Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 14481 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคสายตาสั้น สายตายาวและสายตาเอียง เป็นกลุ่มอาการสายตาที่เกิดจากความผิดปกติของการรับแสง (Refractive errors) ซึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะแบ่งโรคสายตาสั้นเป็นระดับเบา ระดับกลาง และระดับหนัก อาการหลักๆคือ มองในระยะใกล้ชัดเจนแต่จะมองไม่ชัดเจนในระยะไกล
การแยกแยะกลุ่มอาการ
อาการหลัก :มองเห็นชัดในระยะใกล้ มองระยะไกลไม่ชัด ตับและไตพร่อง
หัวใจและม้ามพร่อง
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ตามหลักการของแพทย์แผนจีน สายตาสั้นนอกจากปัจจัยเกิดจากความผิดปกติของการรับแสง (Refractive errors) ในดวงตาแล้ว ยังมีปัจจัยทางร่ายกายอีกด้วย เช่น การที่หัวใจเมื่อยล้าทำลายเสิน ทำให้หยางที่หัวใจถูกบั่นทอน หยางชี่ไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงดวงตา เส้นลมปราณลั่วในตาถูกอุดกั้น หรือเกิดจากเป็นโรคเรื้อรัง ชี่ตับและไตพร่อง ทำให้สารจิงและเลือดไม่พอ
จากสาเหตุข้างต้นบวกกับการใช้สายตาจ้องเป็นเวลานานๆ ทำให้กล้ามเนื้อที่ตาอ่อนแรง เส้นลมปราณลั่วในตาถูกอุดกั้นทำให้เกิดโรคนี้ ดังนั้น การรักษาโรคสายตาสั้นจะต้องให้ความสำคัญที่ตำแหน่งรอบดวงตา ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญในการปรับสมดุลของร่างกายด้วยการรักษาด้วยการฝังเข็ม ซึ่งจะใช้จุดรอบดวงตาและจุดในระยางค์ทั้ง 4
การกระตุ้นจุดเหล่านี้จะช่วยในการทะลวงลมปราณ เพิ่มการไหลเวียนชี่และเลือด บำรุงเลือดอินของตับและไต กระตุ้นหยางชี่ เพื่อบำรุงสายตา
ในมุมมองของศาตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน การฝังเข็มสามารถปรับการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค นอกจากนี้ การฝังเข็มยังมีประสิทธิภาพในการต่อต้านการอักเสบ ลดอาการปวด บรรเทาอาการหดเกร็ง ป้องกันอาการช๊อกและป้องกันอาการชาได้
องค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้กำหนดให้โรคสายตาสั้นสามารถทำการรักษาด้วยการฝังเข็มได้
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
ในช่วงที่รักษาด้วยการฝังเข็มยังจำเป็นจะต้องดูแลปกป้องดวงตา การใช้แผ่นแปะเหม่ยกั๋วถงเรินจะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟู Rhodopsin (เป็นสารสีม่วงพบอยู่ที่เซลล์รูปแท่งในเรตินาของตา) เพิ่มประสิทธิภาพในการการส่งกระแสประสาทในตา และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ดวงตา
การแยกแยะภาวะและกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการชี่และเลือดไม่พอ
อาการแสดงออก :มองระยะใกล้ชัดเจน มองระยะไกลไม่ชัดเจน มีภาวะ Leopard-Spot Pattern (ลายจุดคล้ายลายเสือดาว) บนจอเรตินา ใบหน้าซีดขาว มีอาการอ่อนเพลีย สีลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรเล็กและอ่อนแรง
หลักในการแยกแยะอาการ :สาเหตุเกิดจากใช้สายตามากเกินไปจะทำลายเลือด ซึ่งในทางแพทย์จีน เลือดเป็นต้นกำเนิดของชี่ (血为气之母) เลือดพร่องทำให้ชี่พร่อง เสินกวางไม่สามารถกระจายออกไปไกลได้ การใช้สายตามากไปและการมองภาพในระยะไกลไม่ชัดคือหลักสำคัญในการแยกแยะอาการ
2. กลุ่มอาการตับและไตพร่อง
อาการแสดงออก : มองระยะใกล้ชัดเจน มองระยะไกลไม่ชัดเจน อาจจะเห็นเงาดำลอยไปมา เห็นเป็นวุ้นคล้ายลูกน้ำลอยไปมา (fluid vitreous eye) มีภาวะ Leopard-Spot Pattern (ลายจุดคล้ายลายเสือดาว) บนจอเรตินา หรืออาจจะมีอาการเวียนศีรษะ หูมีเสียง ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน นอนหลับยาก ฝันเยอะ สีลิ้นซีด ชีพจรเล็กและอ่อนแรง หรือชีพจรตึงและอ่อนแรง
หลักในการแยกแยะอาการ :ชี่ก่อนกำเนิดไม่เพียงพอ ชี่หยางพร่องทำให้เสินกวางไม่สามารถกระจายออกไปไกลได้ การมองไม่ชัดแต่แต่อายุน้อย คือหลักสำคัญในการแยกแยะอาการนี้
แนวทางและวิธีการรักษา
1. การฝังเข็ม
หลักในการรักษา :บำรุงตับไต บำรุงชี่ บำรุงสายตา
จุดที่ใช้ :จิงหมิง (BL1) ฉวนจู๋ (BL2) เฉิงชี่ (ST1) กวางหมิง (GB37) เฟิงฉือ (GB20) กันซู (BL18) เสิ่นซู (BL23)
หลักในการใช้จุดฝังเข็ม :จุดจิงหมิง ฉวนจู๋ เฉิงชี่ เป็นจุดใช้บ่อยในโรคเกี่ยวกับดวงตา สามารถบำรุงตับบำรุงสายตา จุดเฟิงฉือ เป็นจุดที่เชื่อมระหว่างเส้นลมปราณเส้าหยางมือ-เท้ากับเส้นลมปราณหยางเหวยม่าย สามารถทะลวงเส้นลมปราณ บำรุงตับบำรุงสายตา
n กันซู เซิ่นซู กวางหมิง สามารถบำรุงตับและไต บำรุงชี่ บำรุงสายตา
จุดเสริมตามอาการ :ม้ามและกระเพาะอาหารพร่องสามารถเพิ่มจุด ซื่อไป๋ (ST2) จู๋ซานหลี่ (ST36) ซานอินเจียว (SP6)
2.การฝังเข็มใบหู
จุดที่ใช้ :จุดตา จุดตับ จุดม้าม จุดไต จุดหัวใจ
วิธีการ : ฝังเข็มครั้งละ 2-3 จุด คาเข็มไว้ประมาณ 30-60 นาที กระตุ้นเข็มเป็นครั้งคราว หรือใช้เข็มสำหรับฝังหูฝังทิ้งไว้ หรือใช้วัสดุติดกดจุดบนใบหู คือ เมล็ดหวังปู้หลิวสิง (เมล็ดผักกาด) แปะไว้ที่จุด 3-5 วัน เปลี่ยน 1 ครั้ง ทำหูสองข้างสลับกัน และให้คนไข้หมั่นนวดกดตำแหน่งที่แปะไว้บ่อยๆ รักษาครบ 5 ครั้งใช้วัดสายตา 1 ครั้ง และติดตามผลการรักษา
3.วิธีเคาะตีจุด
จุดที่ใช้ :จุดข้างๆกระดูกต้นคอถึงจุดต้าจุย และจุดรอบดวงตา
วิธีการ : จุดข้างๆกระดูกต้นคอถึงจุดต้าจุย ใช้การเคาะแรงๆ 5-10ครั้ง ส่วนจุดรอบดวงตาให้เคาะเบาๆจากด้านในวนไปด้านนอก 3-5 ครั้ง ทำวันละ 1 ครั้ง 10 ครั้ง เป็น 1 คอร์สการรักษา
การรักษาโรคนี้ด้วยการฝังเข็ม มีผลการรักษาดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะโรคสายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) จะได้ผลดีมาก แต่การฝังเข็มจะไม่เหมาะสมกับกรณีที่สายตาสั้นตั้งแต่กำเนิด
ในขณะที่รักษาด้วยการฝังเข็ม หากใช้วิธีนวดกดจุดที่กล่าวข้างต้น นวดคลึงต้นคอครั้งละ 10 นาทีร่วมด้วย จะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในช่วงที่รักษาโรคสายตาสั้น
ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้
- โรคสายตาสั้นต้องระษาแต่เนิ่นๆ
- การรักษาต้องใช้เวลา ไม่รีบร้อน
- ไม่รับประทานอาหารตามใจปาก ต้องรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต
- บริหารอารมณ์จิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
- ระมัดระวังในการใช้สายตา หลีกเลี่ยงการใช้สายตาจดจ้องเป็นเวลานานๆ ดูแลบำรุงสายตาสม่ำเสมอ
- หมั่นเคลื่อนไหว ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่นั่ง-นอนเฉยๆนานๆ
เพิ่มการบำรุงด้วยสมุนไพรจีนในช่วงรักษา
1. ถั่วดำและพุทราจีน
อัตราส่วน 1∶1 ต้มทานด้วยกัน ทานวันละเล็กน้อย จะมีผลดีต่อคนที่สายตาสั้นแบบไม่รุนแรง (ต่าสายตาต่ำกว่า 400) และสายตาสั้นเทียม ในกรณีสายตาสั้นค่อนข้างหนักอาจไม่ค่อยเห็นผล
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
- ให้ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงมองออกไปไกลๆ เช่นมองต้นไม้ที่อยู่ไกลๆ มองหลังคาบ้าน ยิ่งไกลยิ่งดี ใช้สายตามองไปในระยะไกลๆ
- ถ้าดวงตาเมื่อยล้า ให้ตาจ้องจมูกตนเอง 5 วินาที แล้วมองไปที่ไกลๆ 5 วินาที ทำสลับกัน 3 รอบขึ้นไป
ภาวะสายตายาว
อายุที่เพิ่มมากขึ้น การทำงานของดวงตาเสื่อมถอยลง ทำให้มองเห็นลำบากในที่ไกล้ การทำกิจกรรมต่างๆในที่ใกล้ นอกจากจะต้องอยู่ในที่ที่มีการหักเหของแสงคงที่บวกกับการใส่ที่มีเลนส์นูนถึงจะสามารถมองเห็นระยะไกล้ได้ชัดเจน อาการแบบนี้คือ ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ (presbyopia)
ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ถือว่าเป็นโรค และไม่ถือว่าเป็นภาวะการหักเหแสงที่ผิดปกติ (Refractive errors) เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนเข้าสู่วัยสูงอายุ
อาการแสดงออกทางคลินิก
อาการไม่สบายของผู้ที่มีภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้สายตา ลักษณะงาน งานอดิเรกที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องทำงานที่ต้องใช้สายตาตลอดเวลา ในระยใกล้และมีความละเอียดจะมีอาการที่หนักกว่าตำรวจจราจรที่คอยดูรถวิ่งและสัญญานไฟจราจรในระยะไกล
มีอาการมองไม่ชัดในระยะใกล้ เช่น ขณะมองหนังสือ เอกสารต่างๆจะเห็นตัวอักษรได้ไม่ชัดซึ่งตรงข้ามกับอาการสายตาสั้น เวลาอ่านหนังสือคนไข้จะเงยหน้าขึ้น เอียงศีรษะไปด้านหลังโดยไม่รู้ตัวเพื่อที่จะทำให้มองตัวอักษรให้ชัดขึ้น และอายุมากขึ้นเรื่อยๆระยะห่างการมองดูหนังสือก็มากขึ้นเรื่อยๆ
เวลาอ่านหนังสือต้องมีแสงที่ค่อนข้างสว่าง ในระยะเริ่มต้น มีอาการดวงตาไม่ค่อยสบายหากอ่านหนังสือในช่วงเวลากลางคืน เพราะว่าแสงสว่างจะไม่เพียงพอ แสงสว่างไม่เพียงพอจะทำให้ ระดับ resolution threshold สูงขึ้น รูม่านตาขยายกว้าง เมื่อรูม่านตาขยายกว้าง จะก่อให้เกิด large dispersion circles ค่อนข้างใหญ่ ทำให้อาการสายตายาวจะเกิดมากขึ้น
อายุที่มากขึ้น ในช่วงกลางวันต้องทำงานที่ต้องใช้สายตามองระยะใกล้จะทำให้ดวงตาเมื่อยล้า ดังนั้น ในเวลากลางคืน ผู้ที่มีภาวะสายตายาวจะชอบอ่านหนังสือในที่มีแสงจ้า บางครั้งถึงขั้นวางโคมไฟอยู่กึ่งกลางระหว่างหนังสือและดวงตา วิธีนี้จะทำให้ความคมชัดของตัวอักษรมีมากขึ้น และยังทำให้รูม่านตาหดเล็กลง แต่วิธีนี้จะมำให้เกิดแสงจ้าเกิดรบกวนสายตา และแสงจ้านี้จะเข้าใกล้ optical axis มีผลกระทบต่อการมองเห็น นี่ก็คือสาเหตุที่ผู้สูงอายุหลายคนชอบอ่านหนังสือภายใต้แสงแดดมากกว่า
ไม่ควรจ้องมองระยะใกล้เป็นเวลานาน การฝึกปรับโฟกัสของตาสามารถมองเห็นระยะไกล้ได้ชัดขึ้น แต่ถ้าทำมากเกินไปจะทำให้เนื้อเยื่อ Ciliary body เกร็งตัว เมื่อมองจ้องในจุดโฟกัสที่ไกลอีกครั้ง เนื้อเยื่อ Ciliary body ผ่อนคลายไม่ทัน ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราว ถ้ากลับมามองใกล้อีกก็จะเกิดอาการตามัวไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นอาการแสดงออกของ Regulatory Sluggishness เมื่อการทำงานของเนื้อเยื่อ Ciliary body ถึงขีดจำกัดจะทำให้เกิดการอ่อนล้า ทำให้ประสิทธิภาพการโฟกัสของตาลดลง ผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้สายตาระยะไกล้ได้ยาวนาน
ขณะเดียวกันการที่ตาปรับโฟกัสเพื่อรวมภาพต้องมีการขยายและหดตัวกล้ามเนื้อ การทำให้ดวงตาปรับโฟกัสมากไป จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา อาจจะมองตัวอักษรสลับบรรทัดหรือมองตัวอักษรเป็นภาพซ้อน จนไม่สามารถอ่านหนังสือต่อไปได้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการแน่นดวงตา น้ำตาไหล ปวดศีรษะ คันดวงตาร่วมด้วย
การรักษาภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ
"โรคของผู้สูงอายุ สามารถใช้จุดอันวิเศษนี้ได้ !!"
ในตำราของแพทย์แผนจีน ที่ข้อมือจะมีจุดฝังเข็มที่ใช้ในการรักษาภาวะสายตายาว ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคของผู้สูงอายุ ชื่อว่าจุด หยางเหล่า (SI6)
วิธีหาจุด :จุดหยางเหล่าอยู่บริเวณข้อมือ (ดังรูป) ต้องคว่ำฝ่ามือลงนวดกดจุด แล้วกดที่จุดตรงกระดูกข้อมือที่นูนออกมา จากนั้นงอข้อศอกพร้อมให้ม้วนมือไปทางหน้าอก จุดที่กดก็จะอยู่ตีงรอยบุ๋มตรงกระดูกนี้ ซึ่งก็คือจุดหยางเหล่า
สรรพคุณ :การนวดกดจุดหยางเหล่าเป็นประจำ ช่วยบำรุงศีรษะบำรุงสายตา บำรุงให้หยางชี่เพียงพอ บำรุงเส้นเอ็นทะลวงลมปราณ ใช้รักษาของผู้สูงอายุเช่น โรคสายตายาว หูมีเสียง หูหนวก โรคกระดูกต้นคอ อาการชาปลายนิ้ว อัมพาตครึ่งซีก เจ้บคอ ปวดไหล่ ได้ผลค่อนข้างดี
วิธีนวด :ใช้วิธีนวดคลึงด้วยนิ้วแบบ “โหรวฝ่า(揉法)” ใช้กลางนิ้ววางที่จุดดังกล่าวผ่อนคลายข้อมือ นวดด้วยแรงที่นุ่มนวลแต่แรงส่งลึกลงไปที่จุด ทำเช้า-เย็นทุกวัน วันละ 10 ถึง 20 ครั้ง ทำต่อเนื่อง 3 เดือน อาการกดเจ็บที่จุดจะน้อยลงเรื่อยๆ อาการสายตายาวและอาการของของผู้สูงอายุอื่นๆจะค่อยๆบรรเทาลง
จุดบำรุงสายตาที่นิ้วโป้ง จุดหมิงเหยี่ยน ฟ่งเหยี่ยน ไท้คงกู่
วิธีหาจุด :ตำแหน่งของจุดนี้อยู่ที่ด้านข้างและตรงกลางของกระดูกข้อนิ้วโป้ง ดังภาพ
สรรพคุณ : จุดหมิงเหยี่ยน ฟ่งเหยี่ยน สามารถบรรเทาโรคตาแดง ยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ
วิธีนวด :คนที่ดวงตาเมื่อยล้าง่าย ควรจะกระตุ้น 3 จุดนี้วันละ 2 ครั้ง วิธีกระตุ้นคือให้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ในมืออีกข้างบีบที่จุด3จุดนั้น แรงกระตุ้นให้บีบพอรู้สึกเจ็บเป็นใช้ได้
จุดบำรุงตาข้างดวงตา ที่มีชื่อว่า จุดฉวนจู๋ จิงหมิง
ถ้าอยากบำรุงดวงตา จุดฉวนจู๋ จิงหมิงเป็นจุดที่ดีและเหมาสม
วิธีหาจุด :ตำแหน่งของจุดฉวนจู๋อยู่บริเวณรอยบุ๋มที่หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง ส่วนจุดจิงหมิงอยู่ข้างๆเยื้องมาบนของขอบตาด้านใน
สรรพคุณ : จุดฉวนจู๋ สามารถบำรุงตับ บำรุงสายตา ปลุกสมอง ลดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาการหนังตากระตุก ยังมีส่วนช่วยรักษาโรคอัมพาตใบหน้า ใบหน้ากระตุก
การกดจุดจิงหมิงเป็นประจำ สามารถช่วยลบเลือนรอยคล้ำใต้ตา ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ คอไหล่ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปลุกสมองปลุกเสิน บรรเทาอาการน้ำตาไหลจากลมพัด ตาแดง ตาบวมเจ็บ เปลือกตาอักเสบ อาการเมื่อยล้าดวงตา โรคทางดวงตาอื่นๆ สายตาสั้น ตาบอดกลางคืนและตาบอดสี บรรเทาอาการปวดหลังฉับพลัน ไมเกรน โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia)
วิธีนวด :ก่อนจะนวดจุดใกล้ดวงตานี้จะต้องล้างมือให้สะอาดก่อน เพื่อป้องกันติดเชื้อที่ดวงตา ใช้แรงนวดที่เหมาะสม ให้รู้สึกหน่วงก็เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้แรงมากไปจนทำลายดวงตา
ข้อมูลโดย : ศาสตราจารย์ หวังเว่ย
แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน
แปลภาษาไทย : แพทย์จีนหลี่ เฉิง จวิ้น
คลินิกอายุรกรรม
....................................................
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
....................................................
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพท์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีนใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
注意:这份文件的版权和知识产权属于华侨中医院,仅对外宣传和传播科普知识所用。禁止擅自用于任何形式的商业谋利。
Attention: The copyright and intellectual assets are belonged to the Hua Chiew (TCM) Clinic for public knowledge only. It is prohibit to copy for commercial purposes in all cases without permission.
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567