ภาวะมีบุตรยากกับการรักษาด้วยแผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  15481 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะมีบุตรยากกับการรักษาด้วยแผนจีน

ภาวะมีบุตรยาก นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้อัตราการเพิ่มจำนวนของประชากรในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งภาวะมีบุตรยากนี้ ก็มีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่คนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในยุคสมัยของเทคโนโลยีมีอัตราการแต่งงานที่ช้าลง ทำให้โอกาสของการตั้งครรภ์มีน้อยลงตามไปด้วยซึ่งสวนทางกับอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปีของแต่ละคู่ หรือแม้กระทั่งปัจจัยทางด้านความเครียด ที่มักจะมาจากแรงกดดันของคนรอบข้าง จากการทำงาน หรือแม้แต่มาจากสภาพเศรษฐกิจโลก ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเกิดความเครียดสะสมมากขึ้น ก็สามารถเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีการคุมกำเนิดใด ๆ มาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี แต่กลับไม่มีสัญญาณของการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หรือในผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วและอยากจะมีบุตรเพิ่ม โดยมีการเตรียมความพร้อมเพื่อจะตั้งครรภ์อีกครั้ง แต่ก็ไม่มีสัญญาณของการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทางการแพทย์แผนจีนถือว่าบุคคลเหล่านี้เข้าข่ายภาวะผู้มีบุตรยากทั้งสิ้น

 การเตรียมตัวก่อนการรักษาภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง - ผู้ชาย
สำหรับการเตรียมตัวก่อนการรักษา "ภาวะมีบุตรยาก" ในผู้หญิง จำเป็นต้องตรวจทั้งหมด 3 ประเภทก่อนการรักษา คือ

1. การตรวจอุลตร้าซาวน์ที่ช่องท้อง มดลูก และรังไข่ ในช่วง 1 สัปดาห์หลังประจำเดือนหมด
2. การตรวจฮอร์โมนเพศ 5 ชนิด คือ FSH, LH, Estradiol, Prolactin และ Progesterone
3. การตรวจดูท่อนำไข่ว่ามีการอุดตันหรือไม่

ส่วนการเตรียมตัวก่อนการรักษาภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย จำเป็นต้องตรวจน้ำเชื้ออสุจิก่อน เพื่อดูว่าเชื้ออสุจิมีปริมาณมากหรือน้อยและมีความแข็งแรงหรือไม่ และควรตรวจหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว 3 - 4 วัน 

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
1. ไตบกพร่อง (ไตอิน-ไตหยาง) ที่สำคัญคือ อิน - หยางในร่างกายไม่สมดุลกัน และตับในทางการแพทย์แผนจีนทำงานบกพร่อง รวมถึงเลือดลมหมุนเวียนไม่ดี จะส่งผลให้ผู้หญิงมีประจำเดือนน้อยกว่าปกติ ซึ่งสามารถสังเกตผู้ที่มีไตบกพร่องง่าย ๆ ได้ดังนี้ 

 1.1 ไตหยาง อ่อนแอ สังเกตได้จากประจำเดือนมาหลัง ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมีสีซีด หรืออาจพบในผู้หญิงที่มักจะประจำเดือนขาด มีอาการปวดขา ปวดเอว ตกขาวเยอะ ถ่ายเหลว ปัสสาวะมีสีใส สีหน้าดำคล้ำ 

1.2 ไตอิน อ่อนแอ สังเกตได้จากประจำเดือนมาก่อน ประเดือนมาน้อย ประจำเดือนมีสีแดงสด หรืออาจพบว่ามีประจำเดือนขาด ร่างกายซูบผอม ปวดเอว ปวดขา เวียนศีรษะ ใจสั่น มีไข้ต่ำ ๆ

2. ชี่ของตับอุดกั้น คือ การที่ประจำเดือนมาก่อน - หลังไม่สม่ำเสมอกัน หรือประจำเดือนมามาก มาน้อย ประจำเดือนมีสีดำคล้ำ และก่อนมีประจำเดือนจะมีอาการคัดหน้าอก ปวดท้องประจำเดือน อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขี้โมโห โกรธง่าย

3. เสลดเสมหะอุดกั้น มักพบในผู้ป่วยหรือบุคคลที่มีรูปร่างอ้วน ประจำเดือนขาด หรือไม่มาเลย หรือมาช้า ตกขาวปริมาณมาก เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น แน่นหน้าอก

4. เลือดคั่ง ส่งผลให้ท่อนำไข่เกิดการตีบตัน หรือ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ มีเนื้องอกฝังอยู่ในมดลูก เกิดพังผืดในมดลูก ปากช่องคลอดมีพังผืด ประจำเดือนมาช้า ประจำเดือนมีสีดำคล้ำ ประจำเดือนมีลักษณะเป็นลิ่ม หรือก้อนเลือด มีอาการปวดท้องประจำเดือน หรือกลางเดือนมักมีเลือดออก ปวดบริเวณก้อนกบ ปวดท้องหน่วงๆ ขณะที่ไม่มีประจำเดือน อาการเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการมีบุตรยากทั้งสิ้น

ทั้งนี้ อาการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงอาการในเบื้องต้นที่หมอจีนนำมาประกอบเพื่อวิเคราะห์หาแนวทางการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนต่อไป เท่านั้น หลังจากนำผลตรวจมาประเมินเพื่อเลือกแนวทาง การจัดตำรับยาสมุนไพรจีนไปรับประทานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนใส่ตัวอ่อนและหลังใส่ตัวอ่อน เป็นการบำรุงร่างกายและเมื่อร่างกายแข็งแรง มดลูกสมดุล และอสุจิแข็งแรง โอกาสประสบผลสำเร็จของการตั้งตรรภ์ก็จะมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น

แพทย์จีน ธนภร ตันสกุล
คลินิกอายุรกรรมนรีเวช - บุรุษเวช


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้