ชวนซฺยง (川芎) - ข้อมูลสมุนไพรจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  13162 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชวนซฺยง (川芎) - ข้อมูลสมุนไพรจีน

ชวนซฺยง (川芎)  คือ ลำต้นใต้ดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ligusticum chuanxiong Hort. วงศ์ Apiaceae (Umbelliferae)

ชื่ออื่น ๆ  
โกฐหัวบัว (ไทย) ชวนซฺยง (จีนกลาง) ชวนเกียง (จีนแต้จิ๋ว) Szechwan Lovage Rhizome, Chuanxiong Rhizoma

ลักษณะภายนอก  
ก้อนคล้ายกำปั้น ผิวสีน้ำตาลอมเหลือง หยาบและย่น มีวงนูนขึ้นตามแนวขวางจำนวนมาก เนื้อแน่น แตกหักยาก กลิ่นหอมฉุน รสขม เผ็ด หวานเล็กน้อยตามด้วยชาลิ้น


แหล่งผลิตที่สำคัญ
แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่มณฑลซื่อชวน หูเป่ย หูหนาน และเจียงซี

การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1. ชวนซฺยงเพี่ยน : กำจัดสิ่งแปลกปลอม ล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำจนกระทั่งสามารถใช้ปลายเล็บจิกเข้าผิวชั้นนอกได้ นำขึ้นจากน้ำ ใส่ภาชนะปิดฝาทิ้งไว้จนเนื้อข้างในนิ่ม หั่นเป็นแผ่นหนา แล้วทำให้แห้ง

2. จิ่วชวนซฺยง : คลุกเคล้าชวนซฺยงเพี่ยนกับเหล้าเหลือง (ใช้เหล้าเหลือง 10 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) นำไปผัดโดยใช้ไฟอ่อน ๆ จนกระทั่งแห้ง

ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน

มีรสเผ็ด อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และตับ

1. ชวนซฺยงเพี่ยน : มีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ขจัดลมระงับปวด

2. จิ่วชวนซฺยง : การผัดกับเหล้าจะนำฤทธิ์ยาขึ้นส่วนบนหรือศีรษะ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ระงับปวด

ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 
มีกลิ่นหอม รสมัน มีสรรพคุณแก้ลมในกองริดสีดวง และกระจายลมทั้งปวง


ขนาดและวิธีใช้  ต้มรับประทาน ครั้งละ 3-9 กรัม


* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
ชวนซฺยงเป็นยาอุ่นแห้ง ต้องระวังการใช้กับผู้ที่มีภาวะอินพร่องไฟแกร่ง และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ที่มีอาการตกเลือด


เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้