Last updated: 23 ม.ค. 2568 | 75 จำนวนผู้เข้าชม |
การใช้ยาสมุนไพรจีนรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเหมือนหรือต่างจากยาปัจจุบัน
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเป็นอาการธรรมดาสามัญที่ทุกคนต้องเคยเป็น สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เมื่อเริ่มมีอาการในเบื้องต้น ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะรักษาอาการโดยใช้วิธีทายาคลายกล้ามเนื้อ หรือทายาหม่องก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่เมื่อมีอาการเป็นระยะเวลานาน อาการปวดเมื่อยยิ่งมากขึ้น ยิ่งเรื้อรังจนต้องหาทางรักษาด้วยวิธีอื่น เช่นทำกายภาพ นวดคลายกล้ามเนื้อ ฝังเข็ม หรือรับประทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย แล้วยาสมุนไพรจีนที่ใช้รักษาอาการปวด และช่วยคลายกล้ามเนื้อเหมือนหรือต่างจากยาปัจจุบันยังไง แพทย์แผนจีนสามารถแบ่งกลุ่มยาได้ 4 กลุ่มดังนี้
กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อรักษาเฉพาะส่วน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อครึ่งบนร่างกาย กลุ่มยาที่คลายกล้ามเนื้อส่วนบน ได้แก่ เก่อเกิน เชียงหัว กุ้ยจือ เป็นต้น แต่ถ้าหากปวดเมื่อยกล้ามเนื้อส่วนล่างตั้งแต่เอวลงมา นิยมใช้ตู้จ้ง (โต่วต๋ง) หนิวซี ตู๋ฮัว เป็นต้น ฉะนั้นแล้วยาสมุนไพรจีนจึงมีการแยกแยะชัดเจนว่ายาชนิดใดสามารถใช้รักษาที่ส่วนไหน แพทย์แผนจีนจึงเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคนไข้ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีในการรักษา
กลุ่มยาระงับปวด ในทฤษฎีทางแพทย์แผนจีนอาการปวดส่วนใหญ่ มักเกิดจากการไหลเวียนเลือดที่ติดขัด ดังคำกล่าวที่ว่า “ เลือดไหลเวียนไม่ดี มักทำให้ปวด ” ฉะนั้นยาจีนที่มีสรรพคุณระงับปวด นอกจากจะช่วยแก้ปวดแล้ว ยังต้องช่วยในการไหลเวียนเลือดด้วย เมื่อเลือดไหลเวียนได้ดีอาการปวดจึงทุเลาลง เช่น เหยียนหู ม่อเหย้า ตันเซิน
กลุ่มยาทะลวงเส้นลมปราณและหลอดเลือด เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ โดยมากมักมีอาการปวดรุนแรง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ในบางครั้งมีอาการชาร้าวลงแขนขา ในลักษณะนี้การให้ยาระงับปวด กระตุ้นการไหลเวียนเลือดอาจมีฤทธิ์ไม่เพียงพอ จำต้องให้ยาในกลุ่มทะลวงเส้นลมปราณและหลอดเลือด เช่น ถาวเหริน หงฮวา (ดอกคำฝอย) และยาจำพวกสัตว์ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงตามปลายมือปลายเท้าได้ดีขึ้น
กลุ่มยาขจัดเสียชี่ภายนอก ในบางครั้งอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาจากสาเหตุสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ได้รับลมเย็น ลมร้อน หรือความชื้น ส่งผลให้ร่างกายมีอาการปวดเมื่อยได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาขจัดเสียชี่ภายนอกด้วย เช่น เชียงหัว ตู๋ฮัว หรือเจียงฮัว เป็นต้น ยาสมุนไพรจีนในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ขจัดลมเย็น ลมร้อน หรือความชื้นออกไปจากร่างกายผู้ป่วยอาการปวดจึงลดลง
ข้างต้นจะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นเพียงการรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อธรรมดา แต่ในทางแพทย์แผนจีนไม่เพียงแต่ใช้ยาสมุนไพรเพื่อคลายกล้ามเนื้อ หรือระงับปวดเท่านั้น ทั้งยังต้องคำนึงถึงตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่ปวด ระยะเวลาของอาการที่เกิด การไหลเวียนเลือดและชี่ในร่างกาย หรือสาเหตุจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่ออาการปวดนั้นๆนำมาเพื่อใช้ประกอบในการรักษา ดังนั้นแนวทางการรักษาอาการปวดโดยสมุนไพรจีนจึงแตกต่างจากการรักษาทางแพทย์ปัจจุบันโดยสิ้นเชิง
-------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ธันย์ชนก เอื้อธรรมมิตร (หมอจีน หยาง กุ้ย เหรียน)
杨桂莲 中医师
TCM. Dr. Tanchanok Euathummit (Yang Gui Lian)
แผนกอายุรกรรม
24 ม.ค. 2568
24 ม.ค. 2568
24 ม.ค. 2568