Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 242120 จำนวนผู้เข้าชม |
* กรุณาอ่านอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่แนะนำให้หาซื้อรับประทานเอง และไม่ใช่ยาสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสโควิดแต่อย่างใด *
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มมีการใช้ยาหรือสมุนไพรที่สามารถนำมาป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด19 กันมากขึ้น
สมุนไพรที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดก็คือ ฟ้าทะลายโจร , กระชายขาว , กระชายดำ ,ขิง ขมิ้นชัน เป็นต้น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคประชาชน
บทบาทของแพทย์แผนจีนต่อประเด็นทางสังคมในการใช้ยาสมุนไพรจีนนั้นได้มีการอ้างอิงงานวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับสูตรยาจีนที่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษา , ฟื้นฟู , ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด19 เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นสูตรไหนที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ก็คือยา “เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล” ซึ่งในปัจจุบัน ช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้เขียนกำลังเรียบเรียงอยู่นี้ ได้เริ่มมีการนำสูตรยาดังกล่าววางขายจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย หรือแชร์ในสื่อออนไลน์บอกต่อกันว่าสามารถป้องกัน รักษาเชื้อไวรัสโควิด19ได้
บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลของสูตรยาชนิดนี้ในเชิงวิชาการว่า สูตรยาดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง “เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล” เป็นสูตรยาที่สามารถป้องกันรักษาได้จริงตามที่บอกกล่าวสรรพคุณไว้หรือไม่ ?
ขอสรุปดังต่อไปนี้
ความเป็นมาของสูตรยา “เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล”
ตัวสูตรยาดังกล่าว ถูกคิดค้นขึ้นโดย ศาสตราจารย์ อู๋ อี่ หลิง (Prof.Wu Yi LING 吴以岭) แห่ง Chinese Academy of Engineering , China ในช่วงปี ค.ศ.2002 ซี่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโรค SARS [1] โดย ศาสตราจารย์ อู๋ อี่ หลิง ได้ทำการวิจัยและคิดค้นยาเหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล โดยอ้างอิงพื้นฐานแนวคิดมาจากคัมภีร์โบราณของศาสตร์การแพทย์จีนได้แก่ "คัมภีร์เวินปิ้งเถียวเปี้ยน"《温病条变》"คัมภีร์เวินอี้ลุ่น"《瘟疫论》และ "คัมภีร์ซางหานลุ่น"《伤寒论》 ทั้งสามคัมภีร์นี้ ถือเป็นคัมภีร์ที่สำคัญของแนวคิดในการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ต่อมาพบว่าตัวสูตรยาดังกล่าวมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัสอย่าง SARS-COV และได้นำมาใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่เป็นหลัก โดยในปัจจุบันถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาทางเลือกในการรักษาหรือบรรเทาอาการไข้หวัดจากเชื้อไวรัสโควิดในประเทศจีนในลำดับต่อมา
“เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล”
มีส่วนประกอบของตัวยาสมุนไพรอะไรบ้าง
เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล เป็นสูตรยาที่ประกอบไปด้วยยาดังต่อไปนี้
1. เหลียนเชี่ยว 连翘
2. จินอิ๋นฮวา 金银花 (ดอกสายน้ำผึ้ง)
3. จื้อหมาหวง炙麻黄
4. เฉ่าขู่ซิ่งเหริน 炒苦杏仁
5. สือเกา 石膏
6. ป่านหลานเกิน 板蓝根
7. หม่าก้วนจ้ง 马贯众
8. ยวี๋ซิงเฉ่า 鱼腥草
9. กว่างฮั่วเซียง 广藿香
10. ต้าหวง 大黄
11. หงจิ่งเทียน 红景天
12. โป้เหอเหน่า 薄荷脑
13. กานเฉ่า 甘草
(คลิก - อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชนิดยาสมุนไพรจีน)
“เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล” ประกอบด้วยตัวยามีทั้งหมด 13 ชนิด โดยมีพื้นฐานเป็นการใช้ยาฤทธิ์เย็นผสมรสเผ็ดและรสขม เพื่อช่วยในการระบายความร้อนและขับพิษออกจากร่างกาย โดยมี เหลียนเชี่ยว 连翘、จินอิ๋นฮวา 金银花 เป็นตัวยาหลักที่ใช้ในการลดไข้ซึ่งเกิดจากพิษร้อน และใช้ร่วมกับ จื้อหมาหวง 炙麻黄、เฉ่าขู่ซิ่งเหริน 炒苦杏仁、สือเกา 石膏 เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนชี่ของปอด เพื่อเสริมการระบายความร้อนออกสู่ร่างกาย ส่วนยาตัวอื่นๆจะทำหน้าที่เป็นตัวเสริมกลไกดังกล่าวร่วมกับการระบายความชื้นออกจากร่างกายบางส่วน
สรรพคุณโดยทั่วไป
“เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล” เป็นสูตรยาที่คิดค้นพัฒนาขึ้นสำหรับการใช้รักษาไข้หวัด มีสรรพคุณในการระบายความร้อนปอด ขจัดพิษร้อนในทางแพทย์จีน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ มีไข้สูง กลัวหนาว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คัดจมูกน้ำมูกไหล ไอ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คอแห้ง และตรวจพบ ลิ้นแดง ฝ้าเหนียวเหลือง
คุณสมบัติเด่นในงานวิจัยทางคลินิก
จากงานวิจัยทางคลินิกที่สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น พบว่าตัวสูตรยามีบทบาทในการรักษาหรือบรรเทาอาการได้หลายโรค ยกตัวอย่างเช่น มีบทบาทในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการตั้งแต่ ไอ เจ็บคอ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย เป็นต้น หรือการรักษาไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หรือ โรคมือเท้าปาก เป็นต้น[2,3]
บทบาทของสูตรยาเหลียนฮัวชิงเวินแคปซูลต่อเชื้อไวรัสโควิด
ถึงแม้ว่าตัวสูตรยาเหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล จะมีความสามารถในการรักษาหรือบรรเทาอาการจากไข้หวัดได้ เหมาะสมกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดในระยะต้นหรือระยะสังเกตการ เพราะมีแนวโน้มจะก่อความร้อนเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงระยะดังกล่าว
แต่หากกลับมาศึกษาในด้านงานวิจัยเชิงลึก กลับพบว่ายังไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการไข้หวัดจากเชื้อไวรัสโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยฉบับหนึ่ง[4] ได้ทำการทดลองตัวสูตรยานี้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด พบว่าสามารถบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากโรคดังกล่าวได้ แต่จำนวนผู้ป่วยที่ใช้ในการทดลองถือว่าเป็นจำนวนน้อยเพียงแค่ 138 คนเท่านั้น จึงไม่สามารถนำมาเป็นตัวยาที่จำเพาะว่าสามารถบรรเทาอาการหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ข้อควรระวังในการใช้สูตรยาเหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล
ถึงแม้จะมีสรรพคุณในการรักษาโรคไข้หวัดได้จริง โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มอาการปอดร้อนเป็นหลัก แต่ยังไม่สามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดจากเชื้อไวรัสโควิดได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งตัวยาจีนภายในสูตรยาดังกล่าว มีตัวยาจีนประกอบอยู่หลายชนิดที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์จีนในการใช้งาน เพราะมีความอันตรายสูงและอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้
ข้อควรระวังในการใช้ยาเหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล (สำคัญ)
1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน หรือ เด็กเล็กและผู้ตั้งครรภ์หรือ ให้นมบุตร
2. ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต
3. ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นต้น
4. ขณะรับประทานยาชนิดนี้ ควรงดบุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารเผ็ด ทอดและมัน
5. ไม่ควรรับประทานร่วมกับยาบำรุงร่างกายอื่นๆ
6. ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดจากความเย็นเป็นสาเหตุ
7. ไม่สามารถใช้เป็นยาประจำตัวได้ หากรับประทานเกินสามวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์
8. ห้ามรับประทานในนักกีฬา
บทสรุปของ เหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล
การใช้ยาจีนใดๆในทางการรักษาหรือเสริมบำรุงนั้น สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญเบื้องต้นคือ ก่อนการใช้ยา หรือกินยา จะต้องมีการวิเคราะห์พื้นฐานสภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาวะ ร้อน เย็น แกร่ง พร่อง ภายในหรือภายนอก เป็นต้น
จึงมีรายละเอียดปลีกย่อยเฉพาะบุคคลและต้องอาศัยประสบการณ์ในการเลือกใช้ยาค่อนข้างสูง ดังนั้น สูตรยาเหลียนฮัวชิงเวินแคปซูล เป็นเพียงสูตรยาตำรับหนึ่งในทางแพทย์แผนจีนที่นำมาใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดโดยทั่วไป ไม่ได้มีคุณสมบัติในการป้องกันโรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัสโควิด
ถึงแม้ยาชนิดนี้จะสามารถนำมามีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิดได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นยาหลักหรือมุ่งหวังให้สามารถรักษาเชื้อไวรัสโควิดให้หายขาดได้
สรุปว่าไม่แนะนำให้หาซื้อรับประทานเองหรือใช้เป็นยาสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสโควิดแต่อย่างใด
บทความโดย แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (ซ่ง เซียน เนี่ยน)
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.619
คลินิกอายุรกรรม
เอกสารอ้างอิง
1. https://baijiahao.baidu.com/s?id=1687595388160488598&wfr=spider&for=pc
2. 周晓平.连花清瘟胶囊 (LHQW)药效与临床应用研究进展[J].
中医药信息,2016,33(1):107—111.
3. 曹文华.连花清瘟胶囊及其基础研究和临床应用Meta分析[J].白城中医院,杏林白城,2018,17(199):171—172.
4. 杨猛.中药连花清瘟治疗新型冠状病毒肺炎的系统评价[J].
中国药物评价,2020,37(2):126—130.
9 ธ.ค. 2567
26 ก.ย. 2567
6 ธ.ค. 2567