การรักษาโรคโลหิตจางด้วยการแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  8391 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรักษาโรคโลหิตจางด้วยการแพทย์แผนจีน

          โรคโลหิตจาง(Anemia)หรือที่เราจะเรียกกันว่าภาวะซีด เป็นโรคที่มีจำนวนของเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ โดยเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่หลักในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นโรคที่พบได้บ่อยและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก โดยอาการมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยเช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หากกระทบการทำงานของสมองก็อาจทำให้วูบ หมดสติ ไปจนถึงอาการที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นไปจนอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ ทั้งนี้อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลหิตจาง ในผู้ป่วยรายนั้นๆ

กลไกการเกิดโรค

          โรคโลหิตจางเกิดขึ้นได้จากสาเหตุสำคัญใหญ่ๆ 3 ปัจจัยได้แก่

1. การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง : เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          1.1 ขาดสารอาหารที่ใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี12 กรดโฟลิค

          1.2 โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน

          1.3 โรคของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก เป็นต้น

          1.4 โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดปัจจัยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

2. การทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้นในร่างกาย :  โรคกลุ่มนี้จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ  ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวและตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย  สาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น

          2.1 โรคธาลัสซีเมีย  เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ที่พบบ่อย  ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการได้หลากหลาย  อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีโลหิตจางรวดเร็วเมื่อเวลามีไข้  บางรายอาจมีภาวะโลหิตจางร่วมกับเหลือง ตับม้ามโต เป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ

          2.2 โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอนไซม์ G-6PD  เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบในเพศชาย  ในภาวะปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการ  หากมีการติดเชื้อหรือได้รับยาบางชนิด จะเกิดการกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายขึ้นจนเกิดอาการโลหิตจางรวดเร็ว ดีซ่าน ปัสสาวะสีน้ำปลา

          2.3 โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเม็ดเลือดแดง  เป็นโรคที่พบมากในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์  อาจพบร่วมกับโรคของระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ

           2.4 การติดเชื้อบางชนิด  เช่น มาลาเรีย, คลอสติเดียม, มัยโคพลาสมา เป็นต้น

3. การเสียเลือด  อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด  หรืออาจค่อยๆ เสียเลือดเรื้อรัง เช่น เสียเลือดทางประจำเดือนในผู้หญิง เสียเลือดในทางเดินอาหารในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน  ผู้ป่วยที่เสียเลือดเรื้อรังก็มักจะมีการขาดธาตุเหล็กตามมาด้วย

อาการแสดง มีลักษณะดังนี้

1. เบื่ออาหาร

2. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

3. ตัวซีดเหลือง อย่างเห็นได้ชัด

4. หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน

5. หายใจลำบากขณะออกแรง

6. มึนงง วิงเวียนศีรษะ

7. เจ็บหน้าอก ใจสั่น

8. หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หัวใจล้มเหลว

9. หากมีอาการเรื้อรัง อาจพบอาการมุมปากเปื่อย เล็บมีลักษณะอ่อนแอและแบน หรือเล็บเงยขึ้นมีแอ่งตรงกลางคล้ายช้อน

การรักษาภาวะโลหิตจางด้วยการแพทย์แผนจีน

          ภาวะโลหิตจางในทางการแพทย์แผนจีนนั้นจัดอยู่ในโรคซวีเหลา “虚劳”เหว่ยหวง “萎黄”สาเหตุและกลไกการเกิดโรคเกิดจาก

1) เหนื่อยล้าหักโหมมากเกินไป : พื้นฐานร่างกายไม่แข็งแรง สารจิงและชี่ของอวัยวะภายในบกพร่อง หรือหักโหมทำงานหนักมากเกินไป ขาดการพักผ่อนที่ดี ทำให้หัวใจและม้ามถูกทำลาย หรือป่วยเรื้อรังจนทำให้ร่างกายอ่อนแอ กระทบต่อสารจิงและเลือด เนื่องจากว่า “จิงและเลือดมาจากแหล่งเดียวกัน” สุดท้ายจึงเกิดภาวะเลือดไม่เพียงพอ

2) ทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ : ทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะเป็นระยะเวลานาน หรือทานอาหารอิ่มมากเกินไป หรือทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากจนเกินไป หรือในหญิงตั้งครรภ์ขาดโภชนาการที่เพียงพอ ทำให้กระเพาะอาหารและม้ามถูกทำลาย จึงไม่สามารถที่จะสร้างชี่และเลือดออกมาได้

3) เหตุจากโรคเลือด : โรคเลือดที่เกิดขึ้นซ้ำไปมา เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนกระปริดกระปรอย เป็นต้น สามารถทำให้เลือดในร่างกายลดลงจนผิดปกติได้

4) มีพยาธิ : เมื่อเกิดมีพยาธิในร่างกายจะทำลายกระเพาะอาหารและม้าม ทำให้การย่อยอาหารผิดปกติ การส่งต่อสารอาหารทำงานผิดปกติ จะทำให้มีอาการท้องอืด ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น หรือถ้าพยาธิอยู่ในลำไส้ก็จะแย่งดูดสารอาหารในร่างกายไป กระทบกับชี่และเลือด จนเกิดเลือดไม่พอ

การรักษาจะเน้นใช้การบำรุงกระเพาะอาหารและม้าม บำรุงชี่และเลือด บำรุงตับและไต ขับชื้นและฆ่าพยาธิเป็นแนวทางหลักในการรักษา

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ

1. กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ Pattern / syndrome Spleen-stomach weakness (脾胃虚弱证Pí wèi xū ruò zhèng) : มักมีอาการสีหน้าอมเหลืองหรือซีดเซียว ริมฝีปากซีด เล็บไม่สดใส แขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน ลิ้นซีด ฝ้าบางเหนียว ชีพจรเล็กไม่มีแรง(细弱)

2. กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง Pattern / syndrome of dual deficiency of qi and blood (气血两虚证Qì xuè liǎng xū zhèng): มักมีอาการสีหน้าซีดเซียว ไม่มีแรง เวียนศีรษะตาลาย พูดน้อยไม่อยากพูด ใจสั่นนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ผมแห้งหลุดร่วง เล็บเป็นเส้นและเปราะหักง่าย ลิ้นอ้วนซีด ฝ้าบาง ชีพจรเล็กลอยอ่อน(浮细弱)

3. กลุ่มอาการอินตับพร่อง Pattern / syndrome Liver yin deficiency(肝阴亏虚证Gān yīn kuī xū zhèng): มักมีอาการเวียนศีรษะ หูมีเสียง ตาแห้ง ใบหน้าร้อนผ่าว ปวดแสบร้อนที่สีข้าง ร้อนอุ้งมืออุ้งเท้าและในอก เหงื่อออกตามตัวขณะนอนหลับ รู้สึกร้อนขึ้นลงเป็นเวลา ปากแห้งคอแห้ง หรือพบมือเท้าสั่นเบาๆ ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรตึงเล็กเร็ว(弦细数)

4. ภาวะ/กลุ่มอาการพยาธิในลําไส้ Pattern / syndrome of worms accumulating in the intestines(虫积肠道证Chóng jī cháng dào zhèng): มักมีอาการสีหน้าอมเหลืองไม่มีชีวิตชา ท้องอืด เจริญอาหารและหิวบ่อย คลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการถ่ายเหลว ชอบทานข้าวสารดิบ ดิน ใบชาเป็นต้น ถ่ายแข็งหรือเหลวมีกลิ่นเหม็นแรง แขนขาอ่อนแรง หายใจสั้น เวียนศีรษะ ไปจนถึงอาการที่เกิดจากการอุดตันของพยาธิอื่นๆ ลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรอ่อนไม่มีแรง(弱无力)

ตัวอย่าง กรณีศึกษา

การรักษาผู้ป่วยโลหิตจาง ที่มารักษาที่คลินิกอายุรกรรม หัวเฉียวแพทย์แผนจีน

ข้อมูลทั่วไป : นางสาวอXXX XXX เพศหญิง อายุ15ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย : HN 336XXX

วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก : วันที่ 23 มกราคม 2564

อาการสำคัญ : อ่อนเพลียร่วมกับผิวซีด 5 เดือน

ประวัติอาการ : 5 เดือนก่อนผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียและผิวซีด จึงได้ไปที่โรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจร่างกาย จากการตรวจเลือดพบว่าค่าความเข้มข้นของเลือด(HCT)อยู่ที่ 18% (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ระหว่าง 36-48%) ผู้ป่วยแจ้งว่าได้ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและทำ MRI ไม่พบความผิดปกติใดๆ ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 ได้ทำการให้เลือดรวมทั้งหมด 2 ครั้ง มีการฉีดธาตุเหล็ก 1 ครั้ง แต่ผลการรักษาก็ยังไม่ดีขึ้น จึงมาปรึกษาเพื่อขอเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน เมื่อสอบถามอาการย้อนกลับไปพบว่าก่อนที่จะมีอาการดังกล่าวผู้ป่วยได้ทำการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักด้วยตัวเอง

อาการที่มาในปัจจุบัน : อ่อนเพลียร่วมกับผิวซีด ทานอาหารได้ปกติ บางครั้งจะมีอาการปวดท้องท้องอืดบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหาร ขี้หนาว มือเท้าเย็น นอนได้ปกติ ขับถ่ายได้วันละ 1 ครั้งปกติ

ประวัติในอดีต : ไม่มี

ตรวจร่างกาย : ความดันโลหิต 91/51 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 90 ครั้ง/นาที อุณหภูมิ 36.5องศาเซลเซียส น้ำหนัก 49 kg

ชีพจรเล็กและไม่มีแรง(细无力) ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ปลายลิ้นแดง 

การวินิจฉัย : โรคซวีเหลา 虚劳xū láo (หรือโรคโลหิตจาง Anemia)
 
กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารเย็นจากพร่อง
syndrome Spleen-stomach cold deficiency pattern (脾胃阳虚证Pí wèi yáng xū zhèng)

วิธีการรักษา : บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมพลังหยาง โดยเลือกใช้ตำรับหวงฉีเจี้ยนจงทางและฟู่จื่อหลี่จงหวานเพิ่มลดในการรักษา รับประทานหลังอาหารเช้า-เย็น

ผลการรักษา :

ครั้งที่2 (วันที่ 30 มกราคม 2564) :

- หลังรับประทานยา ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียลดลง อาการปวดท้องท้องอืดบริเวณลื้นปี่หลังรับประทานอาหารหายไป อาการขี้หนาวน้อยลง มือเท้าเย็นน้อยลง อาการเวียนและปวดศีรษะหายไป(ครั้งแรกผู้ป่วยลืมแจ้งอาการนี้) การทานอาหารปกติ การนอนปกติ การขับถ่ายปกติ

- ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก(细)

ครั้งที่3 (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564) :

- ผู้ป่วยอาการดีขึ้นตามลำดับ อ่อนเพลียลดลง ไม่มีอาการปวดท้องท้องอืดหลังรับประทานอาหาร ไม่มีอาการเวียนและปวดศีรษะ อาการขี้หนาวน้อยลง มือเท้าเย็นหายไป การทานอาหารปกติ การนอนปกติ การขับถ่ายวันละ 1ครั้ง ค่อนข้างเหลว

- ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก(细)

ครั้งที่4 (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564) :

- ผู้ป่วยอาการดีขึ้นตามลำดับ อ่อนเพลียลดลง ไม่มีอาการปวดท้องท้องอืดหลังรับประทานอาหาร ไม่มีอาการเวียนและปวดศีรษะ อาการขี้หนาวหายไป มือเท้าเย็นหายไป การทานอาหารปกติ การนอนปกติ การขับถ่ายปกติ

- ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กมีแรง(细有力)

ครั้งที่5 (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564) :

- ตรวจเลือดเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ค่า HCT เพิ่มขึ้นเป็น 35% (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ระหว่าง 36-48%)

- ผู้ป่วยอาการดีขึ้นตามลำดับ อ่อนเพลียลดลง สามารถออกกำลังกายได้ ไม่มีอาการปวดท้องท้องอืดหลังรับประทานอาหาร ไม่มีอาการเวียนและปวดศีรษะ อาการขี้หนาวหายไป มือเท้าเย็นหายไป การทานอาหารปกติ การนอนปกติ การขับถ่ายปกติ

- ลิ้นสีแดงอ่อนฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กมีแรง(细有力)

สรุปผลการรักษา

          จากเคสตัวอย่างของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแสดงให้เห็นว่ายาสมุนไพรจีนสามารถรักษาโรคโลหิตจางได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขมากขึ้นและพอใจในผลการรักษา

วิเคราะห์ผลการรักษา

          ผู้ป่วยมีการควบคุมอาหารด้วยตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้สารอาหารไม่เพียงพอในการนำไปใช้สร้างพลังงานและเลือด อีกทั้งในทางทฤษฏีการแพทย์แผนจีนม้ามและกระเพาะอาหารเป็นแหล่งสร้างชี่และเลือด การควบคุมอาหารอย่างไม่ถูกต้องส่งผลให้กระเพาะอาหารและม้ามอ่อนแอลง ส่งผลให้การสร้างชี่และเลือดทำได้น้อยลง ผู้ป่วยมีอาการขี้หนาว มือเท้าเย็น เป็นลักษณะของพลังหยางที่พร่องไป หลังอาหารมีอาการปวดท้องท้องอืดก็เป็นเหตุจากพลังหยางของกระเพาะอาหารที่มีไม่เพียงพอจะย่อยและผลักดันอาหารให้ลงไป จึงเกิดการคั่งค้างและปวดขึ้น เมื่อร่างกายมีชี่และเลือดไม่พอหล่อเลี้ยงจะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอทำให้มีอาการเวียนและปวดศีรษะ อ่อนเพลียเป็นต้น การรักษาทำได้โดยให้ยาที่มีฤทธิ์บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมพลังหยาง โดยเลือกใช้ตำรับหวงฉีเจี้ยนจงทางและฟู่จื่อหลี่จงหวาน ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการทานอาหารให้ได้โภชนาการที่ถูกต้อง เมื่อม้ามและกระเพาะอาหารมีกำลังมากขึ้น พลังหยางมีมากเพียงพอก็จะส่งผลให้การย่อยอาหารเป็นไปอย่างราบรื่น การสร้างชี่และเลือดทำได้อย่างสมบูรณ์ อาการเจ็บป่วยต่างๆของผู้ป่วยก็จะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้