นั่งนานเสี่ยงกล้ามเนื้อสะโพกทับเส้นประสาท

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  4319 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นั่งนานเสี่ยงกล้ามเนื้อสะโพกทับเส้นประสาท

เคยสังเกตตัวเองไหมว่าในแต่ละวันคุณใช้เวลากับการนั่งไปแล้วกี่ชั่วโมง? ไม่ว่าจะนั่งทำงาน WORK FROM HOME หรือ WORK FROM OFFICE นั่งขับรถนานระยะทางไกลๆ นั่งทานอาหาร รวมไปถึงการนั่งพักผ่อนดูมือถือหรือดูซีรีย์ แต่ถ้าลองได้ใช้สมาธิจดจ่อไปกับงานที่อยู่ในจอแล้วละก็เชื่อเลยว่าหลายๆ คนคงนั่งยาวจนลืมเวลาไม่ได้ขยับเปลี่ยนท่า บางวันเงยหน้ามาอีกทีก็ล่วงเลยไปแล้ว 4-5 ชั่วโมงกันไปแล้ว จนทำให้เกิดอาการปวดร้าวตั้งแต่หลังสะโพกรวมไปจนถึงต้นขา

ซึ่งเราจะทราบได้อย่างไรว่าปวดแบบไหน เข้าข่ายกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือ Piriformis Syndrome เกิดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสบริเวณกล้ามเนื้อก้นใกล้กับสะโพกไปกดทับเส้นประสาทไซอาติกที่อยู่ใกล้กัน ส่งผลให้รู้สึกปวดลึกๆ บริเวณก้นร้าวไปยังขาด้านหลัง และรู้สึกเจ็บเมื่อกดในบริเวณดังกล่าว ในบางกรณีอาจมีอาการชาร่วมด้วย ซึ่งอาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อนั่ง หรือยืนท่าเดิมเป็นระยะเวลานานๆ

หลักการสังเกตุอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทในตัวคุณ

1.     ปกติคุณนั่งเป็นเวลานานไหม? แต่ล่ะครั้งนานเกิน3-4ชั่วโมงหรือไม่ นั่งบนพื้นผิวแข็งๆ บ่อยหรือไม่?

2.     คุณมีทำกิจกรรมหรือวิ่งที่ต้องเคลื่อนไหวขาอย่างต่อเนื่องติดกันนานๆ หรือเปล่า?

3.     แต่ละครั้งในการออกกำลังกายคุณหักโหมออกกำลังกายเป็นเวลานานมากเกินไปไหม?

4.     ปกติคุณยกของหนักเป็นประจำใช่หรือไม่?

5.     คุณเคยมีอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบมาก่อนหรือไม่?

6.     คุณเคยประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อสะโพก เช่น ลื่นล้ม ตกบันได จักรยานล้ม บ้างหรือไม่?

หากคำตอบของคุณคือ “ใช่!” คุณก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสเสี่ยงกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทอยากบรรเทาอาการเหล่านี้ “แพทย์จีน” ช่วยได้

ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก ยังเคลื่อนไหวร่างกายได้ และยังควบคุมระบบการขับถ่ายได้เป็นปกติ วิธีการรักษาที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บได้อย่างปลอดภัยก็คือ “ฝังเข็มและการทุยหนากดจุด” โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้การฝังเข็มและกดจุดบริเวณกล้ามเนื้อ piriformis เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ ซึ่งควรทำควบคู่ไปกับการยืดกล้ามเนื้อ และการประคบร้อนเป็นประจำด้วยตนเอง จากการวิจัยของสำนักพิมพ์ JOURNAL OF NEW CHINESE MEDICINE ในปี 2015 Vol.47 No.6ได้แสดงให้เห็นถึงผลการทดลองในกลุ่มการฝังเข็มร่วมกับการทุยหนาเพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อสะโพกกดทับเส้นประสาทพิริฟอร์มิส ซึ่งใช้จุด秩边(Zhi Bian), 殷门(Yin Men), 绝骨  (Jue Gu),委中(Wei Zhong) กระตุ้นเข็มแบบบำรุงและละบายจุดละ5นาที แล้วทิ้งเข็มไว้อีก15นาที ระยะเวลาในการรักษาวันเว้นวัน เป็นเวลา10วันต่อ1คอร์สการรักษา รักษาทั้งหมด6คอร์ส สรุปได้ผลการรักษาดังนี้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งหมด60 คนรักษาหายขาด 27คน ได้ผล 28คน ไม่ได้ผล 5คน คิดเป็นผลสรุปความสำเร็จของการการวิจัย 91.67% ถือได้ว่าเป็นผลการรักษาที่น่าพึงพอใจแต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่สำคัญก็คือการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการเจ็บปวดกำเริบขึ้นมา แต่หากใช้การรักษาด้วยการฝังเข็มและทุยหนาแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการใช้ยา หรือการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ทริคง่ายๆช่วยบรรเทาความปวดด้วยการยืดกล้ามเนื้อ

1.     ให้นอนราบกับพื้นแล้วชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง

2.     ยกข้อเท้าซ้ายมาวางพาดไว้บนเข่าขวา

3.     ใช้มือดึงเข่าขวาเข้าหาอกแล้วค้างไว้ นับ 1-10

4.     วางขากลับไปชันเข่าเช่นเดิมและสลับมายกข้อเท้าขวามาวางพาดไว้บนเข่าซ้าย แล้วทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน

5.     เมื่อทำครบทั้งซ้ายและขวา ให้นับเป็น 1 เช็ต ทำเช่นนี้ต่อเนื่อง 5-10 เซ็ต ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้

บทความโดย : แพทย์จีน ศศิพัชญ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล



เอกสารอ้างอิง

1.     李建垒,曹向阳,宋永伟.梨状肌综合征的诊疗进展[J].中国医药导刊,2020,22(08):549-552.

2.     https://www.phyathai.com/article_detail/3672/th.

3.     寿可可.推拿联合针灸治疗梨状肌综合征120例疗效研究[J].新中医,2015,47(06):252-254.DOI:10.13457/j.cnki.jncm.2015.06.120.

4.     付思思,岳增辉.针灸联合推拿治疗梨状肌综合征的Meta分析[J].中医药临床杂志,2020,32(04):671-675.DOI:10.16448/j.cjtcm.2020.0421.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้