Last updated: 2 ม.ค. 2568 | 64 จำนวนผู้เข้าชม |
“การกิน” เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ดำรงอยู่ได้ หากไม่มีอาหารเข้าสู่ร่างกายเลยสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ก็มิอาจที่จะมีชีวิตอยู่ได้ มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของการมีอยู่ของมนุษยชาติก็พบว่า มนุษย์ให้ความสำคัญกับการกินมาตลอด มีการประยุกต์เทคนิคการทำให้อาหารปลอดภัยต่อการบริโภคมากขึ้น เช่น การใช้ไฟใช้ความร้อนในการปรุงอาหาร การถนอมอาหารรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ไปจนถึงการปรุงแต่งรสชาติอาหารให้มีความหลากหลายและมีรสสัมผัสที่ดีขึ้น ทำให้เกิดอาหารหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายรสชาติไม่มีที่สิ้นสุด หลายคนจึงยกให้การกินเป็น “ความสุข” ประเภทหนึ่ง
ในสมัยโบราณที่มนุษย์เริ่มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพก็เริ่มมีการคิดค้นวิธีที่สามารถช่วยให้มีสุขภาพที่ดีได้ด้วยการกิน มีการคิดค้นยาอายุวัฒนะต่าง ๆ เพื่อความอ่อนเยาว์และมีอายุยืนยาว อีกทั้งการกินเป็นวิธีที่สะดวกสบายที่สุดในการดูแลสุขภาพ เพราะเชื่อว่าเพียงแค่อ้าปากและกลืนอาหารหรือยานั้น ๆ ลงไปก็สามารถมีสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสียทีเดียว นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพเท่านั้น หลายคนจึงลืมหรือทำเป็นไม่สนใจที่จะปฏิบัติ ดังนี้
การออกกำลังกาย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการดูแลสุขภาพ สามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือดในร่างกาย กระตุ้นการขับของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค หรือการรำไทเก็ก ต่างก็เป็นวิธีที่ดีทั้งสิ้น โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-30 นาที และความถี่ประมาณ 3-5 วัน/สัปดาห์
การนอน เป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่ายยิ่งกว่าการกิน แต่ในยุคปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสภาพสังคม การทำงานที่มีความเร่งรีบ สื่อโซเชียลที่มีให้ติดตามอยู่ตลอดเวลา สภาพเศรฐกิจที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องทำงานหนักจนดึก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มีพฤติกรรมการนอนที่เข้านอนค่อนข้างดึก ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm)ในร่างกายเรา การหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ผิดปกติ อาทิเช่น เมลาโทนิน(Melatonin) โกรทฮอร์โมน(Growth Hormone) เป็นต้น ในทางแพทย์แผนจีน การนอนที่ไม่มีคุณภาพส่งผลต่อสมดุลของอิน-หยาง ชี่และเลือดในร่างกาย รวมถึงการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ ก็จะเกิดความผิดปกติขึ้นได้ ในระยะยาวส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรมลง แก่ก่อนวัย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้ การนอนที่ดี แนะนำว่าไม่ควรนอนดึกเกิน 4 ทุ่ม ควรเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา โดยมีชั่วโมงนอนหลับประมาณ 7-8 ชั่วโมง ต่อวัน
ความเครียด เป็นเรื่องที่ดูแลได้ยากที่สุดเพราะมีปัจจัยรบกวนจากภายนอกมากมายที่ทำให้กระทบกับจิตใจของเราได้ และยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลข่าวสารให้เราเสพมากมาย สังคมโซเชียลต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจการทำงานที่แข่งขันกันเข้มข้นขึ้น ค่าครองชีพที่สูงไม่สัมพันธ์กับรายได้ ไปจนถึงค่านิยมการมีครอบครัวที่เล็กลง แต่ความสัมพันธ์กลับห่างเหินกันมากขึ้น ด้วยสาเหตุหรือปัจจัยเหล่านี้จะค่อย ๆ กัดเซาะอารมณ์จิตใจของผู้คนทำให้มีความเครียดสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมายอาทิ โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ เป็นต้น ในทางแพทย์แผนจีนความเครียดส่งผลต่อการไหลเวียนของชี่ และเลือด ไหลเวียนติดขัด สุดท้ายก็จะกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานผิดปกติไป เช่นการที่ชี่ตับไหลเวียนติดขัด จนไปกระทบกับม้าม การย่อยอาหารจึงผิดปกติ เกิดอาการปวดแน่นกระเพาะอาหาร เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
การกินที่ดีไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หากแต่ต้องดูแลทั้งการออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการมีสุขภาพจิตที่ดีไม่เครียดร่วมด้วย หลักการคิดของแพทย์แผนจีนนั้นมองทุกสิ่งเป็นองค์รวม การใช้ชีวิตและใช้ร่างกายจึงต้องเป็นองค์รวมด้วยเช่นกัน ไม่สามารถขาดด้านใดด้านหนึ่งไปได้
ดังนั้นแล้วการดูแลร่างกายในชีวิตประจำวันไปจนถึงเวลาป่วยตามแบบฉบับของแพทย์แผนจีน จึงไม่ควรมองแค่ว่า “ทานอะไรดี” แต่ควรมองว่า “ปฏิบัติตัวอย่างไรดี” ร่วมกันด้วย ถึงจะตอบโจทย์สุขภาพที่ดีได้
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน วรพงศ์ ชัยสิงหาญ (หมอจีน เฉิน จู เซิง)
陈株生 中医师
TCM. Dr. Worapong Chaisingharn (Chen Zhu Sheng)
แผนกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
26 ก.ย. 2567
2 ม.ค. 2568