปจนถึงผิวภายนอก เป็นทางเดินของชี่และเลือด หน้าที่ของเส้นลมปราณคือ ไหลเวียนชี่และเลือด บำรุงพลังอินหยาง หล่อเลี้ยงเส้นเอ็นและกระดูก ทำให้การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ เมื่อชี่และเลือดทำงานไม่สัมพันธ์กันปัจจัยก่อโรคภายนอกเข้าจู่โจมร่างกายทำให้เส้นลมปราณอุดกั้นไหลเวียนติดขัดเมื่อการไหลเวียนติดขัดจึงก่อให้เกิดอาการปวด หัตถการการนวดทุยหนามีการกระตุ้นจุดฝังเข็มและเส้นลมปราณต่าง ๆ ทำให้สามารถทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือดให้ทำงานสัมพันธ์กัน ขจัดความเย็นระงับอาการปวด บำรุงและจัดเส้นเอ็นให้เข้าที่ หล่อลื่นข้อต่อ ความสมดุลของพลังอินและหยางมีส่วนสำคัญที่ทำให้เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรง ข้อต่อเคลื่อนไหวสะดวก
เอกสารอ้างอิง
ธีรา อารีย์, ถนอมวงศ์ กฤษณ์เพ็ชร์ และระวีวรรณ มงพงษ์, ผลฉับพลันของการนวดทุยหนาที่ใช้ระยะเวลา ต่างกันต่ออาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อจากกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมในพนักงานสำนักงาน (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์การกัฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2567)
-------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส ธีรา อารีย์ ธนวัฒนกุล (หมอจีน หลิน ซี หยวน)
林茜媛 中医师
TCM. Dr. Teera Aree Thanawattanakul (Lin Xi Yuan)
หัวหน้าแผนกกระดูกและทุยหนา
22 ม.ค. 2568
23 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568