เป็นฝ้าไม่หายสักที? ไขปริศนาฝ้าในมุมมองแพทย์แผนจีนที่คุณไม่เคยรู้

Last updated: 30 ส.ค. 2567  |  850 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เป็นฝ้าไม่หายสักที? ไขปริศนาฝ้าในมุมมองแพทย์แผนจีนที่คุณไม่เคยรู้

          ฝ้า เป็นภาวะที่เซลล์สร้างเม็ดสีใต้ผิวหนังออกมาเยอะเกินไป ทำให้มีเม็ดสีเมลานินมากขึ้น เกิดเป็นปื้นสีเข้มที่บริเวณผิวหนัง มักมีลักษณะที่เข้มกว่าสีผิวจุดอื่น เฉดความเข้มมีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้มจนถึงดำ บริเวณที่มักเกิดฝ้าคือที่ร่างกายโดนแสงแดด (ฝ้าแดด) เช่น ใบหน้า หน้าผาก จมูก เหนือริมฝีปาก โหนกแก้ม และคาง มักเกิดในคนที่อายุ 30  ปีขึ้นไปเกิดได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

เจาะลึกชนิดของฝ้า
          ฝ้าพบบ่อยในผู้หญิงวัยกลางคน ลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาล พบบริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก เหนือริมฝีปากบนและคาง มักเริ่มจากจุดสีน้ำตาลแล้วขยายเป็นปื้น เราสามารถแบ่งชนิดของฝ้าได้เป็น 4 ชนิด



 

1. ฝ้าตื้น  (Dermal type) 

เกิดจากเม็ดสีเมลานินสะสมในชั้นหนังกำพร้ามากผิดปกติ มีสีน้ำตาลเข้มจนไปถึงสีเทาดำ ขอบเขตชัด ฝ้าชนิดนี้ค่อนข้างตอบสนองดีต่อการรักษา เนื่องจากเม็ดสีเมลานินอยู่ไม่ลึกระดับผิวหนังจึงง่ายต่อการกำจัด ปัจจัยกระตุ้นของฝ้าตื้นมักเกิดจากรังสียูวี แสงแดด หลอดไฟ แสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้แสงแดด ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ก็มีผลต่อการเกิดของฝ้าตื้น ฝ้าชนิดนี้มักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 9 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์หรือทานยาคุมกำเนิดอยู่ด้วย จะยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดฝ้าได้มากกว่ากลุ่มคนปกติ

2. ฝ้าลึก (Epidermal type) 

ฝ้าจะเป็นสีน้ำตาลผสมสีเทาเข้ม ขอบเขตไม่ชัด เกิดจากเม็ดสีเมลานินอยู่ในชั้นหนังแท้ มีผลทำให้การรักษาค่อนข้างยาก ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้าลึก แบ่งเป็น 2 ปัจจัย ได้แก่ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

  • ปัจจัยภายนอกร่างกาย 
สาเหตุหลัก คือ แสงแดด ที่ไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์เม็ดสีผิว ทำให้เกิดการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยปกติเซลล์เม็ดสี จะไม่ทำการแบ่งตัว นอกจากการได้รับการกระตุ้นจากแสงแดด ทำให้เซลล์เม็ดสีเมลานิน ทำงานผิดปกติและขยายออกเป็นวงกว้าง เมื่อเซลล์เม็ดสีเมลานินถูกผลิตออกมามากกว่าปกติจึงเกิดเป็นฝ้าได้ ซึ่งในแสงแดดนั้นมีรังสี UVB และ UVA ที่มีช่วงคื่นความถี่ 320-400 nm สามารถทะลวงเข้าสู่ชั้นผิว ทำร้ายผิวได้ถึงชั้นคอลลาเจน อีลาสติน เป็นต้นเหตุให้ใบหน้าหย่อนคล้อย ผิวเหี่ยว และทำให้เกิดฝ้าลึกได้
  • ปัจจัยภายในร่างกาย

ปัจจัยหลักอยู่ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เพศหญิงมีโอกาสเป็นฝ้ามากกว่าผู้ชาย อีกทั้งสภาวะการตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด การรับประทานยาคุมกำเนิด ก็ส่งผลให้เกิดฝ้าลึกได้ เพราะยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากเท่าไหร่ โอกาสเป็นฝ้าลึกก็มีมากขึ้นด้วย

3. ฝ้าผสม (Mix type)

ฝ้าที่มีการผสมกันระหว่างฝ้าลึก และฝ้าตื้นบนใบหน้า

4. ฝ้าที่ไม่สามารถบอกตำแหน่งได้ชัดเจน (indeterminate type)

พบในผู้ป่วยที่มีสีผิวเข้มมาก ทำให้ไม่สามารถแยกได้ ชัดเจนว่าฝ้าเกิดอยู่ในผิวหนังชั้นหนังกำาพร้าหรือหนังแท้

          ฝ้าแดด เกิดจาก การที่ผิวหนังสัมผัสโดนแสงแดดโดยตรง และโดนแสงแดดมาเป็นระยะเวลานาน จึงเกิดการกระตุ้นทำให้เกิดฝ้าได้ง่าย ซึ่งแสงแดดเป็นอันตรายต่อผิว เพราะในแดดมีรังสี UVA และ UVB โดยเฉพาะ  UVA ที่มีความยาวคลื่นมากกว่า จึงทำลายไปถึงผิวชั้นลึกทำให้เกิดเป็นฝ้าแดดได้

          ฝ้าเลือด (Telangiectetic Melama)  เป็นฝ้าที่เกิดจากความผิดปกติของ เส้นเลือดฝอยบริเวณผิวหน้า สาเหตุหลัก ๆ มาจากการใช้เครื่องสำอาง หรือยา ที่มีส่วนผสมของสารเสตียรอยด์ ทำให้เส้นเลือดฝอยแตก เกิดเป็นกระจุกเลือดรวมกันอยู่บริเวณพังผืด ใต้ผิวหนังชั้นลึก

 

ฝ้าในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน

          ฝ้าในการแพทย์แผนจีนเรียกว่า “肝斑” (กานปาน) “蝴蝶斑”(หูเตี๋ยปาน) เกิดจากการทำงานของตับ ม้ามและไตมีปัญหา ทำให้การไหลเวียนของชี่เลือดไม่ดี เกิดเป็นเลือดคั่งที่ผิวหนัง หรือ ชี่และเลือดน้อย ผิวขาดการหล่อเลี้ยง จึงเกิดการมีฝ้า


            ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า ฝ้าเกิดจากความเสียสมดุลของอวัยวะ 3 อวัยวะ ได้แก่ ตับ ม้ามและไต จึงส่งผลทำให้ชี่และเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงใบหน้าได้เพียงพอ โดยสีและลักษณะของฝ้าที่แตกต่างกันสามารถบ่งบอกถึงความเสียสมดุลของอวัยวะภายในร่างกายได้

 



1. ฝ้าประเภทม้ามพร่องเสมหะและความชื้นอุดกั้น (脾虚痰湿型)

  • อาการ : ฝ้าเป็นเทาอ่อน หรือเทาคล้ายฝุ่นติดบนผิวหน้า ใบหน้าเหลืองน้ำตาลอ่อนๆ ขอบเขตของฝ้าไม่ชัดเจน  ไม่มีความอยากอาหาร ท้องอืด ประจำเดือนสีซีด ตกขาวเยอะ อ่อนเพลียทั่วร่างกาย
  • การวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีน : ลิ้นสีซีด ลิ้นใหญ่มีรอยฟัน ชีพจรลอยอ่อน (脉濡  )
  • หลักการรักษา : บำรุงม้ามและเสริมชี่ ขับความชื้น

 


2. ฝ้าประเภทอินของตับและไตพร่อง (肝肾阴虚型)

  • อาการ : ฝ้าเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มออกดำ รูปร่างไม่แน่นอน ลักษณะคล้ายผีเสื้อ มีขอบเขตฝ้าชัดเจน ใบหน้าหมองคล้ำ มักพบบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง หน้าหู และบริเวณขมับทั้งสองข้าง มีอาการเมื่อยเอว เจ็บชายโครง เวียนศีรษะ มีเสียงในหู ร้อนในกระดูก เหงื่อออกกลางคืน
  • การวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีน : ลิ้นแดง ฝ้าเล็กน้อย ชีพจรเล็ก (脉细)
  • หลักการรักษา : บำรุงตับและไต เสริมชี่ บำรุงอิน

 


3. ฝ้าประเภทเลือดคั่งจากชี่ติดขัด (气滞血瘀型)

  • อาการ: ฝ้าสีเทาอ่อนไปจนถึงเทาเข้ม ใบหน้าหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ ผิวแห้ง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดแน่นอึดอัด เป็นๆหายๆ หรืออาจจะปวดจี๊ดแบบเข็มทิ่มตำ ตำแหน่งปวดไม่แน่นอน ถ้าเรอหรือถอนหายใจจะรู้สึกดีขึ้น ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมีลิ่มเลือดร่วมด้วย
  • การวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีน : ลิ้นสีแดงเข้ม ฝ้าลิ้นบางสีขาว ชีพจรฝืด (脉涩)
  • หลักการรักษา: กระตุ้นการไหลเวียนชี่และเลือด สลายเลือดคั่ง

 


4. ฝ้าประเภทชี่ของตับติดขัด (肝郁气滞型)

  • อาการ: ฝ้าสีน้ำตาล ลักษณะของฝ้ามีสีน้ำตาลอาจมีสีเข้มหรืออ่อนก็ได้ ขอบเขตฝ้าชัดเจน มีลักษณะสมมาตรทั้งสองข้างของใบหน้า ลักษณะฝ้าคล้ายรูปแผนที่ มักพบบริเวณรอบ ๆ โหนกแก้มทั้งสองข้าง ผู้ป่วยมักมีอารมณ์โกรธง่าย โมโหง่าย ปวดแน่นทรวงอกหรือชายโครง ปากขม ปากแห้ง ในผู้หญิงอาจพบภาวะประจำเดือนผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือน มีลิ่มเลือด เจ็บคัดหน้าอกร่วมด้วย 
  • การวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีน: ลิ้นแดง ฝ้าบางขาว ชีพจรตึง (脉弦)
  • หลักการรักษา : ระบายตับปรับชี่ให้สมดุล สลายเลือดคั่ง


------------------------

บทความโดย

แพทย์จีนจุฑามาศ ทัศนาวิวัฒน์ (โหยว เหม่ย อิ๋ง)
尤美莹  中医师
TCM. Dr. Juthamard Tatsanavivat
คลินิกดูแลสุขภาพผิวพรรณ สาขาโคราช

 

เอกสารอ้างอิง

          1. ปาริชาติ เชาว์ปฏิภาณ. (2563). ฝ้าปัญหาคาใจ. จาก www.synphaet.co.th/ฝ้า-ปัญหาคาใจ/

          2. จันทร์จิรา สวัสดิพงษ์. (2562). สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. ม.ป.ท.

         3. 吴志明, 杨恩品. 中医美容皮肤科学. 中国中医药出版社, 2015,  12(2020.5 重印) : 62-72.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้