ป้องกันดูแลรักษาโรคกรดไหลย้อน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  20854 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป้องกันดูแลรักษาโรคกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนคืออะไร ?

“โรคกรดไหลย้อน” (Gastroesophageal reflux disease,GERD) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติที่เรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ที่ไหลย้อนขึ้นสู่หลอดอาหาร โดยจะมีหรือไม่มีร่องรอยของการอักเสบของหลอดอาหารก็ได้

อาการของโรคกรดไหลย้อน

1.  อาการแสบยอดอก เป็นความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก ขึ้นมาจนถึงคอ ซึ่งมักเกิดหลังกินอาหารเสร็จไม่นาน

2.  เรอเปรี้ยว โดยไม่มีการคลื่นไส้อาเจียนมาก่อน
โดยมีอาการข้อ 1และ 2 หรือมีเพียงข้อ 1 หรือ 2 ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นกรดไหลย้อนได้แล้ว

3.  ไม่มีอาการเตือนต่างๆของโรคร้ายแรงต่างๆเช่น ไม่มีน้ำหนักลด ไม่มีปวดท้องรุนแรง ไม่มีไข้ ไม่มีอาเจียนเป็นเลือด ไม่มีถ่ายดำ หรือ ไม่มีอาการกลืนลำบากหรือกลืนติด

4. อาจมีอาการไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง ฟันผุ มีกลิ่นปาก เป็นต้น

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

1.    หูรูดหลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ไม่มีการกลืน จำนวนครั้งบ่อยขึ้นหรือหลอดอาหารส่วนปลายหย่อน

2.    สภาวะร่างกายหรือโรคบางชนิด เช่น ภาวะตั้งครรภ์ น้ำหนักเกิน (โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักขึ้นมากในช่วงเวลาสั้นๆ)  โรคเบาหวาน  เป็นต้น

3.    บุหรี่ แอลกอฮอล์  เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้

4.    อาหารบางประเภทเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เช่น อาหารมัน อาหารเปรี้ยวจัด คาเฟอีน ช็อกโกแลต

5.    ยาบางประเภทอาจมีผลต่อการทำงานของหูรูดกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้


กรดไหลย้อน กับ โรคกระเพาะอาหาร


โรคกระเพาะอาหารมักมีอาการดังนี้

1.    ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือเหนือสะดือขึ้นมา โดยจะปวดก่อนหรือหลังทานอาหารก็ได้

2.    อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อืดแน่นท้อง ไม่สบายในท้อง

3.    ในรายที่มีแผลขนาดใหญ่อาจมีอาการถ่ายดำหรืออาเจียนเป็นเลือด

4.    อาจมีความสัมพันธ์กับอาหารหรือยาที่รับประทาน เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs

5.    อาจมีความสัมพันธ์กับเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori

อธิบายกรดไหลย้อนในทางการแพทย์แผนจีน

สาเหตุการเกิดโรคกรดไหลย้อนทางการแพทย์แผนจีน

1.   การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมถึง การรับประทานอาหารรสจัด,ของมันของทอด การรับประทานยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะและทางเดินอาหาร ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด  ทำให้กระทบต่อม้ามและกระเพาะอาหาร ลมปราณติดขัด ลมปราณกระเพาะย้อนขึ้นข้างบนได้

2.   ความเย็นกระทบกระเพาะอาหาร อาจเป็นความเย็นจากภายนอกหรือจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเช่นอาหารที่มีฤทธิ์เย็นต่าง เมื่อได้รับความเย็นเข้าไปมากๆก็จะทำให้หยินหยางของกระเพาะเสียสมดุลย์ไป เกิดความชื้นสะสมขึ้นภายใน และเกิดเป็นกรดไหลย้อนขึ้น

3.   การมีอารมณ์แปรปรวน ความเครียดและความกังวล ส่งผลให้ลมปราณตับติดขัด และเกิดความร้อนขึ้นภายใน ซึ่งจะทำให้กระทบกับหยินของกระเพาะอาหาร และส่งผลต่อทางเดินอาหารตามมา

4.   สภาวะโรคเรื้อรังและสภาวะร่างกายพร่อง อ่อนเพลียมากเกินไป จะมีผลกระทบต่อม้าม เมื่อลมปราณม้ามอ่อน ก็จะทำให้การเผาผลาญของร่างกายลดลง เกิดความชื้นและเสมหะขึ้น

แพทย์แผนจีนรักษากรดไหลย้อนอย่างไร

1.    การใช้ยาจีน ในตำรับยาที่เหมาะสมกับพยาธิสภาพของอาการและพื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วย
- อ่าน - การใช้ยาจีนในการรักษาโรค




2.    ฝังเข็ม  / รมยา
- อ่าน - การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?

- อ่าน - การรมยาคืออะไร ?



 


โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็ม (กระตุ้นไฟฟ้าหรือไม่ก็ได้) สามารถลดการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายได้ถึง เทียบเท่ากับการรักษาด้วยการทานยากลุ่ม PPI , โดยมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของโรคที่น้อยกว่าและยังมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าการทานยากลุ่ม PPI


นอกจากนี้ในคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย PPI พบว่า การรับประทานยากลุ่ม PPIร่วมกับการฝังเข็ม สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีกว่าการเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ไม่ว่าจะเป็นอาการแสบร้อนหน้าอกทั้งกลางวันกลางคืน  อาการเรอเปรี้ยว หรืออาการขย้อนก็ตาม โดยพบว่าการฝังเข็มสามารถลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารได้

 
การดูแลและการป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน

1.  อาหารที่พึงหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชา กาแฟ อาหารทอด อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด รสเผ็ด รสเปรี้ยว  ช็อกโกแลต

2.  การรับประทานอิ่มเกินไปจะทาให้หูรูดหลอดอาหารเปิดง่ายขึ้นและทำให้เกิดการย้อนของกรดง่ายขึ้น ดังนั้นจึงควรแบ่งกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆและรับประทานให้บ่อยขึ้น

3.  ไม่ควรเข้านอนหรือเอนกายหลังอาหารทันที  หลังรับประทานอาหารเสร็จควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงเอนตัวนอน เพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเสียก่อน

4.  งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  สารนิโคตินในบุหรี่เพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและทำให้หูรูดอ่อนแอ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้หูรูดเปิดออกได้เช่นกัน

5.  หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าและเข็มขัดที่รัดแน่นบริเวณผนังหน้าท้อง การก้มตัวไปด้านหน้า น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน ล้วนเป็นสาเหตุที่เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหารและทำให้กรดไหลย้อนกลับ

6.  ความเครียดที่มากเกินไปจะทำให้อาการแย่ลง ดังนั้นจึงควรหาเวลาพักผ่อนและออกกาลังกายให้สมดุลกับตารางชีวิตของคุณ 


บทความโดย  แพทย์จีน ถนิมรักษ์ ครบปรัชญา (หมอจีน สวี่ ซิ่ง อวี้)
แผนกฝังเข็ม  คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาโคราช

แผนที่การเดินทางหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาโคราช "หมอจีนโคราช" คลิก


สอบถามข้อมูลหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพ 
ท่านสามารถแอดไลน์ เพื่อพูดคุยหรือสอบถามแนวทางการรักษาเบื้องต้น

LINE@ ได้ที่ : @huachiewtcm (พิมพ์ @ ด้วยนะคะ)
ตอบคำถาม 24 ชั่วโมง
HOTLINE : 095-884-3518


 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้