Last updated: 6 ธ.ค. 2567 | 144 จำนวนผู้เข้าชม |
Lateral epicondylitis หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “Tennis elbow” เป็นประเภทของข้อศอกอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดทางคลินิก พบได้บ่อยในผู้ที่หมุนบิดปลายแขนหรืองอเหยียดข้อศอกเป็นประจำ เช่น ช่างไม้ ช่างกล ช่างประปา ช่างไฟฟ้า นักกีฬาแบดมินตัน เป็นต้น
การแพทย์แผนจีนอยู่ในโรค “ข้อศอกบาดเจ็บเรื้อรัง”(肘劳) ซึ่งจัดอยู่ในขอบเขตของ “เส้นเอ็นบาดเจ็บ”(伤筋)โดยทั่วไปมักจะค่อยๆเกิดอาการ เป็นๆหายๆ ไม่มีประวัติอุบัติเหตุที่ชัดเจน
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
สาเหตุหลักเกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นการบิด การดึง หรือการหมุนซ้ำๆของปลายแขน ทำให้เส้นลมปราณเอ็นบริเวณข้อศอกบาดเจ็บเรื้อรัง นานวันเข้าจึงทำให้ชี่และเลือดอุดกั้น เส้นลมปราณไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดอาการปวด
บริเวณข้อศอกด้านนอกมีเส้นลมปราณมือหยางทั้งสามเส้นพาดผ่าน ดังนั้น กลไกการเกิดโรคหลัก คือ เส้นลมปราณเอ็นมือหยางทั้งสามเส้นได้รับบาดเจ็บ
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
ข้อศอกอักเสบ สามารถแบ่งการวินิจฉัยตามกลุ่มอาการได้ 2 กลุ่มอาการ
1.กลุ่มอาการเลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณลั่ว(瘀血阻络证)
อาการ : ข้อศอกปวดบวมหรือปวดเหมือนมีเข็มทิ่ม กดหรือสัมผัสไม่ได้ ไม่มีแรงยกของ อาการปวดเพิ่มขึ้นเมื่อใช้งาน กลางคืนปวดหนัก ลิ้นแดงคล้ำ ฝ้าที่ลิ้นเหลือง ชีพจรตึงฝืด
วิธีรักษา : สลายเลือดคั่ง ผ่อนคลายและทะลวงเส้นลมปราณเอ็น
2.กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง(气血亏虚证)
อาการ : ค่อยๆมีอาการปวดเมื่อยข้อศอก เป็นๆหายๆ ไม่มีแรงยกของ มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก ชอบให้นวดหรือคลึง อ่อนเพลีย พูดน้อย หน้าซีด ลิ้นซีด ฝ้าที่ลิ้นขาว ชีพจรจมเล็กละเอียด
วิธีรักษา : บำรุงชี่และเลือด ผ่อนคลายและทะลวงเส้นลมปราณเอ็น
นอกจากนี้ ข้อศอกอักเสบ ยังสามารถแบ่งการวินิจฉัยตามเส้นลมปราณได้ 3 กลุ่มอาการ
1.กลุ่มอาการเส้นลมปราณเอ็นมือหยางหมิง(手阳明经筋病证)
อาการ : มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจนบริเวณข้อศอกด้านนอก ( Lateral epicondyle)
วิธีรักษา : ผ่อนคลายและทะลวงเส้นลมปราณเอ็นมือหยางหมิง
2.กลุ่มอาการเส้นลมปราณเอ็นมือไท่หยาง(手太阳经筋病证)
อาการ : มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจนบริเวณข้อศอกด้านใน ( Medial epicondyle)
วิธีรักษา : ผ่อนคลายและทะลวงเส้นลมปราณเอ็นมือไท่หยาง
3.กลุ่มอาการเส้นลมปราณเอ็นมือเส้าหยาง(手少阳经筋病证)
อาการ : มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจนบริเวณข้อศอกด้านล่าง (Olecranon)
วิธีรักษา : ผ่อนคลายและทะลวงเส้นลมปราณเอ็นมือเส้าหยาง
ตัวอย่างกรณีการรักษาข้อศอกอักเสบ(Tennis elbow)
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN 371XXX
ชื่อ : คุณ ธนXXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 10 พฤศจิกายน 2565
เพศ : ชาย
อายุ : 32 ปี
อุณหภูมิ 36.8 องศาเซลเซียส
ชีพจร : 58 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 119/71 mmHg น้ำหนัก : 68.95 กิโลกรัม
อาการสำคัญ (Chief complaint)
ปวดข้อศอกซ้ายด้านนอก 1 เดือน อาการปวดเพิ่มขึ้น 1 วัน
อาการปัจจุบัน (Present illness)
ปวดข้อศอกซ้ายด้านนอก 1 เดือน อาการปวดเพิ่มขึ้น 1 วัน หลังจากตีแบดมินตัน ร่วมกับมีอาการปวดปลายแขน ข้อศอกซ้ายด้านนอกมีจุดกดเจ็บที่ชัดเจน ไม่มีอาการบวม แดงร้อน Mill’s test (+) ยกของหรือจับถือของลำบาก ยึดแขนไม่สุด ไม่มีอาการปวดช่วงกลางคืน รับประทานยาแก้ปวดเป็นบางครั้ง นอนหลับได้ปกติ รับประทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายปกติ ชีพจรจมช้า
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต(Past history)
ปฏิเสธประวัติโรคหัวใจและเบาหวาน
ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
การวินิจฉัยโรค(Diagnosis)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน : ข้อศอกบาดเจ็บเรื้อรัง(กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง/กลุ่มอาการเส้นลมปราณเอ็นมือหยางหมิง)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน : Tennis elbow
วิธีการรักษา(Treatment)
รักษาด้วยการฝังเข็ม ร่วมกับการรมยา
ใช้หลักการรักษา บำรุงชี่และเลือด ผ่อนคลายและทะลวงเส้นลมปราณเอ็นมือหยางหมิง
ผลการรักษา(progression note)
ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 – วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565
รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 18/11/2565
อาการปวดข้อศอกซ้ายดีขึ้น พอจับถือของได้บ้างแล้ว
รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 6/9/2567
ผู้ป่วยได้เข้ามาทำการรักษาอีกครั้งด้วยอาการอื่น จึงได้สอบถามถึงอาการเดิม ผู้ป่วยแจ้งว่าหลังจากฝังเข็มครั้งที่ 2 ไป อาการปวดข้อศอกหายไป สามารถใช้งานได้ตามปกติ
สรุปผลการรักษา :
การฝังเข็มรักษาข้อศอกอักเสบสามารถลดอาการปวดได้ดี ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดหรือการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะตรงบริเวณที่ปวด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้หรือไม่อยากฉีดสเตียรอยด์
ระหว่างการรักษาด้วยการฝังเข็มควรใช้งานข้อศอกให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล ปัจจัยกระตุ้น และการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย
อ้างอิง
1. https://baike.baidu.com/item/%E8%82%98%E5%8A%B3/7104113?fr=ge_ala
2. https://www.yaopinnet.com/tools/linchuanglujing/zy/zy2017s01172.pdf
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส ปิยะมาศ เมืองใชย (หมอจีน ปี้ หย่า หม่า)
毕雅玛 中医师
TCM. Dr. Piyamas muangchai (Bi Ya Ma)
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567