หลักการดูแลตนเองสำหรับผู้ปวดศีรษะ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  17099 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หลักการดูแลตนเองสำหรับผู้ปวดศีรษะ

ตามศาสตร์การแพทย์จีน หากจะวินิจฉัยการปวดศีรษะตามลักษณะอาการปวดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ๆ คือ

1. ปวดศีรษะแบบแกร่ง

สาเหตุเกิดจาก
1.1 ปัจจัยภายนอก ซึ่งก็คือ ลิ่วอิ่น (六淫 : ปัจจัยก่อโรคภายนอกทั้ง 6) คือ ลม ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความแห้งและไฟ แต่สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะคือลมซึ่งลมมักจะชักนำปัจจัยก่อโรคอื่นๆเช่นความเย็น ความร้อนและความชื้นเป็นลมร้อน ลมเย็นหรือลมชื้น ดังนั้นสาเหตุหลักในการเกิดอาการปวดศีรษะแบบแกร่งคือ "ลมเย็น" "ลมร้อน" และ "ลมชื้น"

1.2  ปัจจัยภายในหรือที่เรียกว่าเน่ยซาง (内伤) อวัยวะหลักภายในที่มีความสัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะคือ ตับ ม้ามและไต ตับเป็นอวัยวะหลักที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบแกร่ง เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่การกระจายชี่ หากการกระจายชี่ของตับเสียสมดุลจะเกิดภาวะชี่ติดขัด จนเกิดการอุดกั้นของชี่ หากปล่อยไว้เวลานานจะเกิดความร้อนจนเข้าสู่ภาวะหยางตับแกร่งในที่สุด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจาก การเลือดคั่งและเสมหะสกปรกอีกด้วย

ลักษณะอาการปวดศีรษะแบบแกร่ง

ลักษณะเด่น  มักเกิดโรคแบบเฉียบพลัน รวดเร็ว ระยะเวลาที่เป็นสั้น

หากสาเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอก

1. ลมเย็น  อาการปวดมักรุนแรง ปวดแบบตึงเกร็งหรือโดนดึงรัด  มีการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และปวดหลังร่วมด้วย

2. ลมร้อน  จะปวดแบบพองๆอาจปวดรุนแรงจนถึงขึ้นรู้สึกว่าศีรษะกำลังจะแตกหรือระเบิด

3. ลมชื้น  ปวดแบบตื้อๆหนักๆ เหมือนศีรษะมีอะไรมาโอบรัดคล้ายสวมหมวกหรือโพกผ้าไว้

สาเหตุจากปัจจัยภายใน

1. ตับหยางแกร่ง ปวดศีรษะแบบมึนแน่นโดยเฉพาะด้านข้างศีรษะทั้ง 2 ด้าน  ผู้ป่วยมักมีจิตใจร้อนรุ่ม หงุดหงิดง่าย

2.  เลือดคั่ง ปวดเหมือนโดนเข็มทิ่มแทง มีประวัติการปวดศีรษะมาเป็นเวลานาน ปวดในตำแหน่งเดิมซ้ำๆ

3.  เสมหะสกปรกอุดกั้น  ปวดแบบมึนหนัก อาจมีอาการแน่นหน้าอกร่วมด้วย

ปวดศีรษะแบบพร่อง
สาเหตุเกิดจากปัจจัยภายในเนื่องจากสมองและทะเลแห่งไขสมอง (髓海) การปวดศีรษะแบบพร่องเกี่ยวข้องกับสองอวัยวะหลักคือไตและม้าม เนื่องจากไตสัมพันธ์กับกระดูกและเป็นแหล่งกำเนิดไขสันหลัง ส่วนสมองเป็นแหล่งรวมของไขสันหลัง หากไตพร่องไขสันหลังไม่เพียงพอก็ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ ส่วนม้ามเป็นอวัยวะหลักของระบบย่อยอาหาร เป็นแหล่งกำเนิดของเลือดและชี่เพื่อไปเลี้ยงส่วนอื่นๆของร่างกาย หากม้ามพร่อง สมองจะได้รับการหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน

ลักษณะอาการปวดศีรษะแบบพร่อง

ลักษณะเด่น  มักเกิดโรคแบบช้าๆ เป็นระยะเวลานาน อาการปวดไม่รุนแรง

1. เลือดพร่อง อาการปวดจะไม่รุนแรงแต่จะปวดแบบน่ารำคาญ บางครั้งมีอาการวิงเวียนศีรษะ

2. ไตพร่อง  ปวดแบบกลวงๆโล่งๆ มีอาการวิงเวียน บ้านหมุน มีเสียงในหูร่วมด้วย

การวินิจฉัยการปวดศีรษะตามลักษณะการปวดว่าเป็นแบบแกร่งหรือแบบพร่องหรือวินิจฉัยตามหลักยินหยางเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยเท่านั้น  เพราะศาสตร์การแพทย์แผนจีนยังมีการวินิจฉัยตำแหน่งการปวดซึ่งเชื่อมกับจิงลั่ว (เส้นลมปราณ) ซึ่งจะกล่าวในบทความครั้งต่อไป

ตำแหน่งปวดศีรษะกับจิงลั่ว
หลักจากที่เราวินิจฉัยการปวดศีรษะตามหลักแกร่งพร่อง หลักอินหยางแล้วลำดับต่อมาเราจะมาดูการวินิจฉัยจากตำแหน่งที่ปวดศีรษะว่าเกี่ยวกับจิ้งลั่วใดและสัมพันธ์กับอวัยวะใด เนื่องจากตำแหน่งที่ปวดศีรษะมีความสำคัญต่อการวินิจฉัยและมีผลต่อการเลือกใช้ยา

- ปวดศีรษะบริเวณหน้าผากหรือบริเวณโหนกคิ้วเป็นตำแหน่งจิงลั่วหยางหมิง(阳明)

- ปวดศีรษะบริเวณศีรษะด้านหลัง ต้นคอ ท้ายทอยและบ่า เป็นตำแหน่งจิงลั่วไท่หยาง(太阳)

- ปวดศีรษะบริเวณด้านข้างศีรษะ ขมับ จนไปถึงใบหู เป็นตำแหน่งจิงลั่วเซ่าหยาง(少阳)

- ปวดศีรษะบริเวณกลางกระหม่อม ตลอดจนตาทั้งสองข้างเป็นตำแหน่งจิงลั่วเจวี๋ยอิน(厥阴)

การจำแนกกลุ่มอาการปวดศีรษะตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ปัจจัยภายนอก

1. ปวดศีรษะจากลมเย็น
อาการ :อาการปวดมักรุนแรง ปวดแบบตึงเกร็งหรือโดนดึงรัด  มีการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และปวดหลังร่วมด้วยกลัวลมกลัวความเย็น เมื่อเจอลมเย็นอาการปวดศีรษะหนักขึ้นและเมื่อเจอความร้อนอาการทุเลาลง

ฝ้าลิ้นบางขาว ชีพจร ลอยตึง

หลักการรักษา : ขจัดลมเย็น บรรเทาปวด

2.ปวดศีรษะจากลมร้อน
อาการ :ปวดแบบตึงๆอาจปวดรุนแรงจนถึงขึ้นรู้สึกว่าศีรษะกำลังจะแตกหรือระเบิด มีไข้และกลัวลม หน้าแดง ตาแดง กระหายน้ำ ท้องผูก ปัสสาวะสีเข้ม ปลายลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็ว

หลักการรักษา :ขจัดลมร้อน ปรับเส้นลมปราณ

3. ปวดศีรษะจากลมชื้น
อาการ :ปวดแบบตื้อๆหนักๆ เหมือนศีรษะมีอะไรมาผูกรัดคล้ายสวมหมวกหรือโพกผ้าไว้ รู้สึกหนักเนื้อหนักตัว เมื่อยตามแขนขา แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว ฝ้าลิ้นหนาขาว ชีพจรอ่อนนุ่ม

หลักการรักษา :ขจัดลมชื้น ทะลวงทวาร

ปัจจัยภายใน

1.ตับหยางแกร่ง
อาการ : ปวดศีรษะแบบมึนแน่นโดยเฉพาะด้านข้างศีรษะทั้ง 2 ด้าน  ผู้ป่วยมักมีอารมณ์ร้อนรุ่ม หงุดหงิดง่าย นอนหลับไม่สนิท ปากขม หน้าแดง ปวดเสียดชายโครง ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลือง ชีพจรตึงเร็ว

หลักการรักษา : สงบลมตับ ถ่วงหยางตับให้ลดลง

2. เลือดพร่อง
อาการ : ปวดแบบรำคาญ มีประวัติการปวดศีรษะมาเป็นเวลานาน ใจสั่น  นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย สีหน้าไม่สดใส หากเหนื่อยอาการปวดจะหนักมากขึ้น ลิ้นซีด ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจร ละเอียด อ่อนแรง

หลักการรักษา :บำรุงเลือด เพิ่มอิน ปรับเส้นลมปราณ ระงับปวด

3.  เสมหะสกปรกอุดกั้น 
อาการ :ปวดแบบมึนหนัก อาจมีอาการแน่นหน้าอกร่วมด้วย ไม่อยากอาการ คลื่นไส้ ฝ้าลิ้นขาวหนา ชีพจรลื่นหรือตึงลื่น

หลักการรักษา :บำรุงม้าม กำจัดความชื้น  สลายเสมหะลดเสมหะที่ลอยขึ้นสู่สมอง

4. ไตพร่อง
อาการ :ปวดแบบกลวงๆโล่งๆ มีอาการวิงเวียน บ้านหมุน มีเสียงในหู มีอาการของกลุ่มอาการไตพร่องช่น ปวดเมื่อยเอวหรือขา  เข้าอ่อน อ่อนเพลีย  อสุจิเคลื่อนง่าย ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นน้อย  ชีพจรละเอียดไม่มีแรง

5. เลือดคั่ง
อาการ : ปวดเหมือนโดนเข็มทิ่มแทง มีประวัติการปวดศีรษะมาเป็นเวลานาน ปวดในตำแหน่งเดิมซ้ำๆ ซึ่งกลุ่มอาการเลือดคั่งนี้มักเกิดในผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

หลักการรักษา :เพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับปวด

การรักษาอาการปวดศีรษะด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น นอกจากจะรับประทานยาจีน ฝังเข็ม หรือการทุยหนาแล้ว การดูแลตนเองของผู้ป่วยก็มีความสำคัญเช่นกัน

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อท่านมีอาการปวดศีรษะ วิธีการที่จะแนะนำต่อไปนี้เป็นวิธีง่ายๆแต่ได้ผลดีเยี่ยมและไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย


หลักการดูแลตนเองสำหรับผู้ปวดศีรษะ

1.ผู้ที่ปวดศีรษะโดยปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และปวดหลังร่วมด้วย
มักเกิดในผู้ที่ปวดศีรษะจากลมเย็นผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงอากาศเย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็น น้ำเย็น วิธีการสังเกตตนเองอย่างง่ายคือ หากท่านโดนความเย็นเช่นนั่งทำงานในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศอุณหภูมิต่ำๆ นั่งใต้เครื่องปรับอากาศที่โดนลมกระทบบริเวณศีรษะหรือต้นคอแล้วเกิดอาการปวดเมื่อย หลังจากนั้นจะเริ่มปวดศีรษะ  แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่น นวดผ่อนคลายบริเวณคอบ่าไหล่ และประคบร้อนโดยนำผ้าขนหนูแช่ในน้ำอุ่นบิดพอหมาดแล้วประคบบริเวณที่ปวด หรืออาจใช้ถุงน้ำร้อนแทนก็ได้เช่นกัน

2.ผู้ที่ปวดศีรษะบริเวณขมับ หรือด้านข้างศีรษะทั้ง 2 ด้าน 
มักเกิดในผู้ที่มีภาวะตับหยางแกร่ง  พบในผู้ที่วิตกกังวล มีความเครียด  หากท่านมีอาการปวดศีรษะบริเวณดังกล่าวแนะนำให้ลองนำน้ำแข็งประคบบริเวณที่ปวด โดยเฉพาะขมับซึ่งเป็นบริเวณที่มักเกิดอาการปวดได้บ่อย บริเวณขมับยังมีจุดลมปราณที่เรียกว่า “จุดไท่หยาง” (太阳穴) อยู่บริเวณหางคิ้ว  ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะรวมไปถึงใช้ในผู้ที่รู้สึกสายตาเมื่อยล้าได้อีกด้วย นอกจากจะประคบด้วยน้ำแข็งแล้ว ท่านอาจกดจุดหรือนวดเบาๆบริเวณจุดไท่หยาง เป็นจำนวน3เช็ต เซ็ดละ10-15ครั้ง

3. ผู้ที่ปวดศีรษะโดยปัจจัยภายนอกจากลม
เนื่องจากลมคือสาเหตุหลักของการปวดศีรษะจากปัจจัยภายนอก ในจุดลมปราณมีจุดที่ชื่อว่า “เฟิงฉือ”(风池)เฟิง”(风)หมายถึงลม ดังนั้น “เฟิงฉือ” จึงเป็นจุดที่ศาสตร์การแพทย์แผนจีนใช้รักษาโรคทั้งหมดที่มีสาเหตุจากลม

จุดที่ใช้ในการรักษาอาการปวดศีรษะ

1.  จุดไท่หยาง 太阳穴
ตำแหน่งอยู่บริเวณขมับ โดยใช้นิ้วกลางทาบที่ปลายหางตาในแนวตั้ง ตำแหน่งอยู่กึ่งกลางระหว่างปลายหางคิ้วกับหางตา


Cr.Photo : zhuanlan.zhihu.com 


2. จุดเฟิงฉือ 风池
ตำแหน่งคือบริเวณใต้ฐานกะโหลกศีรษะ  โดยใช้ปลายนิ้วลากจากติ่งหูไปที่แอ่งใต้ฐานกะโหลกศีรษะ


Cr.Photo : www.epochtimes.com

 
3. จุดไป่หุ้ย 百会 เป็นจุดกลางกระหม่อมศีรษะโดยลากเส้นเชื่อมระหว่างยอดใบหูทั้งสองข้างตัดกับเส้นแกนกลางลำตัว


Cr.Photo : epochtimes.com



4.  จุดยิ้นถาง
印堂  
เป็นจุดที่อยู่ระหว่าหัวคิ้วทั้งสอง


Cr.Photo : kknews.cc/astrology


5.  จุดเหอกู่ 合谷 ใช้เส้นลายนิ้วมือบนนิ้วโป้งด้านหนึ่ง ทาบบนหลังฝ่ามือระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ของอีกด้านหนึ่ง




6.  จุดไท่ชง 太冲 อยู่บนบริเวณหลังเท้าแอ่งกระดูกระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ให้คลึงหรือนวดบริเวณจุดที่แนะนำเป็นจำนวน3เซ็ต เซ็ตละ10-15ครั้ง


Cr.Photo : www.kwongwah.com

 
บทความโดย แพทย์จีนกฤตยา   โจ้งจาบ  (จง หยวน หยวน)
แผนกอายุรกรรม  คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาศรีราชา


 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้