Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1726 จำนวนผู้เข้าชม |
ไซนัสอักเสบเป็นหนึ่งในโรคยอดนิยมที่พบเจอได้บ่อยในปัจจุบันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถพบเจอได้ในทุกฤดูกาล เกิดจากการติดเชื้อและการอักเสบของเยื่อบุจมูกและไซนัส อาการที่พบคือน้ำมูกจะมีลักษณะเหนียวข้น มีกลิ่นเหม็นคาว คัดแน่นบริเวณจมูก ปวดไม่สบายบริเวณแก้ม รอบดวงตาหรือหน้าผาก และอาจทำให้ความสามารถในการรับกลิ่นลดลงได้
สำหรับมุมมองของแพทย์แผนจีนเรียกไซนัสอักเสบว่า “ปี๋เอวียน (鼻渊)” ในกรณีอาการรุนแรงสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “ปี๋โล่ว (鼻漏)” แพทย์แผนจีนมองว่าโรคนี้มักเกิดจากปัจจัยก่อโรคจากภายนอกเข้ารุกราน ความร้อนอัดอั้นในถุงน้ำดี และม้ามกับกระเพาะอาหารมีความร้อนชื้น โดยตำแหน่งของโรคอยู่บริเวณจมูก สัมพันธ์กับปอด ม้าม กระเพาะอาหารและถุงน้ำดี ส่วนกลไกการเกิดโรคคือ ปัจจัยก่อโรคอุดกั้นที่ทวารจมูก
ในระยะเริ่มต้นจะมีน้ำมูกสีเหลือง ปริมาณมาก ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ไอ ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรลอยและเร็วซึ่งจะจัดอยู่ในกลุ่มอาการลมร้อนกระทบที่เส้นลมปราณปอด; ต่อมาเมื่อน้ำมูกเริ่มเหนียวข้นคล้ายหนอง คัดแน่นจมูกค่อนข้างรุนแรง ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปากขมคอแห้ง หงุดหงิดโมโหง่าย ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงและเร็วจะจัดอยู่ในกลุ่มอาการความร้อนอัดอั้นในถุงน้ำดี; และหากอาการเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน มีอาการมึนงงศีรษะ ปวดแน่นบริเวณหัวคิ้วหรือหน้าผาก ไม่มีสมาธิจดจ่อ ความจำลดลง ลิ้นแดงฝ้าเหนียวจะจัดอยู่ในกลุ่มอาการความร้อนชื้นอุดกั้นทวาร
สำหรับวิธีการดูแลตัวเองในเบื้องต้นเมื่อมีอาการไซนัสอักเสบ สามารถใช้การนวดกดจุดบรรเทาอาการได้ เช่น
จุดอิ๋งเซียง (YingXiang, LI20 )
ตำแหน่ง: ข้างปีกจมูกทั้งสองข้าง
จุดอิ้นถัง (YinTang, GV29)
ตำแหน่ง : อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างหัวคิ้วทั้งสองข้าง
จุดเฟิงฉือ (FengChi, GB20)
ตำแหน่ง : เป็นแอ่งบุ๋มอยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ วิธีการหาคือใช้ปลายนิ้วลากจากติ่งหูไปที่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ
วิธีการนวดกดจุด
ใช้บริเวณท้องนิ้วของนิ้วโป้งหรือนิ้วชี้นวดคลึงบริเวณจุดที่ต้องการทั้งสองข้าง จุดละ 3-5 นาที ให้รู้สึกปวดตึงบริเวณจุดนั้น ๆ ไม่ควรใช้น้ำหนักมือที่แรงเกินไป
การดูแลและป้องกัน
รักษาความสะอาดบริเวณโพรงจมูกอยู่เสมอ โดยหมั่นทำความสะอาดโพรงจมูก กำจัดน้ำมูก เพื่อเพิ่มการไหลเวียนอากาศในโพรงจมูก ส่วนในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจเฉพาะทางร่วมด้วย
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี (หมอจีน เจี่ย จิ้ง เหวิน)
贾靖雯 中医师
TCM. Dr.Pimpitch Muchalintamolee (Jia Jing Wen)
แผนกฝังเข็ม
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567