Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 8481 จำนวนผู้เข้าชม |
ปั้นเซี่ย (半夏) คือ ลำต้นใต้ดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pinellia ternata (Thunb.) Ten. ex Breitenb. วงศ์ Araceae
ชื่ออื่น ๆ
โหราข้าวโพด (ไทย) ปั้นเซี่ย (จีนกลาง) ปั้วแห่ (จีนแต้จิ๋ว) Pinellia Tuber, Pinelliae Rhizoma
ลักษณะภายนอก
เป็นก้อนกลม ผิวสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ตรงยอดมีรอยบุ๋มที่เกิดจากลำต้น เนื้อแข็ง เป็นเนื้อแป้ง มีกลิ่นอ่อน ๆ รสเผ็ด ทำให้ลิ้นแสบชาและระคายคอ
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลซื่อชวน หยุนหนาน กุ้ยโจว และมณฑลอื่น ๆ ได้แก่ หูเป่ย เหอหนาน อันฮุย ซานตง กันซู่ และเจียงซู
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. เซิงปั้นเซี่ย : นำปั้นเซี่ยมาล้างน้ำให้สะอาด กำจัดรากฝอยและปอกเปลือกออก นำไปตากแห้ง
2. ฝ่าปั้นเซี่ย : แช่ปั้นเซี่ยจนน้ำซึมเข้าเนื้อใน นำมาแช่ต่อในน้ำต้มกันเฉ่า (ใช้กันเฉ่า 15 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม ต้มน้ำสองครั้ง รวมน้ำที่ต้มได้ เติมปูนขาว 10กิโลกรัม คนให้เข้ากัน) คนสม่ำเสมอวันละ 1-2 ครั้ง รักษาค่าความเป็นด่างของน้ำให้สูงกว่า 12 แช่จนหน้าตัดมีสีเหลืองสม่ำเสมอ และเมื่อแตะลิ้นแล้วรู้สึกชาเพียงเล็กน้อย นำออกมาล้างให้สะอาด แล้วทำให้แห้ง
3. เจียงปั้นเซี่ย : แช่ปั้นเซี่ยจนน้ำซึมเข้าเนื้อใน ต้มต่อในน้ำต้มขิง (ใช้ขิงสด 25 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม เติมสารส้ม 12.5 กิโลกรัม) ต้มจนสุกทั่ว นำขึ้นมาผึ่งในที่ร่มจนแห้งหมาด ๆ จากนั้นนำไปทำให้แห้งสนิท หรือหั่นเป็นแผ่นหนา 1-2 มิลลิเมตร ก่อนทำให้แห้งสนิท
4. ชิงปั้นเซี่ย : แช่ปั้นเซี่ยในสารละลายสารส้ม 8% (ใช้สารส้ม 20 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) แช่จนกระทั่งซึมเข้าเนื้อใน และเมื่อแตะลิ้นแล้วรู้สึกชาเล็กน้อย นำออกมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นแผ่นหนา 2-4 มิลลิเมตร ทำให้แห้ง แล้วร่อนเศษผงออก
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ด อุ่น มีพิษ เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหารและปอด
1. เซิงปั้นเซี่ย : แก้ภาวะชื้น ละลายเสมหะ ลดการไหลย้อนของชี่ ระงับอาเจียน สลายก้อนบวม
2. ฝ่าปั้นเซี่ย : มีพิษลดลง สลายเสมหะเย็น ปรับประสานการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร
3. เจียงปั้นเซี่ย : มีพิษลดลง ฤทธิ์ระงับอาเจียนเด่นขึ้น มีสรรพคุณหลักคือ อบอุ่นกระเพาะอาหาร สลายเสมหะ ลดชี่ที่ไหลย้อนระงับอาเจียน
4. ชิงปั้นเซี่ย : มีพิษลดลง ฤทธิ์สลายเสมหะเด่นขึ้น มีสรรพคุณหลักคือ ทำให้แห้ง สลายเสมหะ
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
-
ขนาดและวิธีใช้
ควรใช้ปั้นเซี่ยที่ผ่านการเผาจื้อแล้วและทุบให้แตกก่อนใช้ ต้มรับประทาน 3-9 กรัม กรณียาภายนอก ให้บดเป็นผงผสมกับเหล้า ทาบริเวณที่มีอาการ
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ห้ามใช้ร่วมกับชวนอู (โหราเดือยไก่) จื้อชวนอู เฉ่าอู จื้อเฉ่าอู และฟู่จื่อ
ระมัดระวังการใช้เซิงปั้นเซี่ยเป็นยารับประทาน
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
23 เม.ย 2567
24 มี.ค. 2566
19 ก.พ. 2567