Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 8281 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคไขกระดูกเสื่อม (Myelodysplastic Syndromes ,MDS) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด ส่งผลให้จำนวนของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดตํ่าลง โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีเม็ดเลือดต่ำเพียงชนิดเดียวหรือ 2-3ชนิดร่วมกันก็ได้ โดยพบภาวะเม็ดเลือดแดงตํ่าได้บ่อยที่สุด โรคนี้มีการแสดงออกของอาการที่หลากหลายตามแต่ชนิดของเม็ดเลือดที่ตํ่่าลง อาทิเช่น ผิวหนังซีดผิดปกติ โลหิตจาง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ตามผิวหนังมีจ้ำเลือดผิดปกติ ฟกช้ำ เลือดออกมาก มีไข้ เจ็บป่วยเรื้อรัง ติดเชื้อง่าย เป็นต้น อีกทั้งโรคนี้ยังอาจมีการดำเนินโรคต่อเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้ถึงร้อยละ 30
อุบัติการณ์ของโรคเลือดจางเอ็มดีเอสที่รายงานในต่างประเทศพบประมาณ 3-5 รายต่อประชากร 1 แสนคน ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ โดยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี ดังนั้นอุบัติการณ์ในผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี จะสูงขึ้นเป็นประมาณ 20 รายต่อ 1 แสนคน
สาเหตุของการเกิดโรคไขกระดูกเสื่อม
1. ความผิดปกติทางพันธุกรรม
2. การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด พบได้ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วย
3. การได้รับการฉายรังสี พบได้ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วย
4. สารเคมี เช่น เบนซิน ยาฆ่าแมลง
5. การสูบบุหรี่
6. โรคไขกระดูกฝ่อ ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคMDS ได้
อาการแสดง มีลักษณะดังนี้
1.หากเม็ดเลือดแดงต่ำ จะมีอาการโลหิตจาง ผิวหนังสีหน้าจะซีดเซียว เหนื่อยง่าย หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น
2.หากเม็ดเลือดขาวต่ำ จะมีอาการติดเชื้อง่ายกว่าคนทั่วไป ป่วยเรื้อรัง มีไข้
3.หากเกล็ดเลือดต่ำ จะมีอาการเลือดออกแล้วหยุดยาก เลือดออกง่าย เช่น เลือดออกที่เหงือก ฟกช้ำ มีจ้ำเลือดผิดปกติ เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากผิดปกติ ตาพร่ามัว(หากมีเลือดออกที่จอตา) เป็นต้น
การรักษาโรคไขกระดูกเสื่อมด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
โรคไขกระดูกเสื่อมในทางการแพทย์แผนจีนจะเรียกชื่อโรคตามอาการที่แสดงออก โดยหากมีอาการโลหิตจางเป็นหลักจะถูกจัดอยู่ในโรค “虚劳”(ซวีเหลา) หากมีอาการเลือดออกเป็นหลักจะถูกจัดอยู่ในโรค“血证”(เสวี่ยเจิ้ง) ตับและม้ามโตเป็นหลักจะจัดอยู่ในโรค“积聚”(จีจวี้) หากมีไข้เป็นหลักจะจัดอยู่ในโรค“内伤发热”(เน่ยซางฟาเร่อ) หรือ“热劳”(เร่อเหลา) ในปี 2012 กรมแพทย์แผนจีนมีการใช้คำว่า “髓毒劳”(สุ่ยตู๋เหลา)
โรคไขกระดูกเสื่อมในทางแพทย์แผนจีนตำแหน่งของโรคอยู่ที่ไขกระดูก ม้ามและไตเป็นหลัก
ในระยะเริ่มแรกมักพบชี่และอินพร่อง หรือม้ามและไตพร่อง การรักษาใช้การบำรุงเจิ้งชี่เป็นหลัก ในระยะกลางและท้ายผู้ป่วยมักจะมีทั้งอาการพร่องและแกร่งร่วมกัน โดยอาการแกร่งจะแสดงออกมาให้เห็นภายนอก การแยกแยะกลุ่มอาการจะแบ่งเป็น กลุ่มอาการพิษร้อนลุกลาม กลุ่มอาการพิษอุดกั้นภายใน โดยระหว่างที่ในการบำรุงเจิ้งชี่เป็นหลักนั้น ควรมีการใช้การขับพิษร้อน การกระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่งร่วมด้วย
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการชี่และอินพร่อง Pattern / syndrome of dual deficiency of qi and yin (气阴两虚证Qì yīn liǎng xū zhèng)
อาการหลัก : สีหน้าอมเหลือง อ่อนเพลีย ใจสั่น หายใจสั้น เหงื่อออกง่ายหรือเหงื่อออกกลางคืน มือเท้าร้อน
อาการรอง : ไข้ต่ำ ปากแห้งคอแห้ง ผิวมีจ้ำเลือด เลือดกำเดาไหลหรือถ่ายเป็นเลือด
ลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าน้อย ชีพจรเล็กลึกหรือเล็กอ่อน(沉细或细弱)
การรักษา : บำรุงชี่และเลือด เสริมอิน ขับร้อน
2. กลุ่มอาการม้ามและไตหยางพร่อง Pattern / syndrome Spleen-kidney yang deficiency(脾肾阳虚证Pí shèn yáng xū zhèng)
อาการหลัก : สีหน้าไม่สดใสหรือใบหน้าบวม หายใจสั้น อ่อนเพลีย เมื่อยเอวและเข่า ขี้หนาว
อาการรอง : มีเสียงในหู ขี้ลืม เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว
ลิ้นและชีพจร : ลิ้นใหญ่สีซีด ฝ้าขาว ชีพจรจมและไม่มีแรง(沉无力)
การรักษา : บำรุงไตและม้าม บำรุงชี่และเลือด
3. กลุ่มอาการพิษร้อนลุกลาม Pattern / syndrome Heat toxin (热毒证Rè dú zhèng)
อาการหลัก : สีหน้าอมเหลือง อ่อนเพลีย กลัวหนาวมีไข้สูง หรือไข้สูงไม่ลด ผิวมีจ้ำเลือด เลือดกำเดาไหลหรือถ่ายเป็นเลือด
อาการรอง : เหงื่อออกมาก กระหายและอยากดื่มน้ำ อุจจาระแห้งแข็ง ปัสสาวะเหลือง
ลิ้นและชีพจร : ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรเร็วแรง(数有力)
การรักษา : ขับพิษร้อน ทำให้เลือดเย็น ระงับเลือด
4. ภาวะ/กลุ่มอาการเลือดอุดกั้นภายใน Pattern / syndrome Blood stasis (血瘀证Xuè yū zhèng)
อาการหลัก : สีหน้าหมองคล้ำ ริมฝีปากซีดคล้ำ ผิวมีจ้ำเลือดสีคล้ำ
อาการรอง : สีข้างแน่นเป็นก้อน ปวดตามตัวและกระดูก มีก้อนเนื้อนูนขึ้น อ่อนเพลีย
ลิ้นและชีพจร : ลิ้นซีดคล้ำ หรือขอบลิ้นมีจ้ำเลือด ฝ้าบาง ชีพจรลึกฝืดหรือลึกเล็ก(细涩或沉细)
การรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ขับพิษ สลายก้อน
ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยโรคไขกระดูกเสื่อมที่แผนกอายุรกรรม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ-นามสกุล นาย จXXX เพศชาย อายุ 69 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย 308XXX
วันที่รับการรักษา วันที่ 2 สิงหาคม 2562
อาการสำคัญ อ่อนเพลีย 9 เดือน
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
เมื่อช่วงประมาณ9เดือนก่อนผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย จึงได้ไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลพบว่าเม็ดเลือดขาวสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หลังจากทำการตรวจไขกระดูกเพิ่มเติม แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคไขกระดูกเสื่อม(MDS) รักษาด้วยการให้ Hema-Plus 10,000 IU 3ครั้ง/อาทิตย์ และFilgrastim 300 ug 1ครั้ง/อาทิตย์ โดยทุก 3อาทิตย์จะนัดตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด 1ครั้ง แต่ผลที่ได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยทุกเดือนหลังจากตรวจเลือดจะต้องได้รับการถ่ายเลือดเพิ่ม 4-5ยูนิต และนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ 1คืน
ผลเลือด วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 (ก่อนให้เลือด)
Hb 6.2 , Hct 20.1 , RBC 2.15 , WBC 6.16 , Neu 73 , Lym 20 , PLT 46
ผลเลือด วันที่ 1 สิงหาคม 2562 (หลังให้เลือด)
HCT 33.4
ประวัติปัจจุบัน
- อ่อนเพลีย
- ทานอาหารได้ปกติ
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 3ครั้ง
- ขับถ่าย 2วัน/ครั้ง (รับประทานยาถ่าย) ถ่ายเหลว
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต เบาหวาน(ฉีดอินซูลิน) ไขมันในเลือดสูง(รับประทานยา) ทานยาละลายลิ่มเลือด มีประวัติดื่มสุรา
การตรวจร่างกาย
ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาว ชีพจรตึง(弦)
การวินิจฉัย
แพทย์แผนจีน: โรคซวีเหลา虚劳(อ่อนเพลีย) จากกลุ่มอาการม้ามและไตหยางพร่อง(脾肾阳虚证)
แพทย์แผนปัจจุบัน: โรคไขกระดูกเสื่อม
การรักษา บำรุงชี่และเลือด บำรุงม้ามและไตหยาง
คำแนะนำจากแพทย์แผนจีน
1.ระวังการเดินทางต่างๆหรือการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ให้ลื่นล้มหรือกระทบกระแทกใดๆอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันเลือดออกภายใน
2.ไม่ทานอาหารรสจัด ของทอด น้ำเย็น และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด สดใหม่
3.พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
4.หากเกล็ดเลือดต่ำ ไม่ทานอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น
5.หลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือบริเวณที่มีเชื้อโรคระบาด
6.สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด รักษาความอบอุ่นของร่างกาย
หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่1 วันที่ 13 สิงหาคม 2562
- อาการอ่อนเพลียดีขึ้น มีแรงมากขึ้น
- ความอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 3-4 ครั้ง
- ขับถ่าย 2วัน/ครั้ง (รับประทานยาถ่าย) ถ่ายเหลว
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
- ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาว ชีพจรตึง(弦)
หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่2 วันที่ 22 สิงหาคม 2562
- เนื่องจากผลเลือดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ต้องให้เลือดอีกครั้ง ในวันที่21 สิงหาคม 2562
- อาการอ่อนเพลียดีขึ้น มีแรงมากขึ้น
- ความอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 3 ครั้ง
- ขับถ่ายวันละ 1ครั้ง (รับประทานยาถ่าย) ถ่ายเหลว
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
- ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาว ชีพจรตึง(弦)
ผลเลือดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562
Hb 9 Hct 27.9 RBC 3.11 PLT 25 WBC 4.5
หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่3และ4 วันที่ 5 กันยายน 2562
- อาการอ่อนเพลียดีขึ้น มีแรงมากขึ้น
- ความอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 3-4 ครั้ง
- ขับถ่ายวันละ 1ครั้ง (ไม่ต้องรับประทานยาถ่าย) ถ่ายเป็นก้อน ไม่แข็ง
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
- ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาว ชีพจรตึงมีแรง(弦有力)
หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่5 วันที่ 19 กันยายน 2562
- ในครั้งนี้หลังการตรวจเลือดแพทย์แผนปัจจุบันแจ้งว่าสิ้นเดือนนี้อาจไม่ต้องทำการให้เลือด
- อาการอ่อนเพลียดีขึ้น มีแรงมากขึ้น
- ความอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 4-5 ครั้ง
- ขับถ่าย 1-2 วัน 1ครั้ง (ต้องรับประทานยาถ่าย) ถ่ายเป็นก้อน ไม่แข็ง
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
- ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาว ชีพจรตึงมีแรง(弦有力)
ผลเลือดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562
Hb 9.6 Hct 30.1 RBC 2.97 PLT 32 WBC 5.9 Neu 52.5 RDW 24.5
หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่6 วันที่ 3 ตุลาคม 2562
- ผู้ป่วยแจ้งว่าเนื่องจากผลเลือดในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีค่าลดลง จึงยังจำเป็นต้องมีการให้เลือด โดยหลังการให้เลือดค่า Hct เป็น 37.6
- อาการอ่อนเพลียดีขึ้น มีแรงมากขึ้น
- ความอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 4-5 ครั้ง
- ขับถ่าย 1-2 วัน 1ครั้ง (ต้องรับประทานยาถ่าย) ถ่ายเป็นก้อน ไม่แข็ง
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
- ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาว ชีพจรตึงมีแรง(弦有力)
หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่7และ8 วันที่ 24 ตุลาคม 2562
- อาการอ่อนเพลียดีขึ้น มีแรงมากขึ้น
- ความอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 4-5 ครั้ง
- ขับถ่าย 1-2 วัน 1ครั้ง (ต้องรับประทานยาถ่าย) ถ่ายเป็นก้อน ไม่แข็ง
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
- ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึงมีแรง(弦有力)
ผลเลือดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562
Hb 11.6 Hct 37.1 RBC 3.81 WBC 126.2 Neu 87.9 RDW 19.2 PLT 50
หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่9 วันที่ 31 ตุลาคม 2562
- จากผลการตรวจเลือดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 พบว่าค่าเลือดดีขึ้น แพทย์แผนปัจจุบันแจ้งว่าไม่ต้องทำการให้เลือดเพิ่มเติมใดๆ และวางใจให้ทำการนัดตรวจเลือดห่างมากขึ้น โดยครั้งต่อไปนัดตรวจเลือดในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562
- อาการอ่อนเพลียดีขึ้น มีแรงมากขึ้น
- ความอยากอาหารมากขึ้น
- นอนหลับดี ปัสสาวะกลางคืน 4-5 ครั้ง
- ขับถ่าย 1 วัน 1ครั้ง (ต้องรับประทานยาถ่าย) ถ่ายเป็นก้อน ลักษณะเหนียว
- ไม่มีอาการเลือดออก เวียนศีรษะหรือเป็นไข้ใดๆ
- ลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึงมีแรง(弦有力)
ผลเลือดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562
Hb 11.7 Hct 35.5 RBC 3.56 WBC 64.7 Neu 38 RDW 17.1 PLT 45
วิเคราะห์ผลการรักษา
ผู้ป่วยมาด้วยอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะกลางคืนหลายครั้ง ถ่ายเหลว ชีพจรตึง(弦) และลิ้นมีฝ้าขาว จัดเป็นกลุ่มอาการม้ามและไตหยางพร่อง(脾肾阳虚证)เนื่องจากม้ามในทางแพทย์แผนจีนมีหน้าที่ในการสร้างพลังชี่และเลือด จึงทำให้ร่างกายสร้างพลังชี่และเลือดได้ลดลง ประกอบกับไตหยางอ่อนแอลง ทำให้การกักเก็บสารจิงในไตทำได้น้อยลง สารจิงและเลือดนั้นมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน การที่สารจิงน้อยก็จะส่งผลให้เลือดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นการรักษาจึงเน้นไปที่การบำรุงม้ามและไตหยางให้สมบูรณ์แข็งแรง การสร้างเลือดก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น อาการและสุขภาพในภาพรวมของผู้ป่วยก็จะดีขึ้น
อย่างไรก็ตามโรคไขกระดูกเสื่อมจัดเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง การรักษาจะเน้นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาว โดยผลการรักษานั้นจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะเม็ดเลือดต่ำ จำนวนเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนในไขกระดูก และหน่วยพันธุกรรม ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันและการรอดชีวิต
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567