การฝังเข็มกระตุ้นระบบเผาผลาญ (กลุ่มอาการเมตาบอลิก Metabolic Syndrome)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  20986 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มกระตุ้นระบบเผาผลาญ (กลุ่มอาการเมตาบอลิก Metabolic Syndrome)

ระบบเผาผลาญ (Metabolic) ระบบเผาผลาญพลังงาน เป็นระบบที่ทำงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายดำเนินชีวิตอยู่ได้ พลังงานที่เหลือใช้ก็จะสะสมในร่างกาย หากมีมากเกินไปก็มีโอกาสที่จะมีไขมันส่วนเกินเพิ่มขึ้นได้ โดยแต่ละบุคคลมีอัตราการเผาผลาญที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน

ในบางรายแม้จะพยายามลดความอ้วนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ต้องกลับมาคำนึงถึงวิถีชีวิต การเลือกรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และวิธีในการลดความอ้วนว่าถูกต้องตามหลักธรรมชาติของร่างกายหรือไม่  อาหารเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเติบโต พัฒนาการ และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่หากอาหารที่ทานเข้าไปนั้นไม่มีคุณภาพ คุณค่าทางอาหารต่ำ ไม่เกิดประโยชน์อีกทั้งยังมีโทษต่อร่างกาย มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ซึ่งโรคอ้วนสามารถแบ่งได้ดังนี้


อ้วนแบบปฐมภูมิ สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ปริมาณมากเกินไป นอนผิดเวลา ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆตามมาได้

อ้วนแบบทุติยภูมิ คือ โรคอ้วนที่มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือขั้นตอนทางเคมีของร่างกาย โรคบางโรคที่ส่งผลต่อระบบการเผาผลาญ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่  โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศผิดปกติ ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคอ้วน

1.        ดัชนีมวลกาย (BMI = น้ำหนัก(kg) /ความสูง²(m²)


1.  น้ำหนักตัวมากกว่า BMI มาตรฐานเกิน 20% ขึ้นไป

2.  รอบเอวผู้หญิงมากกว่า 80 เซนติเมตร รอบเอวผู้ชายมากกว่า 90 เซนติเมตร ชั้นไขมันมากกว่า 2.5 เซนติเมตร

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคตามหลักการแพทย์แผนจีน

1.        อายุเพิ่มขึ้นร่างกายอ่อนแอ

2.        อาหารไม่สมดุล

3.        ขาดการออกกำลังกาย

4.        ทุนก่อนกำเนิด

กลไกการเกิดโรค พลังงานหยางในร่างกายเสื่อมลง เสมหะชื้นสะสมมากขึ้น ชี่ของม้ามพร่องส่งผลให้การย่อยและดูดซึมสารอาหารแย่ลง สารน้ำต่างๆในร่างกายไม่กระจายออกไป ทำให้คั่งค้างอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย  หรือ ไตหยางพร่อง ไม่มีแรงส่งเลือดไปทั่วร่างกาย เลือดเคลื่อนที่ได้ช้าลง ก่อเกิดเป็นความชื้นสะสม ซึ่งอวัยวะที่เกี่ยวข้องคือ ม้าม ไต หัวใจ ปอด  

เกิดภาวะไม่สมดุล สะสมไขมันมากเกินไปในส่วนต่างๆของร่างกาย ประสิทธิภาพของระบบเผาผลาญลดลง



การวินิจฉัยแยกโรค

" โรคอ้วน กับ ภาวะบวมน้ำ "

อาการบวมน้ำ (Edema)
水腫 ;  (水肿) Shuǐ zhǒng;
水氣(病) 水气 (病) Shuǐ qì (Bìng)



บวมน้ํา มีอาการบวมที่หนังตา ใบหน้า แขน ช่วงทอง หรือบวมทั้งตัว โดยทั่วไปแบ่งตามการดําเนินโรคและภาวะพร่อง หรือมากเกินเป็นบวมน้ําแบบหยางและบวมน้ําแบบอิน

กลไกของโรคเกิดจากพิษภัยจากภายนอกที่ เข้าสู่ร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย อาหาร ทําให้ การขับน้ําติดขัด น้ําจึงคั่งค้างอยู่ภายในร่างกาย และซึมออกสู่ผิวหนัง อาการบวมน้ําทางแพทย์แผนจีนแบ่งเป็นหลายชนิด เช่น "เฟิงสุ่ย" (บวมน้ําจากพิษลม) "ผีสุ่ย" (บวมน้ําจากม้ามและปอดไม่สามารถกระจายน้ําได้ตามปกติ) "สือสุ่ย" (บวมน้ําเนื่องจากตับและไตพร่อง "เจิ้งสุ่ย" (บวมน้ําจากม้ามพร่องหยางกําเริบ) "เซิ่นสุย อี้หยิ่น ผีสุ่ย นอกจากนั้นยังพบในภาวะหัวใจวาย ภาวะมีประจําเดือนและการตั้งครรภ์

อาการบวม สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดขึ้นบริเวณมือ แขน ขา ข้อเท้า และเท้า ผิวหนังกดบุ๋ม หากบวมน้ำในระดับสูงน้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้น แต่เมื่อน้ำหรือน้ำเหลืองที่คั่งค้างลดลง อาการบวมหรือน้ำหนักตัวก็จะลดลงตามไปด้วย



การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการตามหลักการของแพทย์แผนจีน

1. หยางสุ่ย Yang edema 陽水 (阳水) Yáng shuǐ
เป็นชื่อโรค หรือ ชื่อกลุ่มอาการ จัดเป็นหนึ่งในสองกลุ่มของโรคบวมน้ําส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอก  เช่น ลม ความชื้น ความร้อน ความร้อนอบอ้าวกระทบชี่ปอด ทําให้ชี่ปอดขาดการระบาย การไหลเวียนลมปราณของซานเจียวติดขัด จึงไม่สามารถกระจายสารน้ําให้ลงสู่ กระเพาะปัสสาวะได้อย่างปกติ มักพบอาการกลัวหนาว มีไข้ ไอ  เจ็บคอ อาการบวมมักเริ่มที่บริเวณใบหน้าก่อน ปัสสาวะติดขัด สีเข้ม  ท้องผูก ท้องอืดแน่น ลิ้นมีฝ้าเหนียว ชีพจรเร็ว ส่วนใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มอาการร้อน หรือ กลุ่มอาการแกร่ง

2. อินสุ่ย Yin edema 陰水 (阴水) Yīn shuǐ
เป็นชื่อโรค หรือ ชื่อกลุ่มอาการ  จัดเป็นหนึ่งในสองกลุ่มของโรคบวมน้ํา เป็นชื่อเรียกอาการบวมน้ํา เนื่องมาจากม้ามและไตพร่อง ไม่สามารถกระจาย หรือ ควบคุมสารน้ํา อาการบวมมักเริ่มที่บริเวณขาก่อน สีผิวซีดขาว หรือ หมองคล้ํา ปากจืด อุจจาระเหลว ชีพจรจม ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มอาการพร่องเรื้อรัง


3. เฟิงสุ่ยWind edema 風水 (风水) Fēng shuǐ
(บวมน้ําเฉพาะที่) เป็นโรคบวมน้ําชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุจากถูกพิษลมจากภายนอกทําให้เส้นลมปราณหดเกร็ง เลือดและน้ําเกิดการคั่งค้าง อาการสําคัญคือเกิดการบวมน้ําขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างฉับพลัน

4. ผีสุ่ย  Skin edema 皮水 (皮水) Pí shuǐ; 裏水 (里水) Lǐ shuǐ
(บวมน้ําที่ผิวหนัง) เป็นโรคบวมน้ําชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากภัยลมภัยหนาวหรือร้อนชื้นแทรกเข้าร่างกาย ทําให้ปอดไม่สามารถกระจายและพาน้ําลงได้ตามปกติ น้ําเดินได้ไม่สะดวกจึงเกิดการสะสมคั่งค้างขึ้นในร่างกาย มีอาการบวมน้ํา ปัสสาวะน้อย ตรวจพบมีการรั่วของโปรตีนออกมากับปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง

 
5. เจิ้งสุ่ย  Regular edema  正水 (正水) Zhèng shuǐ
(บวมน้ําทั้งตัวร่วมกับอาการหายใจขัด เป็นโรคบวมน้ําชนิดหนึ่งที่เกิดจากพิษลม หรือร้อนชื้นทําอันตรายต่อไตทําให้เกิดอาการบวมน้ํา ปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตสูงที่อาการหนักขึ้นตามลําดับ

 
6. สือสุ่ย  Stony edema 石水 (石水) Shí shuǐ
(บวมน้ําแบบแข็ง) เป็นโรคบวมน้ําชนิดหนึ่งที่เกิดจากไม่สามารถรักษาอาการบวมน้ํา ในระยะแรกให้หายได้ ทําให ้มีอาการบวมน้ําเรื้อรังและเจิ้งชี่อ่อนแอลงตามลําดับ ตรวจพบโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง หน้าซีดขาว

 
ตัวอย่างกรณีการรักษา (Case Study)
ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาฝังเข็มปรับสมดุลระบบเผาผลาญ 

คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน

ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ : นางธิญาดา XXX
HN30XXXX
เพศหญิง อายุ 44 ปี

วันที่เริ่มเข้ารับการรักษา : 2 พฤษภาคม 2562

อาการสำคัญ : ไขมันสะสมที่หน้าท้อง ต้องการปรับสมดุลระบบเผาผลาญ

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน

- สามเดือนก่อนเข้ารับการรักษาที่คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 3 กิโลกรัม
- ณ วันที่รับการรักษา น้ำหนัก 52.25 กิโลกรัม
- ออกกำลังกายเป็นประจำแต่น้ำหนักและสัดส่วนคงที่ มีไขมันหน้าท้องสะสม
- ไม่ควบคุมอาหาร
- นอนไม่หลับ หรือ หลับแล้วหลับไม่สนิท มักจะตื่นกลางดึก
- ขับถ่ายปกติวันละ 1 ครั้ง เป็นก้อนดี

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต : ไม่มี

- ประวัติการแพ้ยาเพนนิซิลิน
- การตรวจร่างกาย ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก

ลักษณะของผู้ป่วยรายนี้สัมพันธ์กับกลุ่มอาการม้ามพร่องไม่ดูดซึมสารอาหาร

การรักษา :  ฝังเข็มตามระบบเส้นลมปราณ กระตุ้นการทำงานของตับ ไต บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ขจัดความชื้น สลายเสมหะ ปรับการไหลเวียนในเส้นลมปราณ โดยเลือกฝังเข็มตามเส้นลมปราณมือและเท้าหยางหมิง และเส้นลมปราณมือไท่อิน

การประเมินผลการรักษาครั้งที่ 1
- ในการรักษาครั้งที่ 1 น้ำหนักลดลง 0.85 กิโลกรัม ไขมันหน้าท้องกระชับขึ้น
- ผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมอาหาร นอนดึก แต่ยังออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
- ระยะเวลาในการรักษาแต่ละครั้งห่างกันเฉลี่ย 2 สัปดาห์

การประเมินผลการรักษาครั้งที่ 2
- ควบคุมน้ำหนักและสัดส่วนได้ดี
- ผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมอาหาร นอนดึก แต่ยังออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
- ปัจจุบันยังคงรักษาต่อเนื่อง

   

ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการเผาผลาญลดลง ได้แก่ การอดนอน การอดอาหาร การลดน้ำหนักแบบผิดธรรมชาติ (การใช้ยาลดความอ้วน) ภาวะอ้วนหลังคลอดบุตร อายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนเพศลดลง (วัยทอง)

แต่ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สามารถลดขนาดของสัดส่วนในร่างกายคงที่ได้ โดยวิธีการฝังเข็มจะช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับการมีสุขภาพที่ดีด้วย คือ กินดี หลับดีตามเวลา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


ในการแพทย์แผนจีน มีทฤษฎีปัจเจกสุขภาพ หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานสุขภาพองค์รวม ที่เกิดจากการหล่อหลอม จากปัจจัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์ ร่วมกับปัจจัยแวดล้อมทั้งมวลหลังถือกำเนิด เกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสุขภาพทั้งร่างกายและจิตที่เฉพาะของแต่ละบุคคล ซึ่งใช้อธิบายความแตกต่างของสุขภาพในแต่ละบุคคล รวมถึงประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการประเมินสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และให้การบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างกันในแต่ละราย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้ด้วย 

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถรักษาได้ รวมถึงการรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษากลุ่มอาการเมตาบอลิกโดยตรง การรักษาด้วยยา จึงมีเป้าหมายที่การรักษาโรค หรือปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของกลุ่มอาการ ได้แก่ ระดับไขมันผิดปกติในเลือด ความดันโลหิตสูง ภาวะดื้ออินซูลินและระดับน้ำตาลสูงในเลือด

คำแนะนำเพื่อให้ผู้ที่ต้องการลดความอ้วนนำไปปฏิบัติเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา

1. กำหนดเป้าหมายน้ำหนักตัวที่ต้องการลด 
น้ำหนักตัวที่ควรลดอย่างเหมาะสม เป็นไปได้และปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ คือ การลดน้ำหนักลงร้อยละ 5 - 10 ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น และคงสภาพไว้ให้ได้นานเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป

วิธีการลดน้ำหนักที่เหมาะสมที่สุด คือ ลดน้ำหนักตัวอย่างช้า ๆ ประมาณ 0.5 - 1.0 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่จะใช้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่

สำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องรักษาน้ำหนักไว้ และเน้นให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนี้
 
2. การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จะช่วยให้คงสภาพน้ำหนักที่ต้องการไว้ได้ในระยะยาว ในการควบคุมน้ำหนักหรือการลดน้ำหนัก มีหลักการง่าย ๆ คือ สมดุลของพลังงาน (energy balance)

สมการสมดุลพลังงาน  เป็นดังนี้

- พลังงานที่ร่างกายรับเข้าไป  =  พลังงานที่ร่างกายใช้ไป --->  น้ำหนักตัวคงที่

- พลังงานที่ร่างกายรับเข้าไป  >  พลังงานที่ร่างกายใช้ไป  ---> น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

- พลังงานที่ร่างกายรับเข้าไป  <  พลังงานที่ร่างกายใช้ไป  --->  น้ำหนักตัวลดลง

การที่พลังงานที่ร่างกายรับเข้าไปมีมากกว่าพลังงานที่ใช้ไปในแต่ละวัน จะทำให้พลังงานส่วนเกินถูกเก็บสะสม และเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา สะโพก รวมทั้งบางส่วนของอวัยวะภายใน เช่น ตับและไต ดังนั้นการทำให้สมดุลของพลังงานเปลี่ยนไป เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลง คือ

1) ลดปริมาณพลังงาน (calorie) ที่ได้รับจากอาหาร ให้ต่ำกว่าความต้องการของพลังงานในแต่ละวัน วิธีนี้จะทำให้น้ำหนักที่ลดลงนอกจากไขมันแล้ว ยังรวมกล้ามเนื้อที่สูญเสียไปด้วย

2) ให้บริโภคอาหารตามปกติ ไม่เพิ่ม หรือ ลด แต่ให้เพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย โดยให้มีการออกกำลังกายให้มากกว่าความต้องการพลังงานในแต่ละวัน วิธีนี้น้ำหนักที่ลดลงจะเป็นส่วนไขมันลด เป็นส่วนใหญ่ กล้ามเนื้อสูญเสียน้อย

3) ใช้วิธีที่ 1 และ 2 ร่วมกัน โดยลดปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน และเพิ่มการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้การควบคุมน้ำหนัก หรือการลดน้ำหนักตัวตามหลักการสมดุลพลังงาน หากต้อง การลดไขมันที่สะสมในร่างกายลง ต้องประกอบด้วย

1) การควบคุมอาหาร 

2) การออกกำลังกาย

ในแต่ละปอนด์ของเนื้อเยื่อไขมัน จะประกอบด้วยไขมันร้อยละ 87 หรือ 395 กรัมของไขมัน และไขมัน 1 กรัม จะให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเท่ากับ 3,555 กิโลแคลอรี่ ต่อเนื้อเยื่อไขมัน 1 ปอนด์ ดังนั้นถ้าต้องการลดน้ำหนักตัว (ไขมัน) 0.45 กก.ต่อสัปดาห์ จำเป็นต้องทำให้ร่างกายได้รับพลังงานน้อยกว่าที่ต้องการประมาณ 3,500 กิโลแคลอรี่ต่อสัปดาห์ (1 กก. = 7,700 กิโลแคลอรี่) หรือลดพลังงานลง 500 – 1,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

2.1 การควบคุมอาหาร

การควบคุมอาหาร เป็นการทำให้เกิดความไม่สมดุลของพลังงาน แต่มีข้อจำกัดที่ต้องคำนึง คือ การลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารอย่างมากในระยะสั้น ๆ จะทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แต่น้ำหนักที่ลดลงไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำหนักของน้ำและคาร์โบไฮเดรตที่สูญเสียไป มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นไขมัน ถ้ามีการควบคุมอาหารในระยะเวลานานขึ้น และสามารถลดน้ำหนักตัวลงได้ ในช่วงนี้ร่างกายจะดึงเอาไขมันออกมาใช้เป็นพลังงานแทน จึงทำให้เป็นการลดน้ำหนักที่เราต้องการ คือ เป็นการลดปริมาณไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีการลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารนั้น ร่างกายจะมีการปรับเปลี่ยนตามกลไกทางธรรมชาติ ในการสงวนพลังงานภายในร่างกาย โดยทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานภายในร่างกายขณะพัก (resting metabolic rate) ลดลง

ดังนั้นจะเห็นว่า ในผู้ที่ลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว น้ำหนักตัวจะลดลงช้าหรือไม่ค่อยลด เมื่อระยะเวลานานขึ้น

2.2 การออกกำลังกาย

ในอดีต มักคิดว่าความอ้วนเกิดจากการกินมาก ต่อมาพบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นนั้น มักพบในผู้ที่ไม่ค่อยมีการออกกำลังกาย มากกว่าการกินมากเพียงอย่างเดียว ดังนั้นในคนที่มีการดำเนินชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่อยู่ได้ และนอกจากนี้ยังพบว่า การลดน้ำหนักตัวโดยการออกกำลังกายแบบต้านแรง ร่วมกับการควบคุมอาหาร จะช่วยทำให้การสูญเสียของกล้ามเนื้อในระหว่างการลดน้ำหนักลดน้อยลงได้ และบ่อยครั้งยังพบว่ากล้ามเนื้อมีปริมาณคงที่หรือเพิ่มขึ้น

 
2.3 แนวทางปฏิบัติในการลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย

1) ในช่วงต้นของการลดน้ำหนัก น้ำหนักตัวจะลดลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสูญเสียน้ำและคาร์โบไฮเดรตที่สะสมในร่างกาย ในระยะหลังน้ำหนักตัวที่ลดลงไปส่วนใหญ่เป็นส่วนของไขมัน ซึ่งจะมีอัตราลดลงของน้ำหนักตัวช้ากว่าช่วงแรก

2) ไม่ควรจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม เมื่อเริ่มโปรแกรมลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้

3) การจำกัดปริมาณอาหารที่ได้รับน้อยกว่าความต้องการของร่างกายอย่างมาก อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาวะจิตใจและเกิดปัญหาด้านสุขภาพได้

4) การลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว จะส่งผลให้มีการลดลงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายร่วมกับการควบคุมอาหารจะช่วยป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อ จึงทำให้น้ำหนักตัวที่ลดลงส่วนใหญ่เกิดจากไขมันที่ถูกใช้ไป

5) ผลของการออกกำลังกายต่อการใช้พลังงานของร่างกาย จะมีลักษณะของการใช้พลังงานแบบสะสมค่อย ๆ เพิ่มขึ้น  ดังนั้น ถ้าออกกำลังกายแบบเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีผลดีต่อน้ำหนักตัว

6) การสูญเสียพลังงานจำนวน 7,700 กิโลแคลอรี่ ไม่ว่าจากการลดอาหารที่รับประทานหรือจากการออกกำลังกายหรือทั้งสองอย่าง จะเท่ากับจำนวนพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญไขมันประมาณ  1 กิโลกรัม

7)  การคำนวณปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหาร และพลังงานที่ร่างกายใช้จริงในแต่ละวัน (รวมกิจวัตรประจำวัน งานอาชีพ การออกกำลังกายถ้ามี ฯลฯ) เพื่อจัดรายการอาหารร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมในการลดน้ำหนักตัว ตัวอย่างเช่น

ถ้าต้องการลดน้ำหนักลง 6 กก. ภายใน 60 วัน จะต้องลดพลังงานลง 7,700 x 6 / 60 = 770 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ซึ่งอาจแบ่งเป็นลดพลังงานจากอาหาร 385 กิโลแคลอรี่ ออกกำลังกายเผาผลาญอีก 385 กิโลแคลอรี่ ถ้าหากเดิมได้รับพลังงานจากอาหาร 2,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เมื่อเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก จะต้องได้รับอาหารเหลือ 2,215 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 60 วัน โดยการจัดสัดส่วนอาหารใหม่ (ซึ่งมีรายละเอียดมากจะไม่กล่าวถึงในที่นี้) และที่เหลือเป็นการออกกำลังกายเผาผลาญอีก 385 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรืออาจใช้วิธีจำกัดปริมาณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยไม่ต้องคำนวณยุ่งยาก

ในคนอ้วนชาย ควรได้รับพลังงานจากอาหาร ลดลงเหลือ 1,200 - 1,600 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และในหญิงอ้วน เหลือเพียง 1,000 - 1,200 กิโลแคลอรี่ต่อวัน (ปกติชาย ได้รับพลังงานจากอาหาร 2,200 - 2,500 และหญิงได้รับ 1,800 - 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ขึ้นอยู่กับอาชีพและกิจกรรมในแต่ละวันของแต่ละคน) ซึ่งทำให้น้ำหนักลดลงได้ดีและอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีโปรแกรมลดน้ำหนักให้ได้รับพลังงาน 800 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด






 
การกำหนดปริมาณอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ในทางปฏิบัติ ตัวของคนอ้วนจะสามารถทำได้เพียงใด เพราะคนอ้วนติดนิสัยในปริมาณ ชนิดและรสชาติของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน จนเคยชินตั้งแต่เด็ก การจะลดหรือเปลี่ยนทันทีทันใด ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติได้ จึงจำเป็นต้องให้เวลาในการเปลี่ยนนิสัย และสร้างนิสัยใหม่ในการเลือกและรับประทานอาหาร เพราะถ้าไม่เปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหารได้ ถึงแม้จะลดน้ำหนักแล้วก็อาจจะกลับมาอ้วนใหม่ได้อีกในเวลาไม่นานนัก

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจึงต้องใช้ความอดทน มีความตั้งใจจริงและความมุ่งมั่นสูง พยายามนึกถึงภาพ ลักษณ์ที่ดูดีและสวยงามหลังลดน้ำหนักได้สำเร็จไว้เสมอๆ เพื่อเป็นกำลังใจที่จะอดทนรักษาต่อไป

แนวทางปฎิบัติในการออกกำลังกาย

1) เริ่มต้นอย่างช้าๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค

2) ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 – 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20 – 40 นาที

3) ความหนักของการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ควรหนักขนาดปานกลาง โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจ อยู่ที่ 65 – 90 % ของ Maximum Heart Rate (MHR) เรียกว่า Target heart rate;  Maximum heart rate = (200 - อายุ) ซึ่งเท่ากับ 100 % ของ MHR



บันทึกข้อมูลการรักษาโดย  แพทย์จีนกนิษฐา ใจเย็น (จาง เยว่ ฟาง)
คลินิกฝังเข็ม หัวเฉียวแพทย์แผนจีน 

ข้อมูลประกอบอ้างอิง

1. หนังสือ การฝังเข็ม รมยา เล่ม 5 การรักษากลุ่มอาการเมตาบอลิกและโรคที่เกี่ยวข้องด้วยการฝังเข็มและยาจีน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัญประชาชนจีน พ.ศ.2556 
ISBN 978-616-11-1591-3

2. บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย รหัสกลุ่มโรคและหัตถการด้านการแพทย์แผนจีน (ICD -10 -TM)

อ่านข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
1. ฝังเข็มเจ็บไหม-อันตรายหรือไม่
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
4. ฝังเข็มลดความอ้วนได้จริง ? ตอนที่ 1
5. ฝังเข็มลดความอ้วนได้จริงหรือ ? ตอนที่ 2
6. การรักษาโรคอ้วนด้วยแพทย์แผนจีน


สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
Hotline : 095-884-3518
LINE@ : @huachiewtcm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้