Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 163359 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการอักเสบของปลายประสาท femoral nerve ที่มาเลี้ยงผิวหนังด้านหน้า-ข้างต้นขา (antero-lateral thigh) อาจมีอาการได้หลายแบบ และมักเป็นข้างเดียว เช่น มีอาการชา หรือมีความรู้สึกเหมือนมดไต่หรือแมงมุมไต่หน้าต้นขา บางรายอาจมีอาการปวดเหมือน เข็มทิ่มแทง สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของประสาทรับความรู้สึกที่วิ่งลอดใต้ Inguinal ligament มายังส่วนผิวหนังบริเวณด้านหน้า-ข้างต้นขา เกิดการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ (aseptic inflam-mation) หรือเลือดมาเลี้ยงไม่พอจากการถูกกดทับ ผู้ป่วยหลายรายมักถูกส่งไปพบจิตแพทย์
Cr.Photo : howtorelief.com
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน เชื่อว่าเกิดจากเสียชี่ภายนอก เช่น ลม ความเย็น ความชื้น หรือประสมกันมากระทำต่อเส้นลมปราณกระเพาะอาหาร หรือเส้นลมปราณถุงน้ำดี หรือทั้งสองเส้น พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป หรือในคนอ้วน มีการกดเส้นประสาท femoral nerve ดังกล่าวข้างต้น
แนวทางการรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน
1. การรักษาด้วยการฝังเข็ม
หลักการรักษา : ขจัดเสียชี่ ทะลวงเส้นลมปราณ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม
ในบางกรณี ใช้วิธีการรักษาด้วยเข็มเจ็ดดาว เคาะบนเส้นหลัก เช่น เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร เส้นลมปราณถุงน้ำดี ระยะเวลาในการรักษา อาจทำซ้ำทุก 4 – 7 วันต่อครั้ง 4 ครั้ง เป็น 1 รอบการรักษา ตามสภาพของผู้ป่วย อาจทำครอบแก้วร่วมด้วย ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไป
2. รักษาด้วยการครอบแก้วแบบเคลื่อนที่ (Moving Cupping) แทนเข็มเจ็ดดาว ตามเส้นลมปราณข้างต้น โดยแพทย์จีนที่ทำการรักษาจะเคลื่อนครอบกระปุกแก้วไปมาประมาณ 5 – 10 รอบ หรือจนผิวหนังแดงเป็นเรื่อ ๆ ร่วมกับมีจุดเลือดออก (Petechiae) ทำซ้ำทุก 4 วัน 4 ครั้งเป็น 1 ระยะการรักษา
3. การรักษาเสริมด้วยอายุรกรรมยาจีน ตำรับยาตามพยาธิสภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ในกรณีการทานยาจีน แพทย์ที่ทำการรักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสม
ตัวอย่างผู้ป่วย
หญิงไทย สถานภาพหย่าขาดจากสามี อายุ 62 ปี อาชีพแม่บ้าน มีอาการคันคล้ายแมงมุมไต่บริเวณด้านนอกหน้าต้นขาซ้าย เป็นมานานประมาณ 2 ปี อาการจะเป็นมากในช่วงสาย ๆ เป็นทุกวัน กลาง คืน วันไหนรับประทานยานอนหลับ จะหลับไปไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าตื่นยามดึกจะมีอาการทันที ทำให้นอนไม่หลับ เคยไปพบจิตแพทย์ ได้รับการวินิจฉัยว่า อาจเป็นโรคหลงผิด ได้รับยาประมาณ 1 ปีกว่า อาการไม่ดีขึ้น และมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดจะเป็นลมบ่อยหลังกินยาจิตเวช ผู้ป่วยได้หยุดยาเองมาเป็นเวลาหลายเดือน อาการคล้ายแมงมุมไต่หน้าต้นขายังคงมีอยู่ตลอด ตรวจร่างกาย ต้นขาซ้ายไม่พบผิดปกติ นอกจากชา รับรู้สัมผัสลดลงเล็กน้อย ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็น ปลายประสาทผิวหนังบริเวณต้นขาอักเสบ ได้ยารับประทานประมาณ 1 เดือน อาการไม่ทุเลา
ประวัติเพิ่มเติม
ผู้ป่วยต้องใช้ยานอนหลับเป็นประจำ ตั้งแต่หย่าขาดจากสามีมา 25 ปี อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกอึดอัดใจเป็นบางครั้ง เบื่ออาหาร ลิ้นซีดมีฝ้าขาวบาง ชีพจรอ่อน-เล็ก ได้รับการวินิจฉัยว่า มีเลือดลมพร่อง ร่วมกับปลายประสาทผิวหนังต้นขาซ้ายอักเสบจากลมเย็นรุกราน
หลักการรักษา ขจัดลมเย็น บำรุงเลือดลม ระงับอาการคัน (เมื่อเลือดดี ลมก็หายไป)
วิธีการรักษา แพทย์จีนได้ใช้เข็ม 7 ดาวเคาะ ด้านข้างต้นขาซ้ายลงมาจนถึงจุด FengShi ประมาณ 10 นาทีจนผิวหนังสีออกแดงเรื่อ หลังจากนั้นใช้ครอบแก้ว ประมาณ 10 นาที นอกจากรักษาที่จุดหลักแล้ว ก็มีจุดเสริม ZuSanLi และ SanYinJiao
แพทย์จีนได้นัดผู้ป่วยมาทำซ้ำทุก 7 วัน 4 ครั้ง เป็น 1 รอบการรักษา รักษาได้ 7 ครั้ง ผู้ป่วยแจ้งว่าอาการทุเลาลงมาก
อ่านข้อมูลประกอบการรักษาเพิ่มเติม
ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
ฝังเข็มเจ็บไหม ? อันตรายหรือไม่ ?
โรคที่รักษาด้วยการฝังเข็มได้ผลค่อนข้างดี
การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture
การรักษาด้วยการครอบแก้ว (Cupping Therapy)
รายชื่อแพทย์จีนแผนกฝังเข็ม
การรักษาด้วยยาจีน
กินยาจีนอย่างไรให้ได้ผลดี
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หนังสือการฝังเข็มรมยา เล่ม 3
(การฝังเข็มรักษาอาการปวด)
Acupuncture & Moxibusion Volume 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-0728 -4
11 พ.ย. 2567
21 ต.ค. 2567
15 พ.ย. 2567