Last updated: 28 พ.ย. 2567 | 174 จำนวนผู้เข้าชม |
ลม เป็นหนึ่งในปัจจัยก่อโรคภายนอกทั้งหกในการแพทย์แผนจีน ในเวลาปกติสภาวะอากาศทั้งหกจะมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ ร่างกายของมนุษย์จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศแบบผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือร่างกายมนุษย์อ่อนแอและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศก็อาจจะทำให้เจ็บป่วยได้ ปัจจัยจากสภาวะอากาศ ที่ทำให้เกิดอาการคันที่พบได้บ่อยหนีไม่พ้น “ปัจจัยจากลม”
คุณสมบัติที่ทำให้เกิดโรคจากลม
1. ลมมักจู่โจมบริเวณที่เป็นส่วนหยางของร่างกาย ลมเป็นธาตุหยาง มีลักษณะเบา ลอยขึ้นด้านบน กระจายออกภายนอก อาการของลมจึงมักแสดงอาการที่ส่วนบนหรือส่วนนอกของร่างกาย เช่น ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ “ผิวหนัง” แผ่นหลัง
2. ลมเปลี่ยนแปลงไปมารวดเร็ว จึงมักเกิดโรคหรืออาการฉับพลัน ตำแหน่งเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
3. ลมเคลื่อนไหวไม่อยู่นิ่ง มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดจึงทำให้เกิดอาการคันที่ร่างกาย นอกจากอาการคัน ร่างกายที่มีการเคลื่อนไหวที่ผิดไปจากปกติก็มักจะเกิดสาเหตุจากลม เช่น การชัก การสั่น การกระตุก
4. ลมเป็นตัวนำของสาเหตุจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ โบราณมีคำกล่าวว่า เฟิงเหวย์ไป่ปิ้งจือจ่าง (风为百病之长) "ลมเป็นบ่อเกิดแห่งโรค" ความหมายคือ ลมเป็นสาเหตุสำคัญที่ชักนำทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น ลมกับความร้อน ลมกับไฟ ลมกับความเย็น ลมกับความแห้ง ลมกับความชื้น
ด้วยลักษณะเด่นของลมดังกล่าว ลมกับอาการคันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ส่วนภายนอกสุดของร่างกายก็คือผิวหนัง ผู้ป่วยบางรายมีอาการคันแบบ เดี๋ยวคัน เดี๋ยวไม่คัน เดี๋ยวคันที่แขน เดี๋ยวคันที่ตัว เวลาคันก็คันจนไม่สามารถอยู่นิ่งๆได้ต้องเกายุกยิกอยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะเด่นที่เกิดจากพยาธิสภาพของลม ด้วยการที่ลมเป็นสาเหตุเริ่มต้นของการเกิดโรคต่างๆ แล้ว เมื่อลมจับกับปัจจัยก่อโรคอื่นๆ จึงทำให้มีอาการคันที่ลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น คันร่วมกับร้อน คันที่มักจะเกิดจากความเย็น เป็นต้น
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนอาวุโส ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย (หมอจีน เจิง ฉ่าย อิง)
曾彩瑛 中医师
TCM. Dr. Nattima Techapipatchai (Zeng Cai Ying)
แผนกอายุรกรรมภายนอก 外科 (External TCM Department)
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567