Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1435 จำนวนผู้เข้าชม |
การเผาจื้อแบบโบราณ มี 8 วิธี ดังนี้
1. การหั่นยา
การหั่นยา โดยทั่วไปก่อนการหั่นสมุนไพรจะต้องนำสมุนไพรไปล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำสักครู่ในภาชนะที่มีฝาปิด เพื่อให้สมุนไพรอ่อนนุ่มและทำให้หั่นง่าย ต้องกำหนดปริมาณน้ำและระยะเวลาที่ใช้ในการแช่ให้เหมาะสม และต้องหั่นสมุนไพรให้มีขนาดพอเหมาะ อาจหั่นเป็นแว่น เป็นท่อน เป็นชิ้น หรือซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ
2. การกำจัดสิ่งสกปรก
การกำจัดสิ่งสกปรก ทำโดยนำสมุนไพรมาคัดแยกเอาส่วนที่ไม่ต้องการออก เช่น ตัวยาบางชนิดใช้เฉพาะเนื้อผล ไม่ใช้ส่วนผิว บางชนิดใช้เฉพาะราก ไม่ใช้ลำต้น แล้วนำมาทำความสะอาด หลังจากนั้น จึงนำไปหั่น แปรรูปโดยวิธีพิเศษ จำหน่าย หรือใช้ปรุงยา
3. การผัดยา
การผัดยา ทำโดยนำตัวยาใส่ในภาชนะตั้งบนเตาไฟแล้วผัด โดยมีการกำหนดระดับการผัดตัวยา เช่น ผัดพอให้มีสีเหลือง ผัดให้เกรียม หรืออาจใช้ฝู่เลี่ยวมาผัดร่วมกันก็ได้ เช่น ใช้รำข้าวสาลี หรือเหล้า วิธีการนี้จัดเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้บ่อย
4. การบดยา
การบดยา ทำโดยนำตัวยามาบดด้วยเครื่องบดให้เป็นผงหยาบหรือผงละเอียดเสียก่อน ผงยาที่ถูกบดแล้ว ต้องผ่านแร่งเพื่อคัดแยกความละเอียดให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกัน
5. การโขลกยา
การโขลกยา ทำโดยนำตัวยามาตำให้เข้ากัน หรือให้เหนียว หรือให้แหลกตามที่ต้องการ
6. การต้มยา
การต้มยา ทำโดยต้มตัวยาที่คัดแยกขนาดแล้วกับน้ำสะอาดหรือฝู่เลี่ยวจนกระทั่งตัวยาสุกทั่ว เมื่อหั่นแล้วไม่พบแกนสีขาวที่ตรงกลาง แล้วนำไปตากให้แห้งประมาณร้อยละ 60 หั่นเป็นแผ่น แล้วจึงทำให้แห้งสนิท
7. การนึ่งยา
การนึ่งยา ทำโดยคลุกเคล้าตัวยาที่คัดแยกขนาดแล้วกับน้ำหรือฝู่เลี่ยวที่เป็นของเหลว หมักในภาชนะสำหรับนึ่งที่เหมาะสมจนฝู่เลี่ยวซึมเข้าในเนื้อตัวยาจนทั่ว จากนั้นนึ่งด้วยไอน้ำตามระยะเวลาที่กำหนด เอาออกจากเตา ทิ้งให้แห้งเล็กน้อย แล้วนำกลับไปนึ่งซ้ำอีกครั้ง นำออกมาตากให้แห้งประมาณร้อยละ 60 หั่นเป็นแผ่นหรือเป็นท่อน แล้วจึงทำให้แห้งสนิท โดยทั่วไประยะเวลาที่ใช้ในการนึ่งจะพิจารณาจากลักษณะของตัวยา ระยะเวลาอย่างเร็วคือประมาณ 1-2 ชั่วโมง ระยะเวลาอย่างช้าอาจนานหลายสิบชั่วโมง ตัวยาบางชนิดต้องใช้วิธีนึ่งซ้ำหลายครั้ง
8. การร่อนยา
การร่อนยา ทำโดยนำเอาตัวยาที่บดแล้วมาร่อนด้วยตะแกรงหรือแร่งที่ละเอียดตามต้องการ การร่อนยาอาจใช้เครื่อง หรือร่อนยาด้วยมือก็ได้ตามแต่ปริมาณของงานที่ทำ
การเผาจื้อแบบโบราณแบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
1. ยุคกำเนิดและการก่อตัวของเทคนิคการเผาจื้อ
2. ยุคการสร้างทฤษฎีการเผาจื้อยาสมุนไพร
3. ยุคขยายการประยุกต์ใช้
4. ยุคสังคายนาและพัฒนาการเผาจื้อ
1. ยุคกำเนิดและการก่อตัวของเทคนิคการเผาจื้อ
ยุคกำเนิดและการก่อตัวของเทคนิคการเผาจื้อยาสมุนไพรจีน (ยุคชุนชิว ยุคจั๋นกั๋ว ถึงยุคราชวงศ์ซ่ง)
ก่อนยุคราชวงศ์ฮั่น ตำราโบราณส่วนใหญ่ได้มีการบันทึกวิธีการเผาจื้ออย่างง่าย เช่น ตำรายา 52 ตำรับ《五十二病方》และคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง 《黄帝内经》
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้เริ่มมีการกำหนดวัตถุประสงค์และหลักการของการเผาจื้อ และได้ค้นพบวิธีการเผาจื้อและผลิตภัณฑ์
เผาจื้อจำนวนมาก เช่น คัมภีร์เสินหนงเปิ๋นเฉ่าจิง《神农本草经》ซึ่งได้กล่าวว่า "การใช้ยาสมุนไพรมีเจ็ดประเภท ตัวยา
บางชนิดต้องใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ...หากตัวยามีพิษก็ต้องนำไปเผาจื้อ...";
ในยุคราชวงศ์ใต้กับเหนือ และยุคราชวงศ์หลิวซ่ง มีตำราเล่มแรกที่บันทึกเกี่ยวกับการเผาจื้อโดยเฉพาะ คือ ตำราเหลยกงเผาจื้อลุ่น《雷公炮炙论》
กล่าวโดยสรุป ช่วงก่อนยุคราชวงศ์ซ่ง หลักการและวิธีการเผาจื้อเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และเป็นยุคการก่อตัวของเทคนิคการเผาจื้อ
2. ยุคการสร้างทฤษฎีการเผาจื้อ
ยุคการสร้างทฤษฎีการเผาจื้อยาสมุนไพรจีน (ยุคราชวงศ์จิน ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์หมิง)
ในยุคราชวงศ์จินและราชวงศ์หยวน มีแพทย์ที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายท่าน เช่น จางหยวนซู่ (张元素) จูตันซี (朱丹溪) ท่านเหล่านี้ล้วนให้ความสำคัญกับวิธีการใช้สมุนไพรที่แตกต่างกันของก่อนและหลังการเผาจื้อ และฤทธิ์ของฝู่เลี่ยวที่ใช้ในการเผาจื้อ และได้เริ่มจัดทำข้อสรุปสรรพคุณของสมุนไพรที่ผ่านการเผาจื้อโดยวิธีต่าง ๆ ต่อมาในยุคราชวงศ์ หมิงได้จัดการความรู้ด้านการเผาจื้อให้เป็นระบบ และได้พัฒนาเป็นทฤษฎีการเผาจื้อสืบทอดต่อกันมา ในยุคราขวงศ์หมิงมีตำรายาเปิ๋นเฉ่ากังมู่ 《本草纲目》เขียนโดย หลี่สือเจิน (李时珍) ซึ่งเป็นตำราเภสัชกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน กล่าวถึงสมุนไพร 1,982 ชนิด ในจำนวนนี้มีรายละเอียดการเผาจื้อสมุนไพร (修治) จำนวน 330 ชนิด ในยุคนี้มีแพทย์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งคือ เมี่ยวซียง (缪希雍) ได้บันทึกวิธีการเผาจื้อแบบเหลยกงไว้ในตำราเผาจื้อต้าฝ่า《炮炙大法》ซึ่งเป็นผลงานสืบเนื่องจากตำราเหลยกงเผาจื้อลุ่น《雷公炮炙论》
3. ยุคขยายการประยุกต์ใช้
ยุคขยายการประยุกต์ใช้เทคนิคและรูปแบบที่หลากหลายของการเผาจื้อ (ราชวงศ์ชิง)
ในยุคราชวงศ์ชิง ผลิตภัณฑ์เผาจื้อส่วนใหญ่ถูกเพิ่มเข้ามาโดยอาศัยทฤษฎีพื้นฐานของราชวงศ์หมิง และมีบันทึกพิเศษเกี่ยวกับวิธีการเผาจื้อและฤทธิ์ของยา แต่ยังมีความเข้าใจในการเผาจื้อบางอย่างที่แตกต่างกัน ในยุคนี้มีตำราเปิ๋นเฉ่าซู่《本草述》เขียนโดย หลิวรั่วจิน (刘若金) ตำราซิวซื่อจือหนาน《修事指南》เขียนโดย จางเซินเอี๋ยน (张伸岩) ตำราเปิ๋นเฉ่ากังมู่สืออี้《本草纲目拾遗》เขียนโดย จ้าวสฺวียหมิ่น (赵学敏) เป็นต้น ล้วนบ่งชี้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่ขยายการประยุกต์ใช้เทคนิคและรูปแบบที่หลากหลายของการเผาจื้อยาสมุนไพรจีน
4. ยุคสังคายนาและพัฒนาการเผาจื้อ
ยุคสังคายนาและพัฒนาการเผาจื้อ (ยุคปัจจุบัน)
หลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในด้านการสืบทอดโดยนำประสบการณ์การเผาจื้อที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของแต่ละภูมิภาคมาเรียบเรียง และได้จัดทำข้อกำหนดของการเผาจื้อในแต่ละมณฑล ขณะเดียวกันเภสัชตำรับ (Pharmacopoeia) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้บรรจุเนื้อหาของการเผ้าจื้อ ได้กำหนด “หลักทั่วไปของการเผาจื้อยาสมุนไพรจีน『中药炮制通则』” และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ตำราการเผาจื้ออีกหลายเล่ม เช่น ตำราจงเย่าเผาจื้อจิงเอี้ยนจี๋เฉิง《中药炮制经验集成》" ตำราลี่ไต้จงเย่าเผาจื้อฝ่าหุ้ยเตี่ยน《历代中药炮制法汇典》การเผาจื้อยาสมุนไพรจีนไม่เพียงแต่กลายเป็นหลักสูตรวิชาชีพในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการวิจัยที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติอีกด้วย
24 มี.ค. 2566
23 เม.ย 2567
28 ธ.ค. 2565