การฝังเข็มรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  3098 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

โรคข้อเข่าเสื่อม  เกิดจากพยาธิสภาพที่มีการทำลายกระดูกบริเวณใกล้เคียง มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำไขข้อ ทำให้คุณสมบัติการหล่อลื่นลดลง ทำให้ผิวข้อชำรุด และการอักเสบส่งผลให้การทำงานของข้อเสียไป การเคลื่อนไหวทำได้ลดลง ทำให้ข้อผิดรูปและพิการในที่สุด[1-2]   เป็นปัญหาพบมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โรคจะดำเนินไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าเรื้อรังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของข้อเข่า  ส่งผลให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีคุณภาพชีวิตลดลง นำไปสู่การใช้ยาแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง การฝังเข็มรมยา เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษา บรรเทา ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม  

ในมุมมองศาสตร์การแพทย์แผนจีน ข้อเข่าเสื่อมจัดอยู่ใน ปี้เจิ้งหรือกลุ่มอาการปวด ซึ่งสาเหตุ เกิดจากเสียชี่ชนิดลม  ความเย็น  ความชื้น และความร้อน อุดกั้นเส้นลมปราณจิงลั่ว ส่งผลถึงการขับเคลื่อนของชี่และเลือดในร่างกาย ทำให้เส้นเอ็น กระดูก กล้ามเนื้อและข้อต่างๆมีอาการปวด[3]หากเป็นมากอาจมีอาการชา หรือการเคลื่อนไหวยืด-หดของข้อมีปัญหา  ฝืดตึง บวมจนถึงข้อผิดรูป

อาการของโรค (อาการแสดง/ข้อบ่งชี้) (辩证要点)

มีอาการปวดข้อเข่า ในขณะเคลื่อนไหว มีเสียงในข้อเข่า มีอาการฝืดตึง เข่าติด เคลื่อนไหวลำบากในตอนเช้า  มีอาการบวม กรณีที่มีการอักเสบเมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าเข่าอุ่นหรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของข้อเข่า

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม[4]

- มีอาการปวดเข่า อาการฝืดแข็งในตอนเช้านานน้อยกว่า 30 นาที

- มีเสียงกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหวเข่า จากการเสียดสีของเยื่อบุภายใน ข้อ หรือเอ็นที่หนาตัวขึ้นตลอดจนความขรุขระของกระดูกอ่อนที่บุปลายหัวกระดูก

- มีภาพรังสีแสดงกระดูกงอก

สาเหตุของโรค (病因病机)

1. สาเหตุภายนอก  เกิดจากได้รับปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก เช่น ลม ความเย็น ความชื้นเข้ามาในร่างกาย
2. สาเหตุภายใน  เกิดจากร่างกายอ่อนแอ เมื่ออายุมากขึ้นตับและไตพร่อง ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนหล่อเลี้ยงเอ็นกระดูกไม่พอและมีภาวะติดขัดจากปัจจัยก่อโรคภายนอก

การวินิจฉัย (诊断)

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis)

การวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีนและแนวทางการรักษา(辨证论治)

โรคข้อเข่าเสื่อมจัดอยู่ในกลุ่มอาการปวดหรือปี้เจิ้ง(痹证) โดยสาเหตุจากภายนอกและสาเหตุจากภายใน[3]

สาเหตุการปัจจัยก่อโรคภายนอก แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่

1. กลุ่มอาการปวดจากลม หรือสิงปี้(行痹) : มีอาการปวดแบบเคลื่อนที่ มีตำแหน่งปวดไม่แน่นอน เมื่อได้รับลม อาการปวดกำเริบ ฝ้าลิ้นบางสีขาว ชีพจรลอย (舌苔薄白,脉浮)

2. กลุ่มอาการปวดจากความเย็นหรือท้งปี้(痛痹) : มีอาการเจ็บปวดรุนแรง มีตำแหน่งปวดแน่นอน เมื่อได้รับความเย็นอาการปวดยิ่งกำเริบมากขึ้น เมื่อได้รับความร้อนอาการปวดบรรเทาลง บริเวณตำแหน่งที่ปวดไม่แดง ไม่ร้อน ฝ้าลิ้นบางสีขาว ชีพจรตึง (舌苔薄白,脉弦)

3. กลุ่มอาการปวดจากความชื้นหรือจั๋วปี้(着痹) : มีอาการปวดข้อ ตามร่างกายรู้สึกหนัก ขยับลำบากหรือมีการบวม เมื่ออากาศชื้นหรือฝนตก อาการปวดกำเริบขึ้น  ฝ้าลิ้นหนาสีขาว ชีพจรลื่น (舌苔白厚腻,脉滑)

แนวทางการรักษา ขับปัจจัยก่อโรคภายนอก เพิ่มการไหลเวียนลมปราณ บรรเทาอาการปวด

สาเหตุการปัจจัยก่อโรคภายนอก แบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่

1. กลุ่มอาการเลือดอุดกั้น : ปวดข้อเข่าคล้ายเข็มแทง ตำแหน่งการปวดคงที่ ผิวหนังบริเวณที่ปวดมีสีม่วงคล้ำ บวม ตำแหน่งที่ปวดหากกดรู้สึกแข็งตึง มีอาการข้อเข่าฝืดตึงชัดเจน ยืด-งอลำบาก ลิ้นม่วงคล้ำมีจ้ำเลือด ชีพจรฝืด(舌紫黯或有瘀点,脉涩)

2. กลุ่มอาการตับและไตพร่อง : ข้อเข่ายืด-งอไม่สะดวก กล้ามเนื้อลีบฝ่อ เมื่อยเอวปวดเข่า ลิ้นซีด ชีพจรขาวบาง ชีพจรจมละเอียด(舌淡红少苔,脉沉细)

แนวทางการรักษา บำรุงชี่ของตับและไต กระตุ้นการไหลเวียนเลือด บรรเทาอาการปวด

ตัวอย่างกรณีศึกษา

ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 1       HN: 387XXX เพศหญิง   อายุ 82 ปี

เข้ารับการรักษาครั้งแรก วันที่  27 กรกฎาคม 2566

อาการสำคัญ ปวดเข่าเรื้อรัง 2 ข้าง 15 ปี

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน ปวดเข่าทั้ง2ข้าง ปวดเข่าข้างขวามากกว่า มีอาการตึงเคลื่อนไหวยากในช่วงเช้า ปวดเสียวในข้อเข่าข้างขวาขณะเดิน จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าในการเคลื่อนไหว ปวดตึงหลังเข่าขวา เป็นตะคริวบริเวณน่อง ทำให้กระทบเรื่องการนอน ข้อเข่าบวม  บริเวณเข่าไม่แดงร้อน  การรับประทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติ

การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นแดงฝ้าบางชีพจรตึงเร็ว (舌红少苔,脉弦数)

ประวัติการรักษาในอดีต  

- โรคประจำตัวความดันและไขมันสูง ทานยารักษาโรคประจำตัวต่อเนื่อง

- ผลภาพถ่ายรังสีแสดงถึงโรคข้อเข่าเสื่อม  ได้รับการวินิจฉัยทางแพทย์แผนปัจจุบัน โรคข้อเข่าเสื่อม ระยะที่ 3

การวินิจฉัย

ชื่อโรคทางแพทย์แผนจีน ปี้เจิ้ง(痹证 (U78.250)) / จัดเป็นกลุ่มอาการชี่ไตพร่อง(肾气亏虚 (U79.522))

ชื่อโรคทางแผนปัจจุบัน ข้อเข่าเสื่อม(膝关节病 (M17.9))

การรักษา  การฝังเข็ม  ฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ประเมินผลการรักษา

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 3 วันที่ 5 สิงหาคม 2566

- อาการปวดเข่าน้อยลง ช่วงเช้าข้อเข่าบวมตึงชัดเจน  งอเข่าลำบาก นอนหลับได้สนิทขึ้น

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 5 วันที่ 9 สิงหาคม 2566

- อาการปวดเข่าดีขึ้นชัดเจน อาการปวดตึง ข้อพับเข่าหายไป อาการบวมลดลง

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 10 วันที่ 26 สิงหาคม 2566

- อาการปวดเข่าดีขึ้น อาการบวมลดลงชัดเจน สามารถเดินเองโดยไม่ต้องพึ่งไม้เท้า

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 15 วันที่ 16 กันยายน 2566

- การเดินลงน้ำหนักได้มากขึ้น การงอเข่าได้ดีขึ้น แนะนำคนไข้ให้สามารถเว้นระยะในการรักษาได้ จากสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 20 วันที่ 28 ตุลาคม 2566

- อาการปวดเข่าดีขึ้นชัดเจน อาการบวมหายไป อาการปวดเป็นตะคริวหายไป คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

เข้ารับการรักษาครั้งที่ 25 วันที่ 23 ธันวาคม 2566

- ผู้ป่วยแจ้งว่าเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว เดินเยอะ นั่งรถนาน มีอาการปวดกำเริบเล็กน้อย แต่ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและการเดินทาง ผู้ป่วยและญาติพึงพอใจและประสงค์รักษาต่อเนื่อง โดยแนะนำให้ผู้ป่วยรักษา 1 ครั้ง ต่อ 2 สัปดาห์

สรุปผลการรักษา

การฝังเข็มสามารถรักษาปวดข้อเข่ามีประสิทธิผลดี เคสการรักษารายนี้ผู้ป่วยมีอายุเยอะ ระยะการดำเนินการโรคเรื้อรัง เข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มช้า ทำให้ส่งผลในระยะเวลาการรักษา แม้ว่าอาการปวดสามารถบรรเทาลงได้ หากมีปัจจัยกระตุ้นอาการยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ แต่ระดับความปวดน้อยลง หากเทียบกับก่อนรักษา คุณภาพชีวิตผู้ป่วยและครอบครัวดีขึ้น  

วิเคราะห์ผลการรักษา(分析)

การฝังเข็มเป็นการตุ้นการไหลเวียนเลือด สามารถบรรเทาอาการปวดได้ผลดี จากการปวดจากกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น ทั้งนี้ผลการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฝังเข็มขึ้นอยู่กับช่วงอายุผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค ระยะเวลาในการเข้ารักษา การใช้ชีวิตประจำวันร่วมด้วย ในกรณีที่กระดูกมีความเสื่อมหรือกระดูกงอกแล้ว การฝังเข็มไม่สามารถทำให้ภาวะกระดูกที่ผิดปกติกลับเป็นปกติได้  หากเข้ารับการรักษาในระยะแรกของโรค การฝังเข็มควบคู่กับการออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบเข่าแข็งแรง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้นชัดเจน

การป้องกันโรค/อาการ (预防调护)

- ควบคุมน้ำหนักตัว
- หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่านาน เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งยอง
- ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบเข่าแข็งแรง

เอกสารอ้างอิง(参考文献)

1.Agency for Healthcare Research and Quality.(AHRQ).American Academy of Orthopedics Clinical Practice guideline on the treatment of osteoarthritis of the knee. (2nd Edition).2013; WWW.hhr.gov/research/fmding/nhqrdr/nhqrl3/index.html.

 2.Cooper c , Dennison E, Edwards M, Litwic A. Epidemiology of osteoarthritis. Medicographia. 2013;35,145-51.

3. Zhou Zhongying. Internal Medicine of Traditional Chinese Medicine. Beijing: China Traditional Chinese Medicine Press. 2007(2): 463-466.

4.วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท. (2561). โรคข้อเข่าเสื่อม ห้ามไม่ได้ แต่ชะลอได้. ค้นหาเมื่อ 25-01-2566 ค้นหาจากhttps://www.rama.mahidol.ac.th.

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน รติกร อุดมไพบูลย์วงศ์ (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้