Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 7810 จำนวนผู้เข้าชม |
ไป๋โต้วโค่ว (白豆蔻) คือ ผลสุกแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum kravanh Pierre ex Gagnep. หรือ A. compactum Soland ex Maton วงศ์ Zingiberaceae
ชื่ออื่น ๆ
ไป๋โต้วโค่ว (จีนกลาง) แปะเต่าโข่ว (จีนแต้จิ๋ว) Round Cardamon Fruit, Amomi Rotundus Fructus
ลักษณะภายนอก
หยวนโต้วโค่ว (Protogenic Round Cardamon Fruit, A. kravanh) : รูปค่อนข้างกลม ผิวสีขาวอมเหลือง ถึงสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน ๆ ปลายยอดเกสรเพศเมียนูนขึ้นมา ฐานมีรอยก้านผล ด้านบนและล่างมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลอ่อน เปลือกมีน้ำหนักเบา เปราะ สามารถฉีกขาดได้ง่ายตามแนวยาว ภายในแบ่งเป็นสามพู แต่ละพูมีเมล็ดประมาณ 10 เมล็ด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสเผ็ดและเย็นคล้ายการบูร
อิ้นหนีไป๋โค่ว (Indonesian Round Cardamon Fruit, A. compactum) : ขนาดค่อนข้างเล็ก ผิวสีขาวอมเหลืองหรืออาจมีสีน้ำตาลอมม่วง เปลือกเมล็ดบาง เมล็ดบางและกลวง กลิ่นอ่อนมาก
แหล่งผลิตที่สำคัญ
หยวนโต้วโค่ว : ประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม มณฑลหยุนหนาน กว่างตง กว่างซี
อิ้นหนีไป๋โค่ว : ประเทศอินโดนีเซีย มณฑลไห่หนาน หยุนหนาน
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
กำจัดสิ่งแปลกปลอมและก้านผล ร่อนแยกเศษเล็ก ๆ ออก
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ด อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร ขับความชื้น เพิ่มการไหลเวียนของลมปราณ ให้ความอบอุ่นแก่จงเจียวเพื่อระงับอาเจียน ช่วยให้อยากอาหาร และช่วยย่อยอาหาร
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กระวาน (A. kravanh) : มีรสเผ็ดร้อนหอม ขับลม บำรุงธาตุ แก้คลื่นไส้ อาเจียน ขับเสมหะ กระจายเลือดและลมให้ซ่าน
ขนาดและวิธีใช้
ต้มรับประทาน 3-6 กรัม ทุบให้แตกก่อนใช้ เติมไป๋โต้วโค่วหลังจากต้มยาอื่น
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
-
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
19 ก.พ. 2567
23 เม.ย 2567
24 มี.ค. 2566