Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 9572 จำนวนผู้เข้าชม |
การตรวจวินิจฉัยโรคทางการแพทย์แผนจีน นอกเหนือจากวิธีตรวจโรคทั้งสี่ ได้แก่ การมองดู (望诊 ว่างเจิ่น) การฟังและการดมกลิ่น (听诊和闻诊 ทิงเจิ่นเหอเหวินเจิ่น) การถาม (问诊 เวิ่นเจิ่น) การจับชีพจรและการคลำ (切诊和按诊 เชี่ยเจิ่นเหออั๋นเจิ่น)
การดูเสิน เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวินิจฉัยด้วยการดู จุดประสงค์ในการตรวจวินิจฉัยโดยการดูนั้น เพื่อประเมินพยาธิสภาพของอวัยวะภายในที่สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นความผิดปกติของร่างกายภายนอก ทำให้เข้าใจถึงสภาวะของโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูใบหน้าและการดูลิ้นนั้น ทางการแพทย์แผนจีนถือว่าเป็นอวัยวะที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอวัยวะภายในมากที่สุด
การดู"เสิน" หรือ "จิตใจ" เป็นสิ่งที่อาศัยอยู่ในหัวใจแต่แสดงออกที่ดวงตา "เสิน" ในความหมายกว้าง หมายถึง การแสดงออกภายนอกของการทำงานของร่างกาย ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานของอวัยวะภายใน ส่วนเสินในความหมายแคบ หมายถึง การทำงานของจิตใจ ซึ่งรวมถึง การมีสติสัมปชัญญะและความคิดอ่านของมนุษย์ ซึ่งการดูเสิน หมายความรวมกันทั้งสองความหมาย
ในการตรวจวินิจฉัยโรคของหมอจีนนอกจากการตรวจพื้นฐานแล้ว การดูเสินก็เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของผู้ป่วยอีกด้วย เสิน เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องการแสดงออกทางใบหน้า ระดับของสติสัมปชัญญะ การเคลื่อนไหว และปฏิกิริยาตอบสนองต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวของลูกตา เพราะดวงตาเป็นทวารของตับ และเป็นตัวสื่อสารของหัวใจ ดังนั้น หัวใจสำคัญของหมอจีนในการดูเสิน คือ "การสังเกตดวงตา"
การมีเสินปกติ (得神เต๋อเสิน)
การมีเสินปกติจะแสดงออกมาโดยการมีสีหน้าแจ่มใส มีความตื่นตัวดี และมีแววตาสดใส การแสดงออกทางอารมณ์เป็นธรรมชาติ การพูดชัดเจน มีสติสัมปชัญญะ มีจังหวะการหายใจสม่ำเสมอ มีกล้ามเนื้อสมบูรณ์แข็งแรง ร่างกายเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ซึ่งอาการแสดงต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของอวัยวะภายในต่างๆ
อาการที่สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของอวัยวะภายใน
อวัยวะภายใน | สิ่งที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์ |
หัวใจ | สีหน้าแจ่มใส การแสดงอารมณ์เป็นธรรมชาติ การพูดชัดเจน มีสติสัมปชัญญะและมีปฏิกิริยาตอบสนองว่องไว |
ปอด | จังหวะการหายใจที่ดีและสม่ำเสมอ |
ม้าม | มีกล้ามเนื้อสมบูรณ์แข็งแรง และการเคลื่อนไหวของแขนขาคล่องแคล่ว |
ตับและไต | มีความตื่นตัวดี และแววตามีประกายสดใส |
ความสมบูรณ์ของอวัยวะตันทั้ง 5 สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย และเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้น ก็จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี
การมีเสินลดลง (少神เส่าเสิน)
การมีเสินลดลง หมายถึง ภาวะที่เสินไม่เพียงพอ ซึ่งแสดงออกโดย การมีสีหน้าไม่แจ่มใส แววตาไม่สดใส ดูเซื่องซึม หายใจสั้น การพูดเนือย ๆ ปฏิกิริยาตอบสนองเชื่องช้า อ่อนล้า และดูง่วงซึม การมีเสินลดลงเกิดจากสารจำเป็นและลมปราณของอวัยวะตันทั้ง 5 ไม่เพียงพอซึ่งมักพบในกลุ่มอาการพร่อง
การไม่มีเสิน (失神ซือเสิน)
การไม่มีเสินสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงอย่างมากของสารจำเป็นหรือมีความเสียหายอย่างมากของเจิ้งชี่ บ่งบอกถึงการทำงานที่ล้มเหลวของอวัยวะภายใน และหมายถึงภาวะวิกฤตของร่างกายซึ่งมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี
การไม่มีเสิน มีอาการแสดงคือ มีสีหน้าหมองคล้ำ แววตาแข็งทื่อ มืดมัว หน้าตาเฉยเมย ไม่แสดงอารมณ์ สภาพจิตใจทรุดโทรม ปฏิกิริยาโต้ตอบเชื่องช้า การหายใจตื้นและอ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบเล็ก การเคลื่อนไหวยากลำบาก บางครั้งไม่ได้สติแต่บ่นพึมพำคนเดียว เอามือจิกดึงผ้าปูที่นอน หรืออาจมีอาการหมดสติไปฉับพลัน ตาปิด อ้าปาก แขนขาอ่อนแรง ปัสสาวะและอุจจาระราด
แสดงการไม่มีเสินมีอาการแสดงที่บ่งบอกถึงการทำงานที่ล้มเหลว
ของอวัยวะตันทั้ง 5
อวัยวะภายใน | อาการที่บ่งบอกถึงการทำงานที่ล้มเหลว |
หัวใจ | สีหน้าหมองคล้ำ ไม่แสดงอารมณ์ สภาพจิตใจทรุดโทรมและปฏิกิริยาตอบสนองเชื่องช้า |
ปอด | หายใจแผ่วเบา หรือหายใจไม่สม่ำเสมอ |
ม้าม | กล้ามเนื้อลีบเล็ก การเคลื่อนไหวยากลำบาก |
ตับและไต | แววตาแข็งทื่อ ตามัว |
การมีเสินปลอม (假神เจี่ยเสิน)
การมีเสินปลอมเป็นปรากฏการณ์หลอกชนิดหนึ่งของการดีขึ้นเพียงชั่วคราวเกิดขึ้นอย่างฉับพลันในผู้ป่วยซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤตหรือป่วยหนักมาก เนื่องจากสารจำเป็นและชี่ลดลงอย่างมากจากภาวะป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง
การมีเสินปลอม มีอาการแสดงคือ มีการเปลี่ยนแปลงของอาการป่วยที่ดีขึ้นอย่างฉับพลัน รวดเร็ว เช่น จากการพูดเนือย ๆ และแผ่วเบา กลายเป็นการพูดฉะฉานชัดเจน เสียงดังฟังชัด หรือจากอาการเซื่องซึมไม่ได้สติ กลายเป็นการมีสติสัมปชัญญะ ร่าเริง หรือจากสีหน้าหมองคล้ำ กลายเป็นแก้มแดง ระเรื่อ หรือจากอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ได้ กลายเป็นเจริญอาหาร รับประทานอาหารได้มากกว่าปกติ
การมีเสินปลอม เป็นอาการที่บ่งบอกว่าสารจำเป็นและชี่กำลังจะหมดไป อินและหยางกำลังจะแยกจากกัน ซึ่งหมายความว่า ภาวะของโรคเข้าสู่ขั้นวิกฤตมาก ในคัมภีร์โบราณ เรียกว่า “แสงสุดท้ายก่อนตะวันตกดิน” หรือ “ แสงสว่างวูบสุดท้ายก่อนเทียนจะดับ”
ความแตกต่างของการมีเสินปกติกับการมีเสินปลอม คือ
1. การมีเสินปลอม มักปรากฎขึ้นหลังจากภาวะไม่มีเสินในผู้ป่วยที่มีอาการหนักมาก และมักไม่สัมพันธ์กับอาการโดยรวมของโรค
2. การมีเสินปลอม มักจะอยู่ชั่วคราว หลังจากนั้นอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว ในระหว่างการดำเนินของโรค ถ้าภาวะของโรคเปลี่ยนแปลงจากการมีเสินปกติไปสู่การมีเสินลดลง หรือจากการมีเสินลดลงไปสู่การไม่มีเสินหรือการมีเสินปลอม แสดงว่าการทำงานของอวัยวะภายในหรือชี่กำลังลดลง และภาวะของโรคกำลังแย่ลง ในทางกลับกัน ถ้าผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงจากการไม่มีเสินไปสู่การมีเสินลดลงหรือการมีเสินปกติ แสดงว่าการทำงานของ อวัยวะภายในและชี่กำลังดีขึ้น ความรุนแรงของโรคกำลังลดลง ดังนั้น การดูเสิน จึงมีความสำคัญทางคลินิกในการดูความเปลี่ยนแปลงของการดำเนินโรค
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567