Success case โรคติกส์

Last updated: 23 ม.ค. 2568  |  76 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 Success case โรคติกส์

โรคติกส์ หรือ โรคกล้ามเนื้อกระตุกในเด็ก (Tics Disorder)  อาการเริ่มแรกคุณพ่อคุณแม่มักคิดว่าลูกแกล้งทำ หรือคิดว่าลูกมีอาการของภูมิแพ้ ทำให้คัดจมูก คันตาจนกระพริบตาถี่ หายใจครืดคราด หรือทำเสียงผิดปกติในลำคอ แต่เมื่อตรวจหู คอ จมูกโดยละเอียดกลับไม่พบความผิดปกติ หรือรักษาอาการภูมิแพ้หายแล้ว แต่ลูกยังติดทำพฤติกรรมเหล่านั้นซ้ำๆ และอาการของลูกจะยิ่งเป็นมากขึ้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด เหนื่อยเกินไป ร้อนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้หน้าจอที่ต้องใช้สายตาจ้องเพ่งเป็นเวลานาน 

โรคกล้ามเนื้อกระตุกในเด็ก ..ในมุมมองการแพทย์แผนจีน 

ในทางการแพทย์แผนจีน ตำแหน่งของโรคอยู่ที่ตับและม้าม ม้ามทำหน้าที่ในการสร้างเลือดและชี่ ดูดซึมสารอาหารไปสร้างพลังงานเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ม้ามพร่องจึงสร้างเลือดได้น้อย สัมพันธ์กับอารมณ์ครุ่นคิด ในขณะที่อวัยวะตับ ทำหน้าที่กักเก็บเลือด ส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หล่อเลี้ยงเส้นเอ็น เมื่อเลือดกักเก็บในตับไม่เพียงพอ จะเกิดความร้อนหยางมากเกินไป เมื่อมีความร้อนมากในร่างกายจะเกิดลม ลักษณะของลม คือเคลื่อนไหวไม่มีทิศทาง อาการจึงเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ และอวัยวะตับสัมพันธ์กับอารมณ์เครียด หงุดหงิด ยิ่งมีความเครียดมากเท่าไหร่ยิ่งเกิดการกระตุกมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งความเครียดมิได้มีเพียง ความเครียดทางจิตใจ ยังส่งผลต่อทางกล้ามเนื้อด้วย ทั้งสองสิ่งนี้แปรผันตามกัน 

การใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เป็นเวลานาน จะทำให้อาการแสดงชัดเจนขึ้น เพราะการใช้สายตามาก ส่งผลต่ออวัยวะตับซึ่งเป็นทวารเปิดของดวงตา อวัยวะตับต้องสูญเสียเลือด อีกทั้งอวัยวะตับยังทำหน้าที่ในการกักเก็บเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย หล่อเลี้ยงเส้นเอ็น เป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการกระตุกชักเกร็ง


การวินิจฉัยโรค

ตามที่ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, DSM-IV-TR ได้แบ่งโรคติกส์ไว้เป็น 4 ประเภท

 (1) โรคติกส์ชั่วคราว (transient tic disorder,TTD)

(2) โรคติกส์เรื้อรัง (chronic motor or vocal tic disorder,CMVTD)

(3) Tourette syndrome (Tourette disorder,TD)

(4) tic disorder,not otherwise specified,TDNOS)

1.โรคติกส์ชั่วคราว (transient tic disorder,TTD)

(1) กระตุกหนึ่งตำแหน่ง หรือหลายตำแหน่ง แสดงออกโดยฉับพลันทันที เป็นๆหายๆ กระตุกไม่เป็นจังหวะหรือเปล่งเสียงผิดปกติ ระดับความรุนแรงน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบตั้งแต่วัยอนุบาลหรือประถมต้น ซึ่งจะพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 7-11 ปี

(2) พบการกระตุกหลายครั้งในหนึ่งวัน เป็นเกือบทุกวันต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 1 ปี

 (3) พบอาการก่อนอายุ 18 ปี

(4) อาการกระตุกนั้น ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น สารกระตุ้น) หรือการเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น Huntington's Disease โรคไข้สมองอักเสบ

(5) จะมีอาการเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แล้วจะหายได้เอง แต่อาจจะกลับมาเป็นอีกได้ อาการเมื่อกลับเป็นซ้ำอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น ครั้งแรกมีอาการขยิบตา พอเป็นครั้งที่สองเปลี่ยนเป็นกระตุกมุมปาก เป็นต้น

2.โรคติกส์เรื้อรัง (chronic motor or vocal tic disorder,CMVTD)

โรคติกส์เรื้อรัง (Chronic Tics) ระดับความรุนแรงมากขึ้น อาการจะเป็นเหมือนชนิดชั่วคราว แต่จะเป็นติดต่อกันนานเกิน 1 ปี ไม่หายไปง่าย ๆ บางคนเป็นจนโตหรือเป็นตลอดชีวิต

(1) กระตุกหนึ่งตำแหน่ง หรือหลายตำแหน่ง แสดงออกโดยฉับพลันทันที เป็นๆหายๆ กระตุกไม่เป็นจังหวะหรือส่งเสียงผิดปกติแต่จะไม่ปรากฏพร้อมกันในระหว่างเกิดโรค

(2) พบการกระตุกหลายครั้งในหนึ่งวัน อาจเกิดขึ้นทุกวันหรือเป็นช่วง ๆ ระยะเวลาของโรคเกิน 1 ปี อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาพักที่ไม่เกิดอาการ จะต้องไม่เกิน 3 เดือน

(3) พบอาการก่อนอายุ 18 ปี

(4) อาการกระตุกนั้น ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น สารกระตุ้น) หรือการเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น Huntington's Disease โรคไข้สมองอักเสบ

(5) อาการกระตุกหรือการเปล่งเสียงข้างต้น ไม่สอดคล้องกับกลุ่มอาการ Tourette


3.Tourette's Syndrome (Tourette’s disorder,TD;โรคทูเร็ตต์)

โรคทูเรตต์ (Tourette's Syndrome) เป็นติกส์ระดับรุนแรงที่สุด เด็กที่เป็นโรคทูเรตต์ นอกจากจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว จะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วย เช่น ที่แขน หลัง ท้อง จนดูเหมือนเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น สะดุ้งทั้งตัว สะบัดแขน ตีปีก ขว้างของ บริเวณที่กระตุกจะย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เริ่มเป็นที่ไหล่ ย้ายไปแขนขวา แล้วย้ายไปที่หลัง เป็นต้น โรคที่แสดงอาการกระตุกของกล้ามเนื้อหลายๆ มัดพร้อมๆ กัน ร่วมกับมีการเปล่งเสียงออกมาจากลำคอหรือทางจมูก โดยเปล่งเสียงเป็นคำที่มีหรือไม่มีความหมาย และเสียงที่เปล่งออกมาอาจเกิดร่วมกับอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ หรือเกิดขึ้นต่างช่วงเวลากันได้ 

 (1) มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกหลายส่วน หรือมีการเปล่งเสียงอย่างน้อย 1 รายการ แต่ไม่จำเป็นต้องปรากฏพร้อมกัน

(2) Tics สามารถเกิดขึ้นได้หลายครั้งต่อวัน หรือเป็นระยะ ๆ โดยมีระยะเวลามากกว่า 1 ปี แต่ช่วงที่อาการสงบจะต้องไม่เกิน 3 เดือนติดต่อกัน

(3) พบอาการก่อนอายุ 18 ปี

(4) อาการกระตุกนั้น ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น สารกระตุ้น) หรือการเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น Huntington's Disease, โรคไข้สมองอักเสบ

4.ความผิดปกติแบบกระตุกอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุรายละเอียด

รวมถึงความผิดปกติของ Tic ที่ไม่ตรงตามเกณฑ์การวินิจฉัยข้างต้น  อาการเกิดขึ้นเป็นเวลาน้อยกว่า 4 สัปดาห์หรือเริ่มมีอาการหลังจากอายุ 18 ปี

โรคติกส์ไม่มียาที่รักษาโดยตรง อาจรักษาด้วยยาบางชนิดเช่น ยาระงับอาการทางจิต( Antipsychotic)

การแยกความแตกต่างและหลักการรักษา

ตามพยาธิกำเนิดและลักษณะของโรค Tic ในเด็ก อาการทางคลินิกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

1、กลุ่มอาการลมตับภายในกำเริบ肝亢风动:มักพบในระยะแรก

อาการแสดง

อาการหลัก:ยักคิ้ว กระพริบตาถี่ อ้าปากทำปากเบี้ยว สะบัดศีรษะยักไหล่ ทำเสียงแปลกๆในลำคอ เกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการ อาการกระตุกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ 

อาการร่วม:หุนหันพลันแล่นและวิตกกังวลได้ง่าย หงุดหงิด ลิ้นแดง ชีพจรตึงหรือตึงเร็ว (脉弦或弦数)


หลักการรักษา:สงบลมตับสงบจิตใจระงับการกระตุก (平肝熄风,安神止动)


2.อินพร่องทำให้ลมเคลื่อน(阴虚风动)

อาการแสดง

อาการหลัก :ขยิบตา ยักไหล่ และส่ายหัว มีการเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างน้อย 1 ประเภท เช่น อาการสั่นของแขนขา ลำตัว พูดคำหยาบคายหรือร้องด้วยน้ำเสียงแปลกๆ อาการหนักเบาสลับกัน

อาการร่วม :ร่างกายผอมแห้ง อ่อนล้าอ่อนเพลีย โหนกแก้มทั้งสองข้างแดงระเรื่อ ฝ่ามือฝ่าเท้ากลางอกร้อน  หงุดหงิด อุจจาระแห้ง ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรเล็กเร็ว(脉细数)

หลักการรักษา:บำรุงอินและหยาง บำรุงหัวใจทำให้จิตใจสงบ(滋阴潜阳,养心安神)


3.ม้ามพร่องทำให้ลมเคลื่อน (脾虚动风)

อาการแสดง

อาการหลัก: กระพริบตา ร่างกายสั่นกระตุก มุมปากกระตุก ส่ายหัว ยักไหล่ มีการกระตุกที่ลำตัว หน้าท้อง พูดคำหยาบคายหรือร้องด้วยน้ำเสียงแปลกๆ อาการเกิดขึ้นไม่แน่นอน  ไม่เป็นจังหวะ

อาการร่วม:หน้าเหลืองร่างกายผ่ายผอม ไม่มีชีวิตชีวา อารมณ์ไม่ดีหุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ นอนหลับไม่สนิท เบื่ออาหาร ทานยาก ลิ้นซีดฝ้าขาวหรือขาวเหนียว ชีพจรลึกลื่น(脉沉滑)

หลักการรักษา : พยุงม้ามสงบตับ ดับลมบรรเทาอาการกระตุก (扶土抑木,熄风止痉)

การดูแลและป้องกัน

ลดการใช้หน้าจอทุกประเภท และเพิ่มการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กละมัดใหญ่ เช่น การเล่นกีฬา เดินเล่น ปีนป่าย ให้สมวัย ทานอาหารที่เป็นธรรมชาติ ลดสารปรุงแต่ง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เครื่องดื่มรสหวานและขนมต่างๆ หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบแก้ไข และสร้างความเข้าใจให้บุคลลรอบตัว ครูอาจารย์ และเพื่อนที่ใกล้ชิด ไม่ให้ทัก งดการดุด่า ติเตียนถึงอาการของเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความกังวลในใจเด็กมากขึ้น หากพบการกระตุกที่มาก ให้พยายามเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำ ณ ขณะนั้น

ตัวอย่างกรณีการรักษาภาวะกล้ามเนื้อกระตุกในเด็ก

ข้อมูลผู้ป่วย

รหัสผู้ป่วย : HN399xxx 

วันที่เข้ารับการรักษา : 11 กุมภาพันธ์ 2567

เพศ : ชาย

อายุ : 7 ปี

น้ำหนัก :25.5 kg

อาการสำคัญ : ผู้ป่วยสะบัดศีรษะ หมุนยืดกล้ามเนื้อคอ  6 เดือน

ประวัติปัจจุบัน : ผู้ป่วยหมุนคอสะบัดศีรษะถี่ มักทำเสียงกระแอมไอต่อเนื่องในลำคอ  ขยิบตาถี่ ใช้หน้าจอมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ชอบเตะฟุตบอล ออกกำลังกายเป็นประจำ วิตกกังวลง่าย อารมณ์หงุดหงิด นอนหลับปกติ ทานอาหารปกติ ขับถ่ายปกติ ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง

ประวัติอดีต : โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ

ผลการวินิจฉัยโรค : ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก (Tics Disorder) ในทางการแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในกลุ่ม “โชวชู่” (抽搐) มีภาวะชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด (气血瘀滞)

หลักการรักษา

วิธีการรักษา : ฝังเข็ม ครอบแก้ว และ ยาสมุนไพรจีน

ผลการรักษา (Progression note)

ครั้งที่ 3 วันที่ 26 กุมภาพันธ์  2567

หมุนยืดคอลดลง สะบัดศีรษะลดลง คนไข้ดูสงบลง ไม่วิตกกังวลเท่าครั้งแรก ยังคงทำเสียงกระแอมในลำคอ

ครั้งที่ 7 ขยิบตาลดลง กระวนกระวายน้อยลง สะบัดศีรษะทำบ้างนานๆครั้ง 

ครั้งที่ 10 16 เมษายน  2567 ไม่พบอาการสะบัดศีรษะ หมุนยืดคอ นอนหลับได้ดี ลดการใช้หน้าจอลงเหลือ วันละ 20 นาที ยังพบการขยิบตาอยู่บ้าง ให้ยาจีนแบบเม็ดเพื่อบำรุงม้ามบำรุงหัวใจ

ครั้งที่ 12 6 พฤษภาคม 2567 ไม่พบอาการผิดปกติใดใด แนะนำผู้ป่วยพักการรักษา

การรักษาโรคติกส์ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งในส่วนของครอบครัว โรงเรียน เพื่อนหรือบุคคลใกล้ชิด คอยสังเกตอาการ พฤติกรรม สิ่งเร้าสิ่งกระตุ้น หรือแม้กระทั่งภาวะอารมณ์ของเด็กและบุคคลใกล้ชิด ข้อห้ามสำคัญคือ ห้ามทัก การทักหรือติงอาการที่เป็น จะทำให้ผู้ที่เป็นโรคติกส์เกิดความกังวล สูญเสียความมั่นใจ ยิ่งในเด็กที่จิตใจบอบบาง อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่รักของครอบครัวก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจตัวโรคและวิธีรับมือเพื่อประโยชน์ต่อบุตรหลานของท่านและประโยชน์ในการรักษาต่อไป 

------------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน กนิษฐา ใจเย็น แสงสกุล (หมอจีน จาง เยว่ ฟาง)
张月芳 中医师
TCM. Dr. Kanittha Jaiyen Saengsakul ( Zhang Yue Fang)
แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้