Last updated: 2 ม.ค. 2568 | 45 จำนวนผู้เข้าชม |
ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งหลังผ่าตัดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ปัจจุบันในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งไม่ว่าจะเป็นการใช้เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือการฉายรังสีบำบัด ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของยา หรือตามสภาวะพื้นฐานของร่างกายตามของแต่ละบุคคล และอาการเบื้องต้นเราสามารถดูแลตัวเองในการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การเลือกรับประทานอาหารเป็นยา หรือการกดจุดเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ดังบทความ “วิธีการกดจุด ช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง” เพื่อดูแลสุขภาพบรรเทาอาการข้างเคียงต่าง ๆ ในเบื้องต้นด้วยง่าย ๆ ด้วยตัวเอง และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ไม่พึ่งประสงค์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงแรกของการรักษา หากอาการไม่สบาย หรืออาการข้างเคียงต่าง ๆ หายดีแล้ว สามารถรักษาต่อเนื่องเพื่อเป็นการฟื้นฟูร่างกาย และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย
อนึ่ง การผ่าตัดเป็นเป็นวิธีหนึ่งที่นิยม และเป็นวิธีทั่วไปในการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อผู้ป่วยหลังได้รับการผ่าตัด บางรายไม่จำเป็นต้องทำการรักษาอย่างอื่น หรืออาจจะมีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งนั้น ๆ ขนาดของก้อน หรือตำแหน่งที่เป็น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการผ่าตัด มีหลายประการ ได้แก่
1.การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกปฐมภูมิ หากยังไม่ตรวจพบการกระจายใด ๆ หรือตรวจพบในระยะแรก หลังผ่าตัดแล้วส่วนใหญ่โอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำจะน้อย อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาอย่างอื่นต่อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งด้วย
2.การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกที่มีการกระจาย การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในบริเวณข้างเคียงของเนื้องอกเพื่อประเมินว่ามีการกระจายไปหรือไม่ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการรักษาต่อไป
3.การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกที่เล็กลงหลังรักษา ในกรณีที่เนื้องอกค่อนข้างใหญ่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ตั้งแต่แรก มักจะทำเคมีบำบัด หรือการฉายแสงก่อน เมื่อขนาดของก้อนเล็กลงจึงค่อยตำการผ่าตัดออก
4.การผ่าตัดเพื่อการรักษาแบบประคับประครอง สามารถผ่าตัดในมะเร็งระยะลุกลามได้บางกรณี เช่น ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องผ่าตัดบางส่วนที่ไม่ได้หวังผลหาดขาด แต่เพื่อลดบรรเทาอาการกดทับ อาการอุดตันของลำไส้จนทำให้เกิดอาการปวดหรือเลือดออก เป็นต้น
5.การผ่าตัดซ้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย กลุ่มของผู้ป่วยมะเร็งหลังการผ่าตัดมักพบอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ตามมา ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่อผลข้างเคียงของสภาพร่างกายหลังผ่าตัดนั้น ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อายุ โรคประจำตัว หรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หลังจากรับการผ่าตัดแล้วอาจมีผลทำให้การฟื้นตัวของร่างกายช้าลง หรือส่งผลต่อเนื่องทำให้สภาพร่างกายยิ่งทรุดโทรมมากขึ้น นอกจากนี้อาจพบอาการหลังผ่าตัด ได้แก่
· อาจพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีภาวะเลือดจาง ภาวะเสียสมดุลสารน้ำและเกลือแร่ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้
· รู้สึกไม่สบายตัว มีไข้ ปวดแผล ปวดตามตัว อาการชาหลังผ่าตัด
· ผู้ป่วยไม่สามารถรับสารอาหารได้เพียงพอ มีภาวะเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย
· ปวดแน่นท้อง ท้องอืด ไม่สบายท้อง การขับถ่ายผิดปกติ ในกรณีผ่าตัดในช่องท้องบางรายมักมีอาการท้องผูก หรือเกิดภาวะลำไส้อุดตัน
· แผลปิดไม่สนิทมีน้ำซึมเล็ดออกมาตลอดเวลา แผลหายช้าไม่สามารถปิดสนิทได้ หรือแผลอักเสบติดเชื้อ
· มีภาวะวิตก เครียด กังวลกับโรคหรือแผนการรักษา เป็นต้น
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่าอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากผ่าตัด มักเกี่ยวข้องกับพื้นฐานสภาวะของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนี้ยังขึ้นกับสภาพร่างกายก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดด้วย เช่น ผู้ป่วยมีพื้นฐานของร่างกายชี่และเลือดพร่องอยู่เดิม หลังการผ่าตัดซึ่งแพทย์แผนจีนกล่าวว่าเป็นการทำให้ร่างกายสูญเสียทั้งชี่และเลือดได้ง่าย เนื่องจากชี่หายไปพร้อมกับเลือด ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ฟื้นตัวช้าได้ง่าย เป็นต้น ในปัจจุบันมีการทำวิจัยถึงด้านการลดผลข้างเคียงจากการรักษามีทั้งการใช้วิธีการรับประทานยาสมุนไพรจีนตำรับตามแต่ละบุคคล การใช้ยาสมุนไพรจีนรักษาจากภายนอก เช่น ยาประคบ แผ่นแปะ ยาแช่ หรือการรมยา การฝังเข็มรักษา การใช้เข็มหูหรือการแปะเม็ดผักกาดที่หู เป็นต้น เพื่อช่วยลดอาการไม่พึ่งประสงค์ตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัด ให้มีประสิทธิผล
กลุ่มอาการที่พบบ่อยหลังผ่าตัดทางการแพทย์แผนจีน แบ่งได้ ดังนี้
1.ชี่ตับติดขัด อาจพบอาการปวดแน่นบริเวณแผลผ่าตัด อาการปวดมักสัมพันธ์กับอารมณ์โกรธหรือความเครียด มีอาการเสียดสีข้าง ถอนหายใจบ่อย ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ ท้องผูก หรือขับถ่ายไม่สุด เป็นต้น สีลิ้นคล้ำฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรตึง (弦脉)
2.ชี่และเลือดติดขัดอุดกั้น อาจพบอาการปวดบริเวณแผลเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง ปวดทรมาน ปวดอยู่ตำแหน่งเดิม ไม่ชอบให้กด ตอนกลางคืนจะปวดมาก หรือตามผิวหนังอาจพบจ้ำเลือดคั่ง หรืออาจมีภาวะเลือดออกตามที่ต่าง ๆ ลิ้นสีม่วงคล้ำ ชีพจรสะดุด (脉涩)
3.เสมหะและความชื้นสกปรกอุดกั้น อาจพบอาการปวดคล้ายมีดกรีดบริเวณแผลผ่าตัด หรือรู้สึกตัวร่างกายหนัก ๆ มีเสมหะน้ำลายเยอะ ไม่อยากอาหาร แน่นหน้าอก อุจาระเหนียว หรือขับถ่ายไม่สุด ฝ้าลิ้นหนาเหนียว ชีพจรลื่น (脉滑)
4.เสมหะและเลือดคั่งอุดกั้นภายใน หลังจากได้รับการผ่าตัด อาจพบอาการปวดแน่นบริเวณแผล หรือมีอาการแน่นหน้าอก สีลิ้นแดงฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว (脉弦数)
5.ชี่และเลือดไม่เพียงพอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจมีภาวะเลือดจางอยู่เดิม และได้รับการผ่าตัดใหญ่มีการสูญเสียเลือดค่อนข้างมาก อาจพบอาการปวดรำคาญบริเวณแผล หรือหลังผ่าตัดมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่อยากอาหาร หรือมีอาการเวียนหัว ปวดศีรษะ หรือนอนไม่หลับ ใจสั่น ใบหน้าซีดขาว สีลิ้นซีดคล้ำ ฝ้าลิ้นบางหรือไม่มี ชีพจรเล็กและอ่อนแรง (脉细弱)
6.ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ หลังจากได้รับการผ่าตัด อาจพบอาการไม่อยากอาหาร แน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ หรือมีการขับถ่ายไม่เป็นปกติ อาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ใบหน้าซีดเหลือง สีลิ้นซีด ตัวลิ้นอ้วน ขอบลิ้นมีรอยฟันกัด ชีพจรเล็กและอ่อนแรง (脉细弱)
ตัวอย่างกรณีศึกษา
เคสที่ 1 ข้อมูลทั่วไป: นxxx เพศชาย อายุ 57 ปี HN:40xxxx
วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก: วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2567
อาการสำคัญ: หลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากมีอาการควบคุมปัสสาวะไม่ได้ 5 เดือน
ประวัติอาการ: ต้นปี 2567 ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา หลังผ่าตัดมีอาการปัสสาวะควบคุมไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย จึงเข้ามารับการรักษา
อาการที่มาในปัจจุบัน: ปัสสาวะควบคุมไม่ได้ การขยับเคลื่อนไหวลุกนั่ง หรือ การไอจามทำให้มีปัสสาวะเล็ดตลอดเวลา ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุดไม่มีแรง ปัสสาวะต่อครั้งปริมาณน้อย ร่วมกับมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้ปกติ นอนหลับไม่ดี เนื่องจากกลางคืนปัสสาวะบ่อย การขับถ่ายเป็นปกติ
ประวัติในอดีต: ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง
ตรวจร่างกาย : ลิ้นสีซีดคล้ำ ฝ้าขาว ชีพจรเล็กและอ่อนแรง (脉细弱)
การวินิจฉัย : การวินิจฉัยแพทย์แผนจีน : ชื่อโรค: อี๋นี่ (遗溺) หรือ เสี่ยวเปี้ยนซือจิ้น (小便失禁)
ภาวะกลุ่มอาการ: ม้ามและไตพร่อง (脾肾两虚)
การวินิจฉัยแพทย์แผนปัจจุบัน : อาการข้างเคียงหลังจากผ่าตัดมะเร็ง / มะเร็งต่อมลูกหมาก
วิธีการรักษา: บำรุงชี่ เสริมการทำงานของม้าม อบอุ่นไตและขับไล่ความชื้น
ตำรับยาหลักคือ ปู่จงอี้ชี่ทังและปี้เซียะเฟินชิงอิ่น (补中益气汤和萆解分清饮) เพิ่มลดตัวยาโดยให้ผู้ป่วยทานเป็นยาต้ม รับประทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร
ผลการรักษา: ติดตามอาการครั้งที่ 1 (30/06/67) อาการปัสสาวะเล็ดลดลง เวลาขยับตัวไม่พบอาการ เหลือเพียงเวลาไอแรงๆ จะมีปัสสาวะเล็ดเล็กน้อย ปริมาณปัสสาวะต่อรอบมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยลดลง สามารถนอนหลับช่วงกลางคืนได้ยาวนานขึ้น รับประทานอาหารได้ปกติ การขับถ่ายปกติ
ติดตามอาการครั้งที่ 2 (22/07/67) ปัสสาวะมีแรงดีขึ้น ควบคุมปัสสาวะได้ดีขึ้น เวลาไอยังมีอาการปัสสาวะเล็ดบ้าง รับประทานอาหารได้ปกติ การนอนหลับปกติ การขับถ่ายปกติ
เคสที่ 2 ข้อมูลทั่วไป: ทxxx เพศชาย อายุ 68 ปี HN:40xxxx
วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก: วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2567
อาการสำคัญ: หลังผ่าตัดในช่องท้องแผลปิดไม่สนิทและมีน้ำซึมบริเวณแผล ร่วมกับอาการปวดแน่นท้องประมาณ 3 อาทิตย์
ประวัติอาการ: เมื่อต้นเดือนมิถุนายนผู้ป่วยเข้าแอดมิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับ และได้รับการผ่าตัดตับไปบางส่วน พร้อมกับผ่าตัดถุงน้ำดีออก หลังจากผ่าตัดแผลที่หน้าท้องบางส่วนยังไม่ปิดสนิท และเนื่องจากมีภาวะท้องมานร่วมด้วย จึงมีน้ำซึมบริเวณแผลผ่าตัดออกมาตลอดเวลา จากนั้นผู้ป่วยขอกลับบ้านและออกมารักษาตัวต่อที่คลินิกแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
อาการที่มาในปัจจุบัน: บริเวณท้องด้านขวาล่างที่เป็นรูแผลยังไม่ปิดสนิท มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลา ผู้ป่วยต้องใช้ผ้าก๊อตเปลี่ยนตลอดเวลา ส่วนแผลผ่าตัดบริเวณตับปิดสนิทดี แต่มีอาการปวดแน่นท้อง ไอ มีเสมหะเหนียว เวลาที่ไออาการปวดแน่นท้องยิ่งเป็นมากขึ้น ร่วมกับมีอาการปวดตึงคอบ่าและบริเวณเอว เหนื่อยอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้ปกติ ไม่มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน มักจะตื่นมากลางดึกแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อได้ การขับถ่ายและปัสสาวะเป็นปกติ
ประวัติในอดีต: โรคไตเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง
ตรวจร่างกาย : ลิ้นสีคล้ำ ฝ้าบาง ชีพจรเล็กและเร็ว (脉细数)
การวินิจฉัย : การวินิจฉัยแพทย์แผนจีน
ชื่อโรค: กู่จ้าง (鼓胀)
ภาวะกลุ่มอาการ: ตับและม้ามขาดสมดุล 肝脾不和)
การวินิจฉัยแพทย์แผนปัจจุบัน : อาการข้างเคียงหลังจากผ่าตัดมะเร็ง / มะเร็งตับ
วิธีการรักษา: ใช้วิธีการบำรุงชี่ ปรับการหมุนเวียนของชี่ตับ เสริมการทำงานของม้าม โดยเลือกใช้ตำรับยาหลักคือ ปู่จงอี้ชี่ทังเพิ่มลดตัวยา (补中益气汤加减) โดยให้ผู้ป่วยทานเป็นยาต้ม รับประทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร ร่วมกับใช้ยาหมางเซียว (芒硝) ประคบภายนอกเพื่อดูดซับน้ำ
ผลการรักษา: ติดตามอาการครั้งที่ 1 (01/07/67) ไม่มีน้ำซึมบริเวณออกมา แผลเริ่มปิดสนิทดีขึ้น อาการปวดแน่นท้องและอาการปวดคอบ่าและเอวหายสนิท ยังมีอาการไอและเสมหะขาวเหนียวเล็กน้อย เวลาไอยังทำให้รู้สึกแน่นท้อง นอนหลับไม่สนิท หลับยาก รับประทานอาหารได้ปกติ การขับถ่ายปกติ
ติดตามอาการครั้งที่ 2 (08/07/67) ไม่มีอาการปวดแน่นท้อง ไม่มีน้ำซึมออกมา แผลปิดสนิทดี ยังมีอาการไอ แต่เวลาไอไม่ทำให้แน่นท้องร่วมด้วย เสมหะเริ่มใส ยังมีตื่นบ่อยแต่สามารถนอนต่อได้ง่ายขึ้น รับประทานอาหารได้ปกติ การขับถ่ายปกติ
ติดตามอาการครั้งที่ 4 (15/07/67) อาการโดยรวมหายเป็นปกติ ไม่มีอาการปวดแน่นท้อง รับประทานอาหารได้ปกติ ไม่มีอาการไอ นอนหลับได้ดีขึ้น ขับถ่ายเป็นปกติ
วิเคราะห์ผลการรักษา: จากอาการของผู้ป่วยมีอาการปวดแน่นท้องหลังผ่าตัด ร่วมกับมีน้ำในช่องท้องคั่งค้าง ในทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่าชี่ตับติดขับ ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าควบคุมน้ำของเหลวในร่างกายได้ ทั้งนี้ตับทำงานร่วมกับ 3 อวัยวะในการควบคุมเมตาบอลิซึมของน้ำและของเหลวในร่างกายให้ทำงานอย่างเป็นปกติ นั่นคือ ม้าม (ม้ามควบคุมการย่อยอาหาร การดูดซึมสารอาหาร การกระจายของเหลวและลำเลียงส่งไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย) ปอด (ควบคุมการเปิดปิดเส้นทางการเดินน้ำในร่างกาย) และไต (ไตรักษาสมดุลน้ำ ควบคุมการแปรเปลี่ยนของน้ำและของเหลวในร่างกาย) หากชี่เดินสะดวก น้ำและของเหลวร่างกายจะอยู่ในภาวะสมดุลเกิดการหมุนเวียนอยู่ในระบบที่เป็นปกติ นอกจากนี้เมื่อชี่ของตับติดขัดนานวันกระทบการทำงานของม้าม ม้ามพร่องชี่ไม่เพียงพอ หรือชี่หย่อน ก็จะทำให้น้ำและของเหลวไม่สามารถดูดซึม กระจายและลำเลียงไม่สามารถส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ปกติ จึงทำให้เกิดภาวะมีน้ำคั่งค้างภายในช่องท้อง และแผลปิดไม่สนิท
จากกรณีศึกษาทั้ง 2 เคส หลังการผ่าตัดในทางการแพทย์แผนจีนมองว่า การผ่าตัดมักจะส่งผลให้ชี่และเลือดไหลเวียนติดขัดได้ง่าย และเป็นการทำลายหยวนชี่ (ชี่ต้นทุนแต่กำเนิด หรือพลังชีวิตพื้นฐาน) เมื่อชี่ไม่เพียงพอทำให้แผลหายช้า และร่างกายฟื้นตัวช้า ในการรักษาแพทย์ผู้รักษาเลือกใช้ยาที่มีสรรพคุณบำรุงชี่ ปรับการไหลเวียนของชี่และเลือดร่วมด้วยจึงส่งผลให้อาการดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ สภาพร่างกายและอาการของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อาจใช้ยาในการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนจีนก่อน และสามารถรักษาร่วมกันกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายของผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดี สามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งหลังการผ่าตัด
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (หมอจีน ไช่ เพ่ย หลิง)
蔡佩玲 中医师
TCM. Dr. Orakoch Mahadilokrat (Cai Pei Ling)
แผนกอายุรกรรมมะเร็ง
2 ม.ค. 2568
2 ม.ค. 2568
26 ก.ย. 2567