ท้องอืดแน่น Abdominal Distention 腹胀

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  32513 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ท้องอืดแน่น Abdominal Distention  腹胀

อาการท้องอืดแน่น พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป อาการอืดแน่นมักเกิดขึ้นทั้งช่วงบนและล่างของช่องท้อง โดยกระเพาะอาหารอยู่ช่วงบนของช่องท้อง ส่วนลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่อยู่ส่วนล่าง ต่างทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์ในการสะสม ย่อย และการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของอาหารที่รับประทานเข้าไปรวมทั้งการกำจัดกากของเสียออกจากร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่กระเพาะอาหารและลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ดีดังเดิม อาการท้องอืดแน่น ปวดท้อง เรอ อาเจียน ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้น

ในบทความนี้จะกล่าวถึงอาการท้องอืดแน่นที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้เท่านั้น ผู้ที่มีอาการท้องอืด  จะรู้สึกปวดท้องส่วนบน  ทำให้แน่นท้อง มีลมในท้อง ต้องเรอบ่อยๆ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็ว หรืออาจมีอาการแน่นท้อง แม้กินอาหารเพียงเล็กน้อย และแสบบริเวณหน้าอก   



เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
1. โรคในระบบทางเดินอาหารเอง ได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร พยาธิในทางเดินอาหาร อาการแสบบริเวณหน้าอก ซึ่งอาจจะเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อนได้

2. โรคที่เกิดจากสิ่งภายนอก ได้แก่ 
• ยาต่าง ๆ ที่ใช้ ยาหลายชนิดจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ ยาแก้ปวดข้อทั้งหลาย
 

• ยาบางชนิด จะทำให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวน้อยลง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะบางอย่าง

 • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เช่น สุรา เบียร์ หรือน้ำชา กาแฟ จะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ รวมทั้งการระคายเคืองจากบุหรี่

 • อาหารที่ย่อยยาก รวมทั้งอาหารที่มีกากมาก อาหารรสจัด อาหารหมักดอง  

3. โรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี 

4.  โรคของตับอ่อน

5.  โรคทางร่างกายอย่างอื่น ๆ เช่น เบาหวาน   โรคต่อมไทรอยด์

6.  พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการท้องอืด โดยเฉพาะอาหารรสจัด จะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ การรับประทานด้วยความรีบร้อน เคี้ยวไม่ละเอียด หรือรับประทานครั้งละมาก ๆ รวมทั้งรับประทานอาหารที่ย่อยยาก อาหารมัน

สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานผัก แม้จะมีเส้นใยมาก ถ้ารับประทานมากไปอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายเราไม่มีน้ำย่อยเส้นใยเหล่านี้ ต้องอาศัยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่เป็นตัวช่วยย่อยสลาย อย่างไรก็ตามอาหารประเภทผักก็มีประโยชน์ เพราะทำให้การขับถ่ายสะดวก

เช่นเดียวกับอาหารประเภทนมนั้น ในคนแถบเอเชียจะไม่มีน้ำย่อยที่ย่อยนม  หรือถ้ามีก็มีปริมาณน้อย เมื่อรับประทานนมเข้าไปมาก อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องเสีย ควรงดหรือค่อย ๆ  ดื่มนมทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายปรับตัวจนดื่มนมได้ในปริมาณที่ต้องการ แต่หากดื่มนมเปรี้ยว จะไม่มีอาการ เนื่องจากในนมเปรี้ยวจะมีการย่อยนมไปเป็นบางส่วนแล้ว

ปัญหาที่พบบ่อยในคนที่ท้องอืด คือ โรคกระเพาะ อาจเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ หรืออาจเป็นโรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แต่ถ้าเป็นบ่อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักจะเป็นสัญญาณเตือนถึงอาการนำอย่างหนึ่งของมะเร็งในช่องท้อง ร่วมด้วยอาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด ซีด ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด
 

การรักษาเบื้องต้น 

อาจใช้ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาขับลม หรือ ยาธาตุน้ำแดงก่อน และปรับอาหารโดยรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่ายแต่พอควร หากไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ ส่วนการรับประ ทานยาช่วยย่อย  อาจช่วยลดอาการท้องอืดได้บ้าง หากอาการไม่ทุเลาลงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืด          

ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้  ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษา 

1. ผู้สูงอายุ เช่น อายุเกิน 40 ปี เริ่มมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจาก พบว่ามะเร็งของกระเพาะอาหาร หรือตับมักจะพบในคนอายุเกินกว่า 40 ปี

2. ในคนที่มีอาการท้องอืดร่วมกับมีน้ำหนักลด

3. มีอาการซีด ถ่ายอุจจาระดำ

4. มีอาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้

5. ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง

6. ปวดท้องมาก

7. ท้องอืดแน่นท้องมาก

8. การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น เช่น อาการท้องผูกมากขึ้น  จนต้องกินยาระบายหรืออาการท้องผูกสลับท้องเดิน  เป็นต้น

การรักษา 
หากพบในผู้ป่วยอายุน้อย ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคที่อันตราย แพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาและแนะนำวิธีปฏิบัติตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกิน และนัดมาพบเพื่อดูอาการ ถ้าไม่ดีขึ้น แพทย์อาจดำเนินการสืบค้นหาสาเหตุ ที่แท้จริงต่อไป 

หากพบในผู้สูงอายุ ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะอาการท้องอืด เป็นอาการนำอันหนึ่งของมะเร็ง ในช่องท้อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน เพิ่มจะมีอาการท้องอืด ในช่วงเวลาสั้น ๆ รวมถึงมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เมื่ออาหารคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด ซีด ควรจะพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจจะเป็นอาการนำของมะเร็ง กระเพาะอาหารได้

หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะดำเนินการ สืบค้นหาสาเหตุต่าง ๆ ในกรณีที่กล่าวข้างต้น และรักษาไปตามสาเหตุ

ข้อแนะนำ และการปฏิบัติตัวในผู้ที่มีอาการท้องอืดและการป้องกัน

ควรงดดื่มสุรา หรือ เครื่องดี่มแอลกอฮอลล์ อาหารรสจัด อาหารหมักดอง บุหรี่ น้ำชา กาแฟ ผู้ที่ดื่มนมแล้วมีอาการท้องอืด หรือท้องเสีย อาจจะขาดน้ำย่อย ใช้ย่อยนม ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการรับประทานและการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรรับประทานอาหารประเภทผักที่มีเส้นใยมาก ๆ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดเกิดขึ้นได้ เพราะเส้นใยอาหาร หรือกากใยอาหาร ร่างกายเราย่อยไม่ได้ ต้องอาศัยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่เป็นตัวช่วยย่อยสลาย แต่อย่างไรก็ตาม อาหารประเภทผัก ก็มีประโยชน์ เพราะทำให้การขับถ่ายสะดวก สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ แต่ควรมีอาหารว่างระหว่างมื้อ รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียดไม่ควรรีบร้อน

สาเหตุ
ศาสตร์การแพทย์จีนแบ่งสาเหตุดังนี้

1) การรับประทานอาการที่ไม่ตรงเวลา หรือทานอาหารปริมาณมากเกินไป จะทำให้หน้าที่ของกระเพาะอาหารและลำไส้เสียไป การย่อยและการดูดซึมไม่สมบูรณ์เกิดอาหารตกค้าง ขัดขวางการไหลเวียนของชี่ หรือแปรเปลี่ยนเป็นความร้อน ซึ่งจะเข้าสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ ก่อให้เกิดอาการท้องอืดแน่น

2) กระเพาะอาหารและม้ามที่อ่อนแอ หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังทำให้การทำหน้าที่ของ

กระเพาะอาหารและม้ามในการลำเลียงและดูดซึมเสียไป การไหลเวียนของชี่กระเพาะอาหารและม้ามไม่ดีดังเดิมจึงเกิดอาการท้องอืดแน่น
 
การวินิจฉัยแยกกลุ่มโรค
1) ภาวะแกร่ง
อาการ : ท้องอืด แน่นอึดอัด กดนวดแล้วอาการเป็นมากขึ้น ปวดท้อง เรอ หายใจมีกลิ่น

เหม็น ปัสสาวะสีเข้ม ท้องผูก บางครั้งมีไข้ร่วมด้วย อาเจียน

ลิ้น  มีฝ้าเหลืองหนา ; ชีพจร  ลื่น-เร็ว (Hua-ShuMai)

วิเคราะห์อาการ : อาหารที่ไม่ย่อยตกค้างในกระเพาะอาหารทำให้เกิดการอืดแน่นในท้อง หายใจมีกลิ่นเหม็น เรอ และอาจอาเจียนได้ หากมีอาหารที่ไม่ย่อยตกค้างในลำไส้จะเกิดการแน่นท้องปวดท้อง ท้องผูก อาหารที่ตกค้างอยู่เป็นภาวะแกร่ง นี่จึงอธิบายได้ว่าการกดนวดจะทำให้อาการเป็นมากขึ้น ภาวะไข้ ปัสสาวะสีเข้ม ลิ้นมีฝ้าเหลืองหนา ชีพจรเร็วและแรงเป็นการบ่งชี้ภาวะมีความร้อนในกระเพาะอาหาร
          

2) ภาวะพร่อง
อาการ : ท้องอืดแน่น กดนวดแล้วอาการดีขึ้น มีเสียงเคลื่อนไหวในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร อ่อนเพลียอิดโรย กระวนกระวาย ปัสสาวะสีใส

ลิ้น  ซีดฝ้าขาว ; ชีพจร แรง

วิเคราะห์อาการ : ภาวะชี่พร่องของม้ามและกระเพาะทำให้การลำเลียงและดูดซึมอาหารผิดปกติไป จึงทำให้เกิดการเบื่ออาหาร มีเสียงเคลื่อนไหวในกระเพาะอาหารและลำไส้ และถ่ายเหลว อาการปวดที่ดีขึ้นจากการกดนวดเป็นภาวะพร่อง เมื่อการลำเลียงและดูดซึมอาหารผิดปกติไป การสร้างชี่และเลือดย่อมน้อยลง จึงเป็นสาเหตุของความอ่อนเพลียอิดโรยและกระวนกระวาย ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรแรงเป็นอาการแสดงของภาวะชี่พร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร

การรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนจีน
1. การใช้ยาจีน
หลักการรักษา : บำรุงม้ามและกระเพาะให้แข็งแรง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูดซึมอาหารได้ดี โดยตำรับยาที่เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย

2. การฝังเข็ม  
หลักการรักษา : ใช้จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณเท้าหยางหมิง ใช้เป็นจุดหลัก ภาวะแกร่งให้ใช้การกระตุ้นแบบระบายเพื่อควบคุมการไหลเวียนของชี่ในอวัยวะกลวง ส่วนภาวะพร่องใช้การกระตุ้นแบบบำรุงหรือร่วมกับการรมยาเพื่อกระตุ้มเสริมหน้าที่ของกระเพาะอาหารและม้ามเพื่อการควบคุมการไหลเวียนของชี่และลดอาการท้องอืดแน่น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

1. การรักษาด้วยยาจีน
2. ข้อแนะนำในการใช้ยาสมุนไพรจีน
3. ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่

4. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
5. การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture

6. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน



ข้อมูลประกอบบทความ  : " หนังสือการฝังเข็ม รมยา เล่ม 3"
Acupuncture & Moxibusion Volume 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-616-11-0728-4


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้