Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1487 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคอัมพาตใบหน้าเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกเพศทุกวัย เป็นภาวะที่เส้นประสาทใบหน้า (เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7) ที่อยู่ภายใน Stylomastoid foramen สูญเสียการทำงานจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่าโรคอัมพาตใบหน้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes Zoster ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทใบหน้าหดเกร็ง บวมน้ำ ถูกกดทับ หรืออาจเกิดจากเยื่อหุ้มกระดูกใน Stylomastoid foramen อักเสบ ทำให้เส้นประสาทใบหน้าถูกกดทับ การไหลเวียนของเลือดติดขัดส่งผลให้เส้นประสาทใบหน้าอักเสบ พยาธิสภาพของโรคนี้คือ เส้นประสาทใบหน้าบวมน้ำ มีการหลุดลอกของ Myelin sheath และในระยะท้ายเกิดการเสื่อมของ Axon
ในมุมมองศาสตร์การแพทย์แผนจีน โรคอัมพาตใบหน้าจัดอยู่ในโรค “เมี่ยนทาน (面瘫)”
อาการของโรค (辩证要点)
โรคอัมพาตใบหน้ามักเกิดที่ใบหน้าเพียงข้างเดียว พบอาการมุมปากเบี้ยวและตาปิดไม่สนิทเป็นอาการหลัก ประกอบกับรอยย่นที่หน้าผากและร่องแก้มหายไป ยักคิ้วหรือขมวดคิ้วไม่ได้ เคี้ยวอาหารหรือดื่มน้ำได้ลำบาก ผิวปากหรือทำแก้มป่องไม่ได้เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณมุมปากไม่สามารถหดตัวได้ อาจมีอาการตาแห้ง น้ำลายแห้ง การรับรสชาติอาหารลดลง มีความไวต่อเสียง หรือเจ็บบริเวณหูร่วมด้วย ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัส Herpes Zoster จะเกิดตุ่มน้ำใสบริเวณหูและใบหน้า หรืออาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย
ระยะการเกิดโรค แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
สาเหตุของโรค (病因病机)
ผู้ป่วยมักมีประวัติทำงานหนักมากไป ร่างกายอ่อนแออยู่ในภาวะพร่อง เมื่อโดนลมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลมเย็น ลมร้อน ลมชื้น หรือลมเสมหะกระทบที่ใบหน้า ทำให้ชี่และเลือดอุดกั้นที่เส้นลมปราณลั่ว เมื่อเส้นลมปราณลั่วติดขัด จึงส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าผิดปกติ กล้ามเนื้อใบหน้าไม่สามารถหย่อนและหดตัวได้ เป็นเหตุให้เกิดโรคหน้าเบี้ยว
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ (辨证论治)
แนวทางการรักษา
ใช้วิธีขจัดลม ทะลวงเส้นลมปราณลั่ว เพิ่มภูมิต้านทานและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดเป็นหลัก
หากแบ่งตามระยะของโรค
หากแบ่งตามกลุ่มอาการโรค
ตัวอย่างกรณีศึกษา
ข้อมูลผู้ป่วย HN 2XXXXX เพศหญิง อายุ 29ปี
เข้ารับการรักษาครั้งแรก 4 มกราคม 2562
อาการสำคัญที่มารักษา ปากขวาเบี้ยวและตาขวาปิดไม่สนิท 2 สัปดาห์
ประวัติอาการ
สองอาทิตย์ก่อนผู้ป่วยมีประวัติเป็นหวัดและไม่ได้เข้ารับการรักษา หลังจากนั้นเมื่อใบหน้าโดนพัดลมเป่า ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บบริเวณหูหลังด้านขวา ต่อมาพบอาการมุมปากขวาเบี้ยว ตาขวาเบี้ยวลงและปิดไม่สนิท ดื่มน้ำแล้วมีน้ำไหลออกจากมุมปากขวา นอกจากนี้รู้สึกชาบริเวณใบหน้าด้านขวา การได้ยินของหูขวาลดลง หูขวาไวต่อสัมผัส ปลายลิ้นรับรสไม่ได้ ต่อมาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น “โรคอัมพาตใบหน้าด้านขวา” รักษาโดยการให้ยา 1 คอร์สการรักษา (รายละเอียดไม่ชัดเจน) ผู้ป่วยรู้สึกอาการดีขึ้นไม่มาก ผู้ป่วยไม่มีตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณหู ไม่มีการมองเห็นเลือนลาง ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ไม่มีประวัติได้รับการกระทบกระแทกบริเวณศีรษะ ไม่มีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง และไม่มีพูดจาไม่คล่อง
อาการปัจจุบัน
ปากด้านขวาเบี้ยว ตาขวาปิดไม่สนิท หลับตาแล้วเห็นตาขาว บางครั้งมีน้ำตาไหล รอยย่นหน้าผากขวาและรอยข้างแก้มขวาหายไป เมื่อดื่มน้ำมีน้ำไหลออกจากมุมปากขวาบ้างบางครั้ง ป่องแก้มมุมปากขวามีลมรั่ว ผู้ป่วยรู้สึกใบหน้าด้านขวาชา หูขวายังไวต่อสิ่งกระตุ้น กลัวร้อน ปากแห้งชอบดื่มน้ำเย็น เหนื่อยง่าย รับประทานอาหารได้ปกติ การขับถ่ายปกติ นอนไม่หลับเนื่องจากวิตกกังวล เข้านอนได้ยาก ตื่นตอนกลางคืน
การตรวจร่างกาย
ผู้ป่วยถามตอบได้ พูดคุยรู้เรื่อง ใบหน้าขวาเบี้ยว ยักคิ้วขวาไม่ได้ รอยย่นหน้าผากขวาหายไป ตาขวาปิดไม่สนิท ยิ้มยิงฟันแล้วรอยข้างแก้มขวาหาย ปากขวาเบี้ยว ป่องแก้มและผิวปากมีลมรั่วที่มุมปากขวา
การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นแดงฝ้าบางเหลือง ชีพจรเร็วและตึง
ประวัติโรคในอดีต ไม่มี
การวินิจฉัย
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
วิธีการรักษา ขจัดลมระบายร้อน ทะลวงเส้นลมปราณลั่ว
จุดฝังเข็มที่ใช้
เลือกจุดทั้งสองด้าน HeGu (LI4) FengChi (GB20) QuChi (LI11)
เลือกจุดด้านขวา YiFeng (SJ17) QianZheng (EX-HN16) TaiYang (EX-HN5)
YangBai (GB1) SiZhukong (SJ23) CuanZhu (BL2)
JiaChe (ST6) SiBai (ST2) XiaGuan (ST7)
DiCang (ST4) YingXiang (LI20) ChengJiang (RN24)
ShuiGou (DU26) YinTang (DU29)
ประเมินผลการรักษา
ครั้งที่ 1 (11 มกราคม 2562)
หลังการฝังเข็มรักษา 3 ครั้ง อาการผู้ป่วยโดยรวมดีขึ้น กล้ามเนื้อใบหน้าขวาเคลื่อนไหวได้มากขึ้น หลับตาได้เกือบสนิท ใบหน้าขวาชาน้อยลง รอยย่นที่หน้าผากและข้างแก้มลึกขึ้น ปากขวาเบี้ยวน้อยลง ป่องแก้มได้ดีขึ้น ลิ้นรับรสได้มากขึ้น บางครั้งมีเสียงอื้อในหู อ่อนเพลียง่าย นอนหลับดีขึ้น แต่ยังคงตื่นตอนกลางคืน ลิ้นแดงฝ้าบาง ชีพจรตึงและลื่น
ครั้งที่ 2 (19 มกราคม 2562)
หลังการฝังเข็มรักษา 6 ครั้ง กล้ามเนื้อใบหน้าขวาเคลื่อนไหวเกือบปกติ หลับตาขวาได้สนิท รอยย่นที่หน้าผากและข้างแก้มลึกขึ้นกว่าครั้งก่อน ปากขวายังเบี้ยวเล็กน้อย เมื่อป่องแก้มยังรั่วเล็กน้อย ลิ้นรับรสได้ปกติ การฟังของหูขวาปกติ นอนหลับได้ดีวันละ 6-7 ชั่วโมง ลิ้นแดงฝ้าบางขาว ชีพจรตึงและลื่น
วิเคราะห์ผลการรักษา(分析)
เนื่องจากคนไข้มีประวัติเคยเป็นหวัดและใบหน้าโดนพัดลมเป่า มีอาการเจ็บบริเวณหูด้านขวา กลัวร้อน ปากแห้งและชอบดื่มน้ำเย็น ประกอบกับลิ้นแดงฝ้าบางเหลือง ชีพจรเร็วและตึง คนไข้รายนี้จึงจัดอยู่ในกลุ่มอาการลมร้อนกระทำต่อเส้นลมปราณลั่ว เลือกใช้หลักการขจัดลมดับร้อน ทะลวงเส้นลมปราณลั่วในการรักษา เพื่อให้ชี่และเลือดที่อุดกั้นบริเวณใบหน้าไหลเวียนได้คล่องขึ้น ส่งผลให้การทำงานของเส้นเอ็นบริเวณใบหน้า การหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อใบหน้ากลับมาทำงานได้ปกติ ส่วนจุดฝังเข็มหลักที่เลือกใช้แบ่งออกเป็น 3 เส้นคือ YinTang (DU29), ShuiGou (DU26), ChengJiang (RN24) เป็นเส้นกึ่งกลางของใบหน้า (正中线); YangBai (GB1), DiCang (ST4) เป็นเส้นข้างของเส้นกึ่งกลางใบหน้า (旁线); TaiYang (EX-HN5), XiaGuan (ST7), JiaChe (ST6) เป็นเส้นด้านข้างของใบหน้า (面部侧面) นอกจากนี้เลือกจุด HeGu (LI4) ซึ่งเป็นจุดหยวนของเส้นลมปราณหยางหมิง และเป็นจุดสำคัญในการรักษาโรคเกี่ยวกับใบหน้าและปาก; FengChi (GB20) ช่วยขจัดลม ทะลวงเส้นลมปราณลั่ว; YiFeng (SJ17) เป็นจุดที่เส้นประสาทใบหน้าผ่านพอดีตรงตำแหน่งออกจากกะโหลกศีรษะ และยังรักษาอาการปวดหูได้อีกด้วย จุดฝังเข็มเสริมเลือกใช้ SiZhukong (SJ23) และ CuanZhu (BL2) ช่วยในเรื่องปิดตาไม่สนิท มีน้ำตาไหล; QianZheng (EX-HN16) เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งในการรักษาโรคอัมพาตใบหน้า มีสรรพคุณขจัดลมดับร้อน ทะลวงเส้นลมปราณ; YingXiang (LI20) ช่วยให้รอยข้างแก้มกลับมาปกติ เนื่องจากวันที่ผู้ป่วยรับรักษาครั้งแรกอาการยังอยู่ในระยะแรก ดังนั้นในการฝังเข็มจึงทำอย่างนุ่มนวล ไม่ใช้การกระตุ้นใด ๆ
สรุปผลการรักษา(总结)
จากตัวอย่างกรณีศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการรักษาโรคนี้โดยวิธีฝังเข็ม ทำให้อาการอัมพาตใบหน้าของผู้ป่วยดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับจนเกือบกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ การรักษาโรคอัมพาตใบหน้าด้วยการฝังเข็มจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับตัวผู้ป่วย อีกทั้งการฝังเข็มยังเป็นการลดระยะเวลาการฟื้นฟู ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณใบหน้าส่วนที่เป็นอัมพาต อีกทั้งยังสามารถเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายได้อีกด้วย
การป้องกันโรค(预防调护)
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี (หมอจีน เจี่ย จิ้ง เหวิน)
贾靖雯 中医师
TCM. Dr.Pimpitch Muchalintamolee (Jia Jing Wen)
แผนกฝังเข็ม
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567