Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 12676 จำนวนผู้เข้าชม |
ตังกุย (当归) และโกฐเชียงหรือตังกุยเหว่ย์ (当归尾) คือ รากแห้งของพืชชนิดเดียวกันที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Angelica sinensis (Oliv.) Diels วงศ์ Apiaceae (Umbelliferae) (พืชวงศ์เดียวกับผักชี คึ่นไช่)แต่ต่างกันที่ ส่วนที่ใช้ (part used) ถ้าเป็นตังกุย จะเป็นทั้งราก ที่ประกอบด้วย รากส่วนหัว (เรียกว่า กุยโถว) รากหลัก (เรียกว่า กุยเซิน) และรากแขนง (เรียกว่า กุยเหว่ย) ส่วนโกฐเชียงหรือตังกุยเหว่ย์ เป็นส่วนของรากแขนงเท่านั้น
ตังกุย (当归)
มีกลิ่นหอมมาก รสหวาน เผ็ด และขมเล็กน้อย
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน :
มีรสหวานและเผ็ด อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณตับ หัวใจ และม้าม บำรุงเลือด ช่วยการไหลเวียนของเลือด ทำให้ประจำเดือนสม่ำเสมอ ระงับปวด ทำให้ลำไส้ชุ่มชื้นและช่วยระบาย แพทย์แผนจีนใช้เครื่องยาชนิดนี้ในยาเกี่ยวกับโรคเฉพาะสตรี เช่น อาการปวดเอว ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะขาดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ เป็นยาขับประจำเดือน แก้รกตีขึ้น แก้ไข้บนกระดานไฟ เกี่ยวกับอาการเลือดออกทุกชนิด แก้หวัด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด
ขนาดและวิธีใช้ : ต้มรับประทาน 6-12 กรัม
โกฐเชียงหรือตังกุยเหว่ย์ (当归尾)
กลิ่นหอมมาก รสหวาน เผ็ด และขมเล็กน้อย
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน :
มีรสหวาน เผ็ด อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ ตับ และม้าม ช่วยการไหลเวียนของเลือด
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย :
แก้ไข้ แก้สะอึก แก้ไอ แก้หอบ แก้เสียดแทงสองราวข้าง รักษาความผิดปกติของประจำเดือน ปวดประจำเดือน ใช้รักษาอาการปวดท้อง ปวดข้อ และอาการปวดหลังจากการผ่าตัด แก้ท้องผูก ตับอักเสบเรื้อรัง บำรุงโลหิต กระจายโลหิต
นอกจากนี้โกฐเชียงยังเป็นเครื่องยาในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) (ได้แก่ ตำรับยาหอมเทพจิตร และตำรับยาหอมนวโกฐ) ตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร (ตำรับยาธาตุบรรจบ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ) และตำรับ ยาทรงนัตถุ์ (ในตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ ประกอบด้วยสมุนไพร 15 ชนิด รวมทั้งโกฐเชียงด้วย บดเป็นผงละเอียดรวมกัน ใช้สำหรับนัตถุ์ ใช้ดมแก้ปวดหัว แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา)
ขนาดและวิธีใช้ : ต้มรับประทานครั้งละ 6-12 กรัม
ปัจจุบัน ตังกุยและโกฐเชียงหรือตังกุยเหว่ย์ มีการนำมาใช้รักษาอาการประจำเดือนผิดปกติ ลดอาการหลังหมดประจำเดือน (อาการร้อนวูบวาบ เหงือออกกลางคืน และช่วยให้นอนหลับ) ตังกุยและโกฐเชียงมีความปลอดภัยในการรับประทานมากกว่า 6 เดือน ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ควรระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากจะเสริมฤทธิ์กัน อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเลือดไหลหยุดยากได้
ตังกุย (当归)
โกฐเชียงหรือตังกุยเหว่ย์ (当归尾)
23 เม.ย 2567
24 มี.ค. 2566
19 ก.พ. 2567