เผชิญหน้ากับวัยทองอย่างมั่นใจ รู้วิธีรับมือด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

Last updated: 6 ก.ย. 2567  |  527 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เผชิญหน้ากับวัยทองอย่างมั่นใจ  รู้วิธีรับมือด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

          กลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือน หมายถึงกลุ่มอาการที่มีลักษณะของความผิดปกติที่เกิดจากการทำงานของรังไข่ที่ลดลงในสตรีก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือนที่เรียกว่า "กลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือน" หรือ "กลุ่มอาการวัยทอง" นั่นเอง ในทางการแพทย์แผนจีนเรียกอาการนี้ว่า "กลุ่มอาการก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน"(绝经前后诸症)ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 45-55 ปี

สาเหตุการเกิดโรค
          การเกิดขึ้นของกลุ่มอาการในช่วงวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการที่สารสำคัญก่อนกำเนิด (先天之精) และสารสำคัญหลังกำเนิด (后天之精) ได้รับความเสียหายหรือพร่องลง ซึ่งอาจมาจาก การมีบุตรจำนวนมาก ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ การทำงานหนักเกินไป และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม และวัฒนธรรม และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความสมดุลของอินและหยาง ทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติ

ลักษณะอาการของโรค
1. อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) โดยเฉพาะบริเวณลําตัวส่วนบน เช่น บริเวณหน้า คอ และอก มักเกิดอาการนานประมาณ 1-5 นาที
2. โรคกระดูกพรุน สําหรับเพศหญิงวัยหมดประจําเดือนความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้สูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็ว
3. มีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์เร็ว รู้สึกวิตกกังวล หดหู่ใจ ความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งกดดันในชีวิตประจําวันลดลง
4. นอนหลับยาก แต่ตื่นเช้า
5. ผิวหนังร่างกายแห้งและบางลง บางครั้งมีอาการคัน เกิดผื่นแพ้ง่าย เส้นผมหยาบแห้ง หลุดร่วงง่าย ไม่ดกดําเป็นเงางาม
6. ช่องคลอดแห้ง ติดเชื้อและคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ความต้องการทางเพศลดลง


การวินิฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการไตอินพร่อง  (肾阴虚证):ปวดเมื่อยเอว หูอื้อ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ร้อนตามฝ่ามือฝ่าเท้าและหน้าอก นอนไม่หลับ ฝันมาก คอแห้งกระหายน้ำหรือคันตามผิวหนัง รอบประจำเดือนผิดปกติ สีแดงเข้ม
2. กลุ่มอาการไตหยางพร่อง (肾阳虚证):มึนหัว หูอื้อ มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยเอว เย็นบริเวณหน้าท้อง  ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ ปริมาณตกขาวมาก ประจำเดือนไม่ปกติ สีซีดจาง  
3. กลุ่มอาการไตอินและหยางพร่อง (肾阴阳两虚证):บางเวลารู้สึกหนาว บางเวลารู้สึกร้อน เหงื่อออก ปวดเมื่อยเอว ไม่มีแรง มึนหัว หูอื้อ ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน รอบประจำเดือนผิดปกติ

การรักษา
          อาการของวัยทองเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายของผู้หญิงตามวัย หากสามารถควบคุมและอยู่ร่วมกับอาการเหล่านั้นได้ ก็ไม่มีความจําเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากอาการเหล่านั้นสร้างปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจจนเกินควบคุม หรือสงสัยว่าเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้


แนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยวัยทอง

โจ๊ก Qibao(七宝粥):ช่วยเสริมบำรุงไตและม้าม

วัตถุดิบ :(红豆)ถั่วแดง 50 เมล็ด(黑豆)ถั่วดำ 64 เมล็ด(黄豆)ถั่วเหลือง 56 เมล็ด (莲子)เมล็ดบัว 21 เมล็ด(红枣)พุทราจีน 24 เมล็ด(核桃仁)วอลนัท 8 เมล็ด(桂圆)ลำไย 16 เมล็ด

วิธีทำ : ต้มถั่วแดง ถั่วดำ และถั่วเหลืองเป็นเวลา 15 นาที จากนั้นใส่เมล็ดบัวและวอลนัทลงไป ต้มต่ออีก 10 นาที จึงใส่พุทราจีนและลำไยลงไปเป็นลำดับสุดท้าย ต้มต่ออีก3นาที จึงรับประทานได้ สามารถรับประทานได้ 3 ครั้งต่อวัน


------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ปะการัง เขตคาม (หมอจีน ข่าย ซิน)
凯心 中医师
TCM. Dr. Pakarung Khetkam (Kai xin)
แผนกอายุกรรม 内科 (Internal TCM Department)
หัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาโคราช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้