Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 40133 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute low back pain or Nonspecific low back pain)
โรคกล้ามเนื้อหลังช่วงเอวปวด หรือเคล็ดเป็นที่มาของอาการปวดหลังที่พบได้บ่อยที่สุด กล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่างมักต้องรองรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบนและใช้เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ต้องบิดงอและก้มโค้งบ่อย ๆ เกิดความเครียดบริเวณกล้ามเนื้อส่วนเอวที่ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อยืดผิดปกติหรือฉีกขาดได้ อาการปวดเอวเกิดจากเอ็น (แถบเนื้อเยื่อแข็งที่ยึดกระดูกเข้าด้วยกัน) ฉีดขาด ความผิดปกติทั้ง 2 แบบนี้อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บอย่างกะทันหัน หรือการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนี้มากเกินไปมาอย่างต่อเนื่อง อาการปวดเอวหรือเคล็ดอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้
การบาดเจ็บแบบเฉียบพลันของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เยื้อหุ้มกล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มข้อ articular capsuleและ synovial cell ที่บริเวณช่วงหลัง เอวและสะโพกเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณช่วงเอวจนส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย
โรคนี้เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มอาการปวดเอว มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง กลุ่มวัยรุ่นหรือผู้ที่ต้องใช้แรงงานอาชีพที่ต้องก้มเอวทำงานเป็นประจำ ใช้ร่างกายหักโหม กลุ่มคนที่ขาดการออกกำลังกาย และกลุ่มอาการบาดเจ็บจากกีฬา เช่น กีฬาประเภทยกน้ำหนัก สำหรับโรคนี้ถ้ารักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะได้ผลการรักษาที่ค่อนข้างดี
ยกตัวอย่างสำหรับกลุ่มอาการบาดเจ็บจากกีฬายกน้ำหนัก (WEIGHT LIFTING INJURIES)
ยกน้ำหนัก (weightlifting) ในสมัยก่อนมักจะใช้การยกน้ำหนักเป็นการวัดความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการยกถุงทราย การยกหิน การยกเหล็ก การยกกระสอบข้าว การแบกสัตว์แบกสิ่งของต่างๆ โดยสิ่งของที่ใช้ในการแบกหรือยกจะแตกต่างกันไปตามยุคสมัย และแต่ละท้องถิ่น จนได้มีการเผยแพร่และพัฒนาการยกน้ำหนักมาเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ที่มีการแข่งขันระดับภูมิภาค ระดับประเทศ
การยกน้ำหนักไม่มีปีที่เกิดขึ้นอย่างแน่ชัด แต่การแข่งขันกีฬายกน้ำหนักเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค. ศ.1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และได้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในกีฬายกน้ำหนักมาเป็นคานยกครั้งแรกในแถบยุโรปตะวันตก ประมาณช่วงศตวรรษที่ 19 ในยุโรปตะวันตก ต่อมาปี ค. ศ.1920 กีฬายกน้ำหนักได้ถูกบรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาในการแข่งขัน โดยให้กีฬายกน้ำหนักอยู่ภายใต้การดูแลสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติในปัจจุบัน
ท่าที่ใช้ในการแข่งขันยกน้ำหนักทั้งหมด 2 ท่า ได้แก่
1. ท่าสแนทซ์ (The Snatch) คานยกต้องวางอยู่ในแนวราบตรงหน้าแข้งของนักยกน้ำหนัก การจับคานยกต้องจับยกต้องจับโดยการคว่ำฝ่ามือลงแล้วดึงขึ้นจากพื้นในจังหวะเดียว ให้แขนทั้งสองเหยียดตรงสุดอยู่เหนือศีรษะ ในขณะที่ขาทั้งสองข้างแยกออกจากกันหรืองอเข่าย่อตัวลง ในระหว่างการยกอย่างต่อเนื่องนั้น คานยกอาจเคลื่อนที่ผ่านหน้าขาหรือตักก็ได้ และส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายจะสัมผัสพื้นไม่ได้ นอกจากเท้าทั้งสองข้างเท่านั้น ตำแหน่งสุดท้ายในการยกด้วยท่าสแนทช์นี้ แขนและขาต้องเหยียดตรง ปลายเท้าทั้งสองข้างต้องอยู่ในเดียวกัน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องอยู่ในลักษณะนี้จนกว่าผู้ตัดสินจะให้สัญญาณวางคานยกลงบนพื้นได้ การพลิกข้อมือจะกระทำได้ต่อเมื่อคานยกพ้นศีรษะไปแล้วเท่านั้น และนักกีฬาจะจัดท่ายืนใหม่จากท่ายืนแยกขา หรือท่าย่อตัวเพื่อให้เท่าทั้งสองอยู่ในแนวเดียวที่ขนานกับลำตัวและคานยกได้ภายในเวลาไม่จำกัด และผู้ตัดสินต้องให้สัญญาณวางคานยกลงพื้นได้ในทันที เมื่อเห็นว่าทุกส่วนของร่างกายนิ่ง (ดังภาพที่ 1)
ภาพ 1 ท่าสแนทซ์ (The Snatch)
Credit : https://pantip.com/topic/35438958
2. ท่าคลีนแอนด์เจอร์ด (The clean and Jerk) การยกท่าคลีนแอนด์เจอร์ด เป็นการยกที่มีการแบ่งจังหวะออกเป็นสองจังหวะ ดังนี้
จังหวะที่ 1 : ท่าคลีน (The clean) คานยกต้องวางอยู่ในแนวราบตรงหน้าแข้งของนักยกน้ำหนัก การจับคานจะคว่ำฝ่ามือลง แล้วดึงคานยกจากพื้นอยู่ระดับไหล่ด้วยการเคลื่อนไหวเพียงครั้งเดียวในขณะที่ยืนแยกขา หรืองอเข่าลง ระหว่างการดึงคานยกขึ้นสู่ระดับไหล่นี้ คานยกอาจเคลื่อนที่ผ่านตามหน้าขาหรือตักได้ และคานต้องไม่แตะหน้าอกก่อนจะถึงลักษณะสุดท้ายคือ การวางพักคานยกไว้ที่ไหปลาร้าบนหน้าอกเหนือราวนม หรือบนแขนที่งอสุด เท้าทั้งสองกลับไปอยู่ในแนวเดียวกัน ขาทั้งสองเหยียดตรงก่อนที่จะเจอร์ค (คือ การยกน้ำหนักให้แขนทั้งสองเหยียดตรง) นักยกน้ำหนักสามารถจัดตำแหน่งให้อยู่ในลักษณะดังกล่าวได้ โดยไม่กำหนดเวลา และต้องวางเท้าทั้งสองให้อยู่ในแนวเดียวกัน โดยขนานกับคานยกและลำตัว (ดังภาพที่ 2)
จังหวะที่ 2 ท่าเจอร์ค (The Jerk) นักยกน้ำหนักงอเข่าลงทั้งสองข้าง แล้วเหยียดขาพร้อมๆกัน เหยียดขาตรงเพื่อยกคานขึ้นสู่แนวดิ่ง โดยที่แขนทั้งสองเหยียดตรงเต็มที่ นักยกน้ำหนักชักเท้าทั้งสองกลับมาให้อยู่ในแนวกัน ในขณะที่ขาและแขนทั้งสองยังเหยียดตรงอยู่แล้วคอยสัญญาณให้วางคานลงได้จากผู้ตัดสิน โดยผู้ตัดสินจะส่งสัญญาณได้ลดคานยกลงได้ทันทีที่เห็นว่านักยกน้ำหนักยืนนิ่งปราศจากการเคลื่อนไหว (ดังภาพที่ 2)
ภาพ 2 ท่าคลีนแอนด์เจอร์ด (The clean and Jerk)
Credit : https://www.646weightliftinggym.com/what-is-olympic-weightlifting
การบาดเจ็บจากกีฬายกน้ำหนัก (WEIGHTLIFTING)
การบาดเจ็บของนักกีฬายกน้ำหนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บที่หลังส่วนล่างและไหล่ โดยความรุนแรงของการบาดเจ็บพบว่า 85% ของของบาดเจ็บที่บริเวณหลัง และ 80% ของการบาดเจ็บที่เข่ามีความรุนแรงมาก (major injuries) การบาดเจ็บที่พบในนักกีฬายกน้ำหนักประมาณ 50% จะเป็นการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อแบบเฉียบพลัน (acute muscle injuries) หรือเอ็นกล้ามเนื้อที่เกิดจากการใช้งานมากเกินไป (overuse-related tendon injuries) โดยสามารถพบได้ว่าการบาดเจ็บที่หลังส่วนล่างมากที่สุด รองลงมาคือ เข่า และ ไหล่ ประเภทของการบาดเจ็บนั่น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบมากที่สุด การบาดเจ็บที่หลังและไหล่มักเป็นการบาดเจ็บเฉียบพลัน และการบาดเจ็บที่เข่าเป็นการบาดเจ็บเรื้อรัง
สำหรับโรคที่พบได้บ่อยจากการเล่นกีฬายกน้ำหนักในทางคลินิก คือ โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute low back pain or Nonspecific low back pain)
กายวิภาคศาสตร์ของหลัง
กล้ามเนื้อของหลัง (Muscles of back) มีอยู่หลายมัด อยู่ที่เบื้องหลังของลำตัวตั้งแต่หลัง คอ หลังอก ไปจนถึง บั้นเอว ที่ชั้นตื้นมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ อยู่ 2 มัด และชั้นลึกที่สุดอีก 1 มัด
1. Trapezius : ทำหน้าที่ เป็นกล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยมคลุมบริเวณคอด้านหลังลงมาถึงหลัง โดยยึดเกาะ จากแนวกลางของแผ่นหลังส่วนบนไปเกาะที่กระดูกไหปลาร้าทั้งซ้ายและขวา ทำหน้าที่รั้งกระดูกสะบักมาข้างหลัง กล้ามเนื้อส่วนบนเมื่อหดตัวไหล่จะยกขึ้น ส่วนกลางหดตัวจะ ดึงสะบัก 2 ข้างเข้ามาหากัน ส่วนล่างหดตัวจะท้า ให้ไหล่ถูกดึงลง (ดังภาพที่ 1)
ภาพ 1 กล้ามเนื้อ Trapezius
Credit : https://www.google.com/search?q=Trapezius
2.Latissimus dorsi : เป็นกล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยมแบนกว้าง คลุมอยู่ตอนล่าง ของแผ่น หลังและบั้นเอวทอดผ่านไปมุมล่างของกระดูกสะบัก ท้าหน้าที่ดึงแขนเข้าชิดล้าตัว ดึง แขน ลงมาข้างล่าง ด้านหลังและหมุนแขนเข้าด้านใน กล้ามเนื้อนี้ใช้มากในการปีนป่าย ว่ายน้ำ และกรรเชียงเรือ จะหดตัวทันทีใน ขณะที่จาม (ดังภาพที่ 2)
ภาพ 2 กล้ามเนื้อ Latissimus dorsi
Credit : https://www.google.com/search?q=Latissimus+dorsi&tbm
3.Sacrospinalis (Elector spinae) : กล้ามเนื้อ Erector Spinae ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ 3 มัดหลักคือ erector spinae iliocostalis, erector spinae longissimus และ erector spinae spinalis กล้ามเนื้อเหล่านี้วางตัวไปตามแนวความยาวของกระดูกสันหลัง และทำหน้าที่แอ่นกระดูกสันหลังให้ตั้งตรง (ดังภาพที่ 3)
ภาพ 3 กล้ามเนื้อ Sacrospinalis (Elector spinae)
Credit : http://www.musclerockfarm.com/training/view/53/
กลไกของการเกิดอาการกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
1.1 ปัจจัยภายใน กระดูกสันหลังช่วงเอวของคนเราเป็นตำแหน่งศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของร่างกาย รับน้ำหนักครึ่งหนึ่งของร่างกาย เป็นหนึ่งในจุดที่มีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด ดังนั้นบริเวณนี้จึงง่ายต่อการบาดเจ็บ
1.2 ปัจจัยภายนอก การบาดเจ็บระยะเฉียบพลันของเนื้อเยื่อต่าง ๆที่บริเวณเอว มักมีสาเหตุมาจากได้แรงมากระทำมากผิดปกติ หรือ อาจเกิดการการเคลื่อนไหวร่างกายในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง การออกแรงที่มากเกินไป กล้ามเนื้อขาดความพร้อมขณะยกข้องหนัก รวมไปถึงการหกล้ม ทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ ฉีกขาด ทำให้บริเวณนี้มีเลือดคั่ง บวม และเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซมตัวเองของร่างกาย
อาการของโรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
1. มักพบอาการปวดหลังปวดเอวหลังจากการได้รับบาดเจ็บ อาการปวดส่วนใหญ่ค่อนข้างหนักและมีอาการอย่างต่อเนื่อง มีตำแหน่งการปวดที่แน่นอน ผู้ป่วยสามารชี้ระบุตำแหน่งได้
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากนักเวลาเดินมักจะเอามือจับที่เอว ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมักไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือไม่สามารถพลิกตัวขณะนอนได้ เมื่อลุกขึ้นจากที่นอน มีการไอ หรือหายใจลึกๆ มักทำให้ปวดมากขึ้น
3. ผู้ป่วยมากเอามือจับประคองที่เอวเพื่อลดความเจ็บปวด มีการก้าวเดินอย่างระมัดระวัง ก้าวเท้าสั้น ๆ ลงน้ำหนักเบา ๆ ด้วยสีหน้าท่าทางที่ดูทรมาร
การตรวจร่างกาย
1. หลังจากการบาดเจ็บที่บริเวณเอวมีอาการปวดรุนแรง มีลักษณะอาการปวดแบบเข็มแทง ปวดตึง หรือปวดบิด มีตำแหน่งการบาดเจ็บที่ชัดเจน มีอาการบวม บางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่บริเวณสะโพก
2. มีจุดกดเจ็บชัดเจนที่บริเวณสะโพก
3. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีกล้ามเนื้อหดเกร็งข้างเดียวหรือสองข้าง มักพบการบาดเจ็บที่ตำแหน่ง ของ sacrospinalis หรือที่ lumbar fascia
4. ความโค้งของกระดูกสันหลังช่วงเอวลดลงหรือหายไป Decrease lumbar lordosis ผู้ป่วยบางรายอาจมีกระดูกสันหลังคด ผู้ป่วยมักจะเอียงตัวไปด้านที่มีอาการปวด
5.การตรวจร่างกายทดสอบด้วยท่า Straight leg raising test (SLRT)
วิธีตรวจ :ให้ผู้ป่วยนอนหงายราบบนเตียงตรวจ ผู้ตรวจยกขาของผู้ป่วยขึ้นตรงๆ โดยไม่ให้เข่างอ
ในสถานการณ์ที่ไม่สะดวก เช่น การตรวจผู้ป่วยจำนวนมากในเวลาจำกัด อย่างในการตรวจผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลทั่วไป ผู้ตรวจอาจตรวจในท่านั่ง และยกขาผู้ป่วยขึ้นตรง ๆ โดยไม่ให้เข่างอ วิธีนี้สะดวกกว่า แต่มีความไวลดลง
Credit : https://th.wikipedia.org/wiki/C:Straight-leg-test.gif
การแปลผล ถือว่าผลบวกเมื่อมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทไซติกาเมื่อยกขาขึ้นสูงระหว่าง 30-70 องศา ค่านี้มีความไว 91% และความจำเพาะ 26% หากยกขาอีกข้างขึ้นตรงๆ แล้วมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทไซติกาที่ขาข้างที่ไม่ได้ยก (cross straight leg raising) จะมีความไว 29% และความจำเพาะ 88%
6. ควรถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจเช็คว่ามีกระดูกหัก กระดูกเคลื่อนออกจากเบ้า หรือหมอนรองกระดูกเสื่อมตีบแคบลง และต้องตรวจเช็คโรควัณโรคกระดูก หรือมะเร็งกระดูกได้อีกด้วย
การรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
กลไกของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน จัดอยู่ในขอบเขตของโรค “จินซาง筋伤” ในระยะเฉียบพลันจะมีอาการปวด บวม แดงและร้อน เมื่อกระทบความร้อนอาการปวดจะมากขึ้น หรือความเย็นจากภายนอกเข้ามากระทบเส้นเอ็น ทำให้การไหเวียนของชี่และเลือดติดขัด พิสัยการเคลื่อนไหวของหลังถูกจำกัด เมื่อกระทบความเย็นอาการปวดมากขึ้น ในระยะเรื้อรัง การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัดเป็นระยะเวลานาน เส้นลมปราณและเส้นเลือดอุดกลั้น ส่งผลให้เส้นเอ็นยืดติดกัน ก่อให้เกิดอาการปวด
หลักในการรักษา : คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ ลดเกร็งระงับอาการปวด(理筋通络,解痉止痛)
การทุยหนา : ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความอ่อนล้า คลายความหนาแน่นของพังผืด ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริวและอาการอักเสบ หัตถการทุยหนามีขั้นตอนดังนี้
วิธีการรักษา
1. การทะลวงเส้นลมปราณ ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ผู้ทำการรักษายืนอยู่ด้านข้าง ใช้ท่ากดและคลึง(อั้นโหรวฝ่า按揉法)เป็นลำดับแรกที่กล้ามเนื้อช่วงเอว ทำการนวดขึ้นลงสลับกันไปมาเป็นระยะเวลา 3-5 นาที จากนั้นใช้มือทั้งสองข้างนวดท่าบีบคลึง(หนาโหรวฝ่า拿揉)ที่กล้ามเนื้อหลังจนรู้สึกตึงๆ หน่วง ๆ ที่ หากมีอาการปวดเมื่อยหรืออาการชาลงไปที่สะโพกและขา ควรใช้ท่าที่ดัดเอวผู้ป่วยไปทางด้านหลัง 2-3 ครั้ง
2. การบรรเทาอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ผู้ทำการรักษายืนอยู่ด้านข้าง ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดบริเวณเอว 2-3 นาที หลังจากนั้นจึงใช้ท่าดีด (ถานโปฝ่า弹拨法)ที่จุดกดเจ็บหรือบริเวณที่พบกล้ามเนื้อหดเกร็ง จุดละ 2-3 นาที เพื่อบรรเทาอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ
3. การปรับโครงสร้างร่างกาย
3.1 ท่านอนคว่ำดัดเอว ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ผู้ทำการรักษายืนอยู่ด้านข้างและใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างซ้อนกันแล้ววางไว้ที่ตำแหน่งเอว จากนั้นกดลงไปตามแนวกระดูกสันหลังจากบนลงล่าง 3-5 รอบ เน้นนวดที่ตำแหน่งเอวและกระเบนเหน็บ ใช้แรงนวดที่พอเหมาะไม่มากจนเกินไป ผู้ทำการรักษาใช้มือข้างหนึ่งกดที่สะโพกด้านตรงข้ามให้นิ่ง แล้วใช้มืออีกข้างดึงหัวไหล่ด้านตรงข้ามขึ้นมา ออกแรงบิดให้เอวหมุนไปจุดสุด แล้วจึงออกแรงดึงเบา ๆ อีก 3-5 ครั้ง ทำแบบนี้เหมือนกันทั้งสองข้าง
3.2 ท่านอนตะแคงปรับโครงสร้างร่างกาย ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง ขาด้านบนงอเข่า ส่วนขาด้านล่างเหยียดตรง ผู้ทำการรักษาใช้มือข้างหนึ่งจับที่หัวไหล่ผู้ป่วย แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งจับที่สะโพกจากนั้นออกแรงดันสะโพกไปด้านหน้า มือทั้งสองข้างออกแรงดันคนละไปคนละทาง ให้เอวบิดจนได้ยินเสียงกระดูกลั่น ทำท่านี้เหมือนกันทั้งสองข้าง ท่าที่สุดท้าย ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง ผู้ทำการรักษาใช้มืออีกข้างหนึ่งจับไว้ตรงเอวด้านบนตรงกับจุดที่มีปัญหา แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งจับที่หัวเข่าหรือข้อเท้าด้านบน โดยออกแรงดันที่เอวและดึงขา ให้อยู่ในท่าเหยียดขามาทางด้านหลัง ทำ 1-3 ครั้ง ทำท่านี้ทั้งสองข้างเหมือนกัน ท่านี้ใช้จัดกระดูกที่ตำแหน่ง Lumbar facet joints ให้ข้อต่อที่เคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม
3.3. ท่างอเข่าหมุนเอว ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ผู้ทำการรักษายืนอยู่ด้านข้าง ให้ผู้ป่วยงอขาเข้ามาจนหัวเข่าชิดกับหน้าอก ผู้ที่ทำการรักษาใช้มือข้างหนึ่งจับที่หัวเข่าทั้งสองข้าง จากนั้นใช้มืออีกข้างหนึ่งจับที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง จากนั้นออกแรงหมุนหัวเข่าไปตามเข็มนาฬิกา และ หมุนทวนเข็มนาฬิกาและออกแรงกดลงไปที่ท้องรอบละ 3-5 ครั้ง ขั้นตอนสุดท้ายให้ผู้ป่วยนอนหงาย เหยียดขาออกใช้ท่าดึงและสั่นขา (เชียนโต่วฝ่า牵抖法)อีก 2-3 ครั้ง
3.4. การอบอุ่นเส้นลมปราณ ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ ผู้ทำการรักษายืนอยู่ด้านข้าง แล้วใช้ฝ่ามือทำนวดคลึง(อั้นโหรวฝ่า按揉)ลงบ้านกล้ามเนื้อหลังและเอวจากบนลงล่างสลับกันไปมา ให้ทำข้างที่ไม่มีอาการก่อน จากนั้นจึงทำอีกด้านหนึ่ง ทำสลับกันไปมา 3- 5 รอบ หลังจากนั้นใช้ท่าถู โดยกล้ามเนื้อด้านข้างฝ่ามือถูขึ้นลงไปมาตามแนวเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะทั้งสองข้าง และถูในแนวนอนที่บริเวณกระเบนเหน็บ ถูทั้งสองตำแหน่งจนเกิดความรู้สึกอุ่นๆ เป็นอันเสร็จสิ้น ต้องทำร่วมกับการประคบร้อน เพื่อให้เส้นลมปราณไหลเวียนได้อย่างสะดวก สลายเลือดคั่ง
การฝังเข็ม
ยาจีน
พอกยา
อบยา
ข้อควรระวัง
1. ผู้ป่วยในระยะเฉียบพลันควรรีบทำการรักษาให้ทันท่วงที เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บเรื้อรัง
2.ในช่วงที่ทำการรักษาควรนอนพักที่นอนแข็ง และลดการเคลื่อนไหวประมาณ 3-5 วัน เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตนเอง
3.ในขณะทำการรักษาควรเลือกท่านวดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนที่มีสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน เพื่อลดการบาดเจ็บเพิ่มเติมจากการรักษา
4.ต้องรักษาอุณหภูมิของตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ให้โดนความเย็นมากระทบ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรกายบริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง
5. ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการกระทบความเย็น ไม่ควรตากแอร์และพัดลมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณหลัง เนื่องจากเป็นสาเหตุของการเกิดโรค
เทคนิคการดูแลตัวเอง- ก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
1. ควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ แขน ข้อมือ หลัง ขาและข้อเท้า ทุกครั้งก่อนฝึกซ้อม เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเส้นเอ็นรอบข้อต่อ ช่วยลดอาการบาดเจ็บ และป้องกันกล้ามเนื้อและเอ็นฉีกขาดได้ และยังช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นอีกด้วย
2. การเล่นกีฬายกน้ำหนัก ควรศึกษาการยกน้ำหนักให้ถูกวิธี เช่น องศาการยก จังหวะการเปลี่ยนท่าต่างๆ
3. ระหว่างเล่นกีฬา ควรใช้สนับรัดพยุงข้อมือ เข่า และหลัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ไม่ควรออกแรงมากเกินไป เมื่อมีอาการเมื่อยล้าควรหยุดพัก
4. หมั่นประคบอุ่นอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้ร่วมกับตัวยา 活血散 ครั้งละ 15-20 นาที
5. ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร
6. ออกกำลังกายด้วยท่ากายบริหารคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น อี้จินจิง易筋经 ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและเส้นเอ็น สร้างกำลังภายใน บำบัดและป้องกันโรค เช่น
เต้าจ่วยจิ่วหนิวเหว่ย (倒拽九牛尾势)
เป็นท่าที่เลียนแบบท่าลากจูงหญ้าของวัว เน้นไปที่การบริหารกล้ามเนื้อต้นแขน ฝ่ามือ นิ้ว สะโพกและต้นขา ช่วยเพิ่มทักษะของท่านวดทุยหนา เช่น ท่ากด (ท่าอั้นฝ่า 按法) ท่ากลิ้ง (ท่ากุ่นฝ่า 衮法) ยังสามารถใช้เป็นท่าในการบริหารสำหรับโรคกล้ามเนื้อเอวอักเสบเรื้อรัง ข้อเข่าเสื่อม เอ็นข้อไหล่อักเสบ กล้ามเนื้อลีบในผู้สูงอายุ กล้ามเนื้อเอวอักเสบเรื้อรัง
รูปท่าเต้าจ่วยจิ่วหนิวเหว่ย
1. ท่าเตรียม ยืนตรง กางขาออกเท่ากับระยะห่างของไหล่ทั้งสองข้าง
2. ปลายเท้าหันเข้าด้านในเล็กน้อย ย่อเข่าลงอยู่ในท่าม้ายืน เมื่อหายใจเข้า ปล่อยแขนไว้ระหว่างขาทั้งสองข้าง พร้อมกับกำหมัดทั้งสองข้าง ให้หลังหมัดชนกัน เอนลำตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ผ่อนคลายบ่าไหล่ เหยียดศอกตรง สายตามองตรงไปข้างหน้า
3. ยกหมัดสองทั้งสองข้างขึ้นมาระดับหน้าอก เปลี่ยนจากท่ากำหมัดเป็นท่าอุ้มบอล
4. กางแขนทั้งสองข้างออก ให้อยู่ในแนวระนาบเดียวกับไหล่ เหยียดมือ และกางนิ้วออกอย่างผ่อนคลาย
5. หันซ้ายในท่ายิงธนู แขนซ้ายหมุนแขนออกด้านนอก งอข้อศอกและกำหมัด ให้หมัดอยู่ในระดับเดียวกับหัวไหล่ ย่อเข่าซ้ายไม่ให้ย่อเกินปลายเท้าซ้าย เหยียดแขนขวาไปด้านหลัง และหมุนแขนเข้าด้านใน หลังมือห่างจากก้นเล็กน้อย
6. หลังจากนั้นหันกลับมาอยู่ในท่าข้อที่2
7. ทำสองข้างสลับกัน
ท่ากงเว่ย (工尾势)
เป็นท่าบริหารเอวสะโพก เน้นการฝึกกล้ามเนื้อคอ หลัง เอวและก้น ช่วยเพิ่มทักษะของท่านวดทุยหนา เช่นท่าดัดไหล่ (ปานเจียนฝ่า 扳肩法) ท่าดัดเอว(ปานเยาฝ่า扳腰法) เป็นต้น ใช้เป็นท่าในการบริหารสำหรับอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เอ็นข้อไหล่อักเสบ กล้ามเนื้อเอวและหลังอักเสบเรื้อรัง
ท่ากงเว่ย
1. เตรียม ยืนตรง กางขาออกเท่ากับระยะห่างของไหล่ทั้งสองข้าง
2. หงายฝ่ามือขึ้น ยกฝ่ามือขึ้นช้าๆ ผ่านหน้าอกจนเหนือศีรษะ สายตาจ้องมองไปที่มือ ยืนตัวตรง ไม่แอ่นอกหรือยื่นหน้าท้อง
3. ประสานนิ้วมือกัน แล้วพลิกมือออก เอนลำตัวไปข้างหลัง แล้วเงยหน้าขึ้น
4. จากนั้นก้มตัวลงมาด้านหน้า ปล่อยมือออก แล้วดันฝ่ามือลงไปที่พื้น แล้วสายตาจ้องลงไปที่พื้น เมื่อหายใจออกก้มตัวลง และยกส้นเท้าขึ้นจากพื้นเล็กน้อย
5. เมื่อหายใจเข้า ค่อยๆยืนขึ้นและให้ส้นเท้าค่อยๆแตะพื้น
ท่าติ่งเทียนเป้าตี้(顶天抱地 )
เป็นท่าพื้นฐานของ คัมภีร์กำลังภายในเส้าหลิน เน้นการฝึกกล้ามเนื้อแขนท่อนบน และกล้ามเนื้อเอว ช่วยเพิ่มทักษะของท่านวดทุยหนา เช่น ท่าคลึง ท่าเขย่า เป็นต้น และช่วยควบคุมการทำงานของชี่ ปรับสมดุลเส้นลมปราณตูและเส้นลมปราณเริ่น และช่วยบริหารของกล้ามเนื้อ biceps femoris, calf triceps, psoas major, rectus abdominis, erector spinae เป็นต้น
ท่าติ่งเทียนเป้าตี้
1. ท่าเตรียม ยืนตรง กางขาออกเท่ากับระยะห่างของไหล่ทั้งสองข้าง วางมือไว้ที่เอว กระดกนิ้วโป้งชี้ขึ้นบน นิ้วที่เหลือชิดเข้าหากัน
2. เปล่งเสียง ออกแรง ดันฝ่ามือทั้งสองข้างขึ้น ปลายนิ้วหันเข้าหากัน เปิดง่ามนิ้วโป้งและนิ้วชี้ออก สี่นิ้วที่เหลือชิดติดกัน ยกฝ่ามือผ่านหน้าอก จากนั้นหมุนแขนไปด้านนอก ดันขึ้นเหนือศีรษะ โดยที่ฝ่ามือหงายขึ้นบน เหยียดข้อศอกตรง หายใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างมีสมาธิ
3. เปล่งเสียง ออกแรง กางแขนทั้งสองข้างไปด้านข้าง จนอยู่ในระดับเดียวกับหัวไหล่ พร้อมกับก้มเอวโค้งไปข้างหน้า หลังจากนั้นพายมือลงพื้น ให้นิ้วชี้สองข้างซ้อนทับกัน ค่อยๆยกเอวขึ้น มือทั้งสองข้างอยู่ในลักษณะคล้ายกับกำลังอุ้มยกของหนัก เมื่อเงยขึ้นมาแล้วให้นำมือทั้งสองข้างมาเท้าเอว
4. เหยียดข้อศอกให้ตรง หักข้อมือออก ดันออกไปทางด้านหลังลำตัว จากนั้นกลับเข้าสู่ท่าเตรียม
เทคนิคการดูแลตัวเอง- หลังออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
1. เสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณข้อมือ หลัง และเข่าให้แข็งแรง
2. หากมีการบาดเจ็บเฉียบพลัน ควรพักการเล่นช่วง 2-3 วันแรก
3. รักษาความอบอุ่นบริเวณหลังอยู่เสมอ
4. หลังการบาดเจ็บ 24-48 ชั่วโมงแรก มีอาการอักเสบ ปวด ให้ประคบเย็น ครั้งละ 15 นาที อาจพอกยา消肿散ร่วมด้วย หลังจากนั้นเริ่มบริหารกล้ามเนื้อหลังร่วมกับการประคบอุ่น ครั้งละ 15 นาที
5. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังจากฝึกกีฬาทุกครั้ง เช่น
ท่าบิดตัว : ท่านี้จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังและช่วยลดความตึงในร่างกายของคุณอีกด้วย เริ่มจากนอนหงายแล้วงอเข่า บิดขาทั้งสองข้างไปข้างใดข้างหนึ่งโดยที่ลำตัวบิดไปด้านตรงข้าม พยายามอย่ายกสะโพกหรือหลังขึ้น ทำท่านี้ค้างเป็นเวลา 2-3 นาทีแล้วสลับข้าง
(ท่าบิดตัว)
ท่างู : ท่าโยคะท่านี้เรียกว่า “งู” หรือ “สฟิงซ์” เป็นท่าบริหารแก้ปวดหลัง แบบง่ายๆ ที่ช่วยบริหารกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างดี เริ่มจากนอนคว่ำ พยายามวางศอกให้ตรงกับหัวไหล่แล้วค่อยๆยกลำตัวขึ้นเหมือนงู ทำท่านี้ค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที แล้วทำซ้ำอีก 4-5 ครั้ง
(ท่างู)
ท่าดึงหัวเข่า : ท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง เริ่มจากนอนหงายแล้วเข่างอข้างใดข้างหนึ่ง เท้าอีกข้างวางราบกับพื้น จากนั้นดึงเข่าให้ชิดหน้าอกของคุณมากที่สุดในขณะที่เท้าอีกข้างหนึ่งให้กดปลายเท้าลง ทำท่านี้ค้างไว้ 2-3 วินาที ทำซ้ำอีก 3-4 ครั้ง
(ท่าดึงหัวเข่า)
ท่าขาเลข 4 : ท่านี้จะช่วยยืดต้นขาและสะโพกของคุณช่วยลดความตึงบริเวณกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง เริ่มต้นจากนอนหงายแล้วพับเข่า วางขาขวาไว้เหนือเข่าซ้ายคล้ายกับเลข 4 จากนั้นดึงลำตัวยกขึ้นให้หน้าอกกับขาชิดกันมากที่สุดจนรู้สึกตึง ค้างไว้สักครู่แล้วสลับข้าง
(ท่าขาเลข 4)
ท่ายืดหลัง : ท่านี้จะช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว เริ่มจากนั่งแล้วเหยียดขาไปข้างหน้าทั้งสองข้าง หายใจเข้ายกมือขึ้นเหนือศีรษะ จากนั้นหายใจออกค่อยๆเอื้อมมือทั้งสองข้างไปแตะที่ปลายเท้า พยายามให้ขาตึง ห้ามงอขา ก้มให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
(ท่ายืดหลัง)
ท่าเด็กหมอบ : ท่านี้เป็นท่าโยคะที่ชื่อว่า “ ท่าเด็กหมอบ” ท่านี้ใช้แรงกดจากหลังส่วนล่างจึงช่วยให้คุณผ่อนคลาย เริ่มจากคุกเข่าลงโดยให้หัวเข่ากว้างออกจากกันเล็กน้อย พยายามขยับลำตัวส่วนบนไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แล้วเหยียดแขนไปด้านหน้าให้มากที่สุด
(ท่าเด็กหมอบ)
บทความโดย
แพทย์จีน กัญธิมา วุฒิ (กาน ตี๋ หม่า)
甘迪玛 中医师
TCM. Dr. Kanthima Wutthi (Gan Di Ma)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1113
-----------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1. กิ่งแก้ว ปาจรีย์. ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ การบำบัดรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู . กรุงเทพมหานคร : ภาคเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563.
2. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การฝังเข็ม รมยา เล่ม1. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.
3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3. นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554.
4. อารี ตนาวลี. ตำราแก่นความรู้ทางออร์โธปิดิกส์ สำหรับแพทยศาสตร์บัณฑิต. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557.
5. China Association of Chinese Medicine. Guidelines for Diagnosis and Treatment of Common Disease of Orthopedics and Traumatology in Traditional Chinese Medicine. Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2012.
6. FanFanHua. Tuinaxue. Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2008.
7. Orthopaedic Knowledge Update : Sports Medicine edited by Griffin LY, AAOS, Rosemont, 1994.
8. https://mthai.com/health/44224.html
--------------------------------------------------------------------
สอบถามข้อมูลการดูแลรักษาสุขภาพ
โดยหลักการและวิธีทางตามธรรมชาติ ใช้อินเพื่อเสริมหยาง ใช้หยางเพื่อเสริมอิน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนแบบผสมผสาน
LINE OA : @HuachiewTCM
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
สถานพยาบาลการแพทย์แผนจีนต้นแบบ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเทศไทย
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567