Last updated: 27 ส.ค. 2567 | 955 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในทุกเพศทุกวัย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยการทานยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่บางกรณีอาจเป็นการปวดศีรษะแบบรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมองหรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งอาการปวดศีรษะแบบรุนแรงและไม่รุนแรงจะมีอาการที่แตกต่างกัน
อาการปวดศีรษะแบบรุนแรง จะมีลักษณะอาการ คือ ปวดเฉียบพลัน หรือปวดรุนแรง หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือทานยา แต่ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตามัว ชาแขนขา คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะแบบรุนแรงจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เนื่องจากเป็นอาการปวดศีรษะเนื่องจากสิ่งผิดปกติทางสมอง
อาการปวดศีรษะแบบไม่รุนแรง จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการลักษณะข้างต้น โดยอาการที่พบได้ทั่วไป เช่น
- การปวดศีรษะจากความเครียด (Tension Type Headache) พบได้มากในทุกเพศทุกวัย จะมีลักษณะการปวดแบบตื้อ ๆ มึน ๆ เหมือนถูกบีบรัดบริเวณขมับ ซึ่งอาจเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ เนื่องจากเครียด พักผ่อนน้อย หรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ อาการปวดเช่นนี้จะเป็นไม่มาก สามารถทานยาแก้ปวดและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะดีขึ้น
- การปวดศีรษะไมเกรน พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ซึ่งจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ลักษณะการปวดแบบตุ้บ ๆ บริเวณขมับร้าวมาที่กระบอกตา หรือท้ายทอย มักปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากมีปัจจัยกระตุ้นจากอาการร้อน ความเครียด กลิ่น การมีรอบเดือน เป็นต้น โดยจะปวดมากกว่าการปวดศีรษะจากความเครียด มักปวดตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมง
- การปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ (Cluster headache) พบได้บ่อยรองลงมากจากอาการอื่น ๆ ซึ่งจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ช่วงวัยกลางคนขึ้นไป ลักษณะการปวดเป็นชุด ๆ เวลาเดิม ๆ บริเวณรอบกระบอกตา ปวดมากกว่าอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยจะปวดระยะหนึ่ง ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วหายไป และอาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล และหนังตาตกร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทสมองคู่ที่ 5 และหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ
อาการปวดศีรษะในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ปวดศีรษะ เป็นอาการทางคลินิกที่พบได้บ่อย โดยอาการอาจพบเป็นอาการเดี่ยว ๆ หรือพบร่วมกับโรคเรื้อรังและโรคเฉียบพลันอื่น ๆ ซึ่งหากปวดศีรษะอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน โดยเกิดซ้ำ ๆ ไปมา ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน จะเรียกว่า "โถวเฟิง"
โดยตำแหน่งของโรคจะเกี่ยวข้องกับ เส้นลมปราณหยางของมือทั้งสาม เส้นลมปราณหยางของเท้าทั้งสาม เส้นลมปราณตับ และเส้นลมปราณตู
สาเหตุและกลไกการเกิด
ศีรษะ เป็น "ศูนย์รวมของหยาง" "ที่อยู่ของหยางบริสุทธิ์" เป็นศูนย์รวมของชี่และเลือด
เนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนบน จัดว่าเป็นตำแหน่ง หยาง ซึ่งง่ายต่อการกระทบของลมและไฟ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้
สาเหตุการปวดศีรษะมีหลายประการ โดยมักเกี่ยวข้องกับสาเหตุหลัก คือ ปัจจัยเกิดจากภายนอกและภายใน
ปัจจัยเกิดจากภายนอก | ปัจจัยเกิดจากภายใน |
เกิดจากลมเป็นสาเหตุหลัก "ลมมักจะรุกรานส่วนบนของร่างกายก่อนเสมอ" มักมีความเย็น ความชื้น ความร้อนร่วมด้วย ขึ้นไปโจมตีทวารสมอง เส้นลมปราณถูกอุดกั้น ทำให้ปวดศีรษะ | เกิดจากอารมณ์ อาหาร ความอ่อนแอของร่างกาย การเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น ทำให้หยางของตับทะยานขึ้นสูง ไตพร่อง เลือดพร่อง เสมหะขุ่น เลือดคั่ง ทำให้ปวดศีรษะ |
การวินิจฉัยและวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการ
ในลำดับแรก แพทย์ควรจะต้องแยกลักษณะอาการปวดศีรษะว่า เกิดจากปัจจัยเกิดโรคภายนอกหรือภายใน
ปัจจัยเกิด | ลักษณะอาการ |
ภายนอก | กำเนิดโรคเร็ว ระยะเวลาสั้น ปวดรุนแรง มักเกิดเพราะเสียชี่ ซึ่งอาจเป็นลม ความเย็น ความชื้น ความร้อน ทำลายเว่ยชี่ของปอด |
ภายใน | การดำเนินโรคช้า ระยะเวลายาวนาน กำเริบซ้ำไปมา เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา ต้องวิเคราะห์แยกแยะว่ามาจากชี่พร่อง เลือดพร่อง หยางตับ เสมหะความชื้น เลือดคั่ง |
ลำดับที่สอง แพทย์ควรจะต้องแยกประเภทอาการปวดจากบริเวณที่ปวดศีรษะ
ประเภทอาการปวด | บริเวณที่มีอาการปวด |
ปวดศีรษะไท่หยาง | ท้ายทอย ไล่ลงมาตามต้นคอ |
ปวดศีรษะหยางหมิง | หน้าผากตลอดจนตามแนวคิ้ว |
ปวดศีรษะเส้าหยาง | ด้านข้างศีรษะทั้ง 2 ข้างและบริเวณหู |
ปวดศีรษะเจวี๋ยอิน | กระหม่อมหรือตลอดจนบริเวณตา |
ลำดับที่สาม แพทย์ควรจะต้องแยกประเภทจากลักษณะอาการปวดศีรษะ
ประเภทอาการปวด | ลักษณะอาการปวด |
ปวดศีรษะจากลมเย็น | ปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน มีอาการปวดร้าวไปที่ลำคอและหลัง เมื่อโดนลมและความเย็นจะปวดมาก มักชอบเอาผ้าขนหนูคลุมศีรษะ ไม่กระหายน้ำ หรือมีอาการร่วมกับคัดจมูกมีน้ำมูกใส ฝ้าขาวบางชีพจรฝูหรือฝูจิ่น(浮或浮紧) |
ปวดศีรษะจากลมร้อน | ปวดตึงศีรษะ ถ้าเป็นมากอาจปวดเหมือนศีรษะจะแตก เป็นไข้กลัวลม หน้าแดง ตาแดง ปากแห้งกระหายน้ำ ขับถ่ายไม่สะดวกหรือท้องผูก ปัสสาวะเหลือง ชีพจรฝูซู่(浮数) |
ปวดศีรษะจากลมชื้น | ปวดศีรษะเหมือนโดนบีบรัด รู้สึกว่าแขนขาหนัก แน่นหน้าอกเบื่ออาหาร อุจจาระเหลว ปัสสาวะไม่คล่อง ฝ้าขาวเหนียวชีพจรหรูหฺวา(濡滑) |
ปวดศีรษะจากตับหยาง | ปวดศีรษะแบบปวดแน่น ปวดตุบ ๆ หากอาการหนักอาจมีอาการปวดทั้ง 2 ข้าง ตาลาย กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย หน้าแดงปากขม ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรเสียนมีแรงหรือเสียนซี่ซู่(弦有力或弦细数) |
ปวดศีรษะจากไตพร่อง | ปวดศีรษะแบบกลวงโล่ง ร่วมกับวิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยเอว เพลียไม่มีแรง ฝันเปียก มีตกขาว มีเสียงในหู นอนหลับไม่ดี ลิ้นแดงฝ้าน้อยชีพจรซี่ไม่มีแรง(细无力) |
ปวดศีรษะจากเลือดพร่อง | ปวดศีรษะแบบรำคาญ บางครั้งมีอาการมึนเวียน เมื่อเหน็ดเหนื่อยอาการปวดจะมากขึ้น ใจสั่นนอนไม่หลับ สีหน้าไม่เปล่งปลั่ง อ่อนเพลียไม่มีแรง ลิ้นซีดฝ้าบางขาว ชีพจรซี่(细) |
ปวดศีรษะจากชี่พร่อง | ปวดศีรษะแบบหน่วงๆ กำเริบเป็นบางครั้ง ถ้าอ่อนเพลียจะเป็นมากขึ้น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจสั้น ไม่มีแรงพูด เหงื่อออกง่าย สีหน้าออกซีด ลิ้นสีแดงอ่อน หรือซีดอ้วน ขอบมีรอยฟัน ฝ้าขาวบาง ชีพจรซี่รั่ว(细弱) |
ปวดศีรษะจากเสมหะขุ่น | ปวดศีรษะแบบมึนหนัก บางครั้งมีอาการมึนเวียน แน่นหน้าอก แน่นช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเสมหะ ฝ้าขาวหนา ชีพจรหฺวาซู่หรือเสียนหฺวา(滑数或弦滑) |
ปวดศีรษะจากเลือดคั่ง | ปวดศีรษะเป็นเวลานาน หรือมีประวัติได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ตำแหน่งปวดแน่นอนไม่เปลี่ยนที่ ปวดเหมือนเข็มทิ่ม ลิ้นคล้ำม่วงหรือมีรอยจุดเลือดคั่ง ฝ้าบาง ชีพจรเฉินซี่หรือเซ่อ(沉细或涩) |
วิธีการรักษา
หลักการรักษา คือ “ปรับสมดุลชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด”
ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยแล้วพบว่า
- อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจาก “ภาวะแกร่ง” หลักการรักษาจึงมักใช้การระบายลมและขับชี่ที่ก่อโรค เป็นหลัก
- อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้ง “ภาวะแกร่ง” และ “ภาวะพร่อง” การรักษาจึงสามารถใช้ได้ทั้งการบำรุงหรือการระบาย หรือใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ตามแต่สาเหตุ
การรักษาโดยการฝังเข็ม
หลักการเลือกจุดฝังเข็ม ดังนี้
จุดฝังเข็ม | บริเวณ |
จุดหลัก | ศีรษะที่มีอาการปวด |
จุดรอง | จุดไกลไล่ไปตามเส้นลมปราณ |
จุดเสริม | จุดที่เป็นปัจจัยในการก่อโรค |
การใช้จุดฝังเข็มตามประเภทบริเวณที่ปวด (จุดหลัก-จุดรอง) มีดังนี้
ประเภทบริเวณที่ปวด | จุดฝังเข็ม |
ปวดศีรษะไท่หยาง | จุดหลัก : เทียนจู้ เฟิงฉือ อาซื่อ จุดรอง : โฮ่วซี เซินม่าย คุนหลุน |
ปวดศีรษะหยางหมิง | จุดหลัก : อิ้นถาง ซ่างซิง หยางไป๋ ฉ่วนจู๋โท่วอวี๋เยา อาซื่อ จุดรอง : เหอกู่ เน่ยถิง |
ปวดศีรษะเส้าหยาง | จุดหลัก : ไท่หยาง ซือจู๋คง เจี่ยวซุน ไซว่กู่ เฟิงฉือ อาซื่อ จุดรอง : ไว่กวน จู๋หลินชี่ |
ปวดศีรษะเจวี๋ยอิน | จุดหลัก : ไป่หุ้ย ซื่อเสินชง อาซื่อ จุดรอง : จงชง ไท่ชง |
การใช้จุดฝังเข็มตามประเภทลักษณะการปวด (จุดเสริม) มีดังนี้
ลักษณะการปวด | จุดฝังเข็มเสริม |
ปวดศีรษะจากลมเย็น | เฟิงฝู่ เลี่ยเชวีย รมยาจุดต้าจุย |
ปวดศีรษะจากลมร้อน | เฟิงฉือ เฟิงเหมิน ชวีฉือ |
ปวดศีรษะจากลมชื้น | เฟิงฉือ เฟิงเหมิน ซานอินเจียว |
ปวดศีรษะจากตับหยาง | สิงเจียน ไท่ชง |
ปวดศีรษะจากไตพร่อง | เซิ่นซู ไท่ซี |
ปวดศีรษะจากเลือดพร่อง | เสวี่ยไห่ จู๋ซานหลี่ |
ปวดศีรษะจากชี่พร่อง | ชี่ไห่ จู๋ซานหลี่ |
ปวดศีรษะจากเสมหะขุ่น | เฟิงหลง จงหว่าน |
ปวดศีรษะจากเลือดคั่ง | เสวี่ยไห่ เก๋อซู |
วิธีการ :
- ปวดศีรษะจากเลือดคั่ง : สามารถฝังเข็ม ร่วมกับวิธีการเจาะปล่อยเลือดได้
- ปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน : ฝังเข็มวันละ 1-2 ครั้ง
- ปวดศีรษะแบบเรื้องรัง : ฝังเข็มวันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวัน
กรณีศึกษา (Case Study)
- ข้อมูลผู้ป่วย
ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 49 ปี เข้ารับการรักษาครั้งแรกวันที่ 6 พฤษภาคม 2566
เข้าพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญ คือ ปวดศีรษะด้านขวา เป็นช่วง ๆ โดยเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลา 8 ปี โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอาการดังกล่าวเป็นรุนแรงมากขึ้น
- อาการปัจจุบัน
ผู้ป่วยปวดศีรษะด้านขวา เป็นช่วง ๆ โดยเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลา 8 ปี มักปวดอยู่ข้างศีรษะและบริเวณท้ายทอยลามลงมาถึงต้นคอ ลักษณะอาการปวด คือ ปวดแบบหน่วง ๆ เมื่อทานยาแผนปัจจุบันอาการจะทุเลาลง แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอาการดังกล่าวเป็นรุนแรงมากขึ้น
อาการร่วมอื่น ๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ในบางครั้งมีอาการเวียนศีรษะ หายใจสั้น ใจสั่น นอนหลับยาก นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ สีหน้าไม่เปล่งปลั่ง ความอยากอาหารปกติ การขับถ่าย 1-2 วัน/ครั้ง
- การตรวจร่างกาย
ความดันโลหิต 110/65 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 72 ครั้ง/นาที ตรวจลิ้นพบลิ้นสีแดงซีด ฝ้าขาวบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจรซี่รั่ว (เล็กอ่อนแรง)
- การวินิจฉัย
ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ(头痛)ในกลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง
- วิธีการรักษา
แพทย์ใช้วิธีการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด
- จุดฝังเข็ม
แพทย์ใช้จุดฝังเข็มจุดหลักและจุดประกอบ ดังนี้
จุดหลัก/จุดประกอบ | จุดฝังเข็ม |
จุดหลัก | เฟิงฉือ ไท่หยาง ซือจู๋คง เจี่ยวซุน อาซื่อ ไซว่กู่ ไว่กวน จู๋หลินชี่ |
จุดประกอบ | ชี่ไห่ เสวี่ยไห่ จู๋ซานหลี่ |
- ผลการรักษา
ครั้งที่ 1 หลังจากรับการฝังเข็มในครั้งแรก อาการปวดบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่หายขาด อาการอื่น ๆ ยังคงมีอยู่บ้าง โดยอาการปวดในแต่ละครั้งจะไม่รุนแรงเช่นเดิม แต่ยังมีการใช้ยาแผนปัจจุบันอยู่ 1 ครั้ง เนื่องจากต้องทำงาน
ครั้งที่ 2 หลังจากการฝังเข็มในครั้งแรก เว้นระยะห่าง 1 วัน จึงเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาครั้งที่ 2 โดยหลังจากการฝังเข็มครั้งที่ 2 อาการปวดทิ้งระยะห่างอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบันอีก หายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
ครั้งที่ 3 หลังจากการฝังเข็มในครั้งที่ 2 เว้นระยะห่าง 3 วัน อาการปวดในรอบ 3 วันดีขึ้น แทบจะไม่มีอาการอีกเลย ยกเว้นเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นภายนอก แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดที่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน นอนหลับได้ดี รู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้น
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
อาการปวดศีรษะในปัจจุบันได้กลายเป็นโรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยมาก ซึ่งมีผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น ไม่จำกัดเพศ และหลากหลายช่วงวัย หากคุณคือคนหนึ่งที่มีความทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะอยู่บ่อยครั้ง ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือปล่อยไว้จนเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา แต่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษา ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนจีนก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยมีงานวิจัยรองรับ และองค์การอนามัยโลกให้รับรองว่า การฝังเข็ม เป็นการรักษาโรคปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนริฟฮาน ยูโซะ (หมอจีน หลัว หรู ซาน)
罗如珊 中医师
TCM. Dr. Rifhan Yusoh (Luo Ru Shan)
แผนกฝังเข็ม
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567