Last updated: 27 ส.ค. 2567 | 6031 จำนวนผู้เข้าชม |
อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง
คือ ภาวะที่สมองได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพออย่างเฉียบพลัน เนื่องมาจากหลอดเลือดตีบ อุดตันหรือแตก ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหรือที่เรียกว่า “เซลล์สมองตาย” ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เป็นโรคที่มีอัตราการเกิดโรคสูง อัตราการเสียชีวิตสูง อัตราการก่อให้เกิดความพิการสูง อัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนสูง และอัตราการเกิดโรคซ้ำสูง
ชนิดและสาเหตุการเกิดโรค
1. โรคสมองขาดเลือด (Ischemic stroke : 缺血性 ) สาเหตุหลัก คือ เส้นเลือดอุดตัน หรือ เส้นเลือดตีบ โดยคิดอัตราส่วนเป็น 80% ของการเกิดโรคทั้งหมด
2. โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke : 出血性 ) สาเหตุหลัก เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง เป็นระยะเวลายาวนาน สาเหตุรอง เกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ โดยคิดอัตราส่วนเป็น 20% ของการเกิดโรคทั้งหมด
ลักษณะอาการ
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองย่อมเกิดความผิดปกติกับสมองส่วนที่ได้รับผลกระทบ และเป็นอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยความปกตินั้นอาจเป็นอาการชั่วคราวหรือต่อเนื่องยาวนานก็ได้ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
อาการโดยส่วนใหญ่ คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก มีอาการชา เวียนศีรษะ สับสน มีปัญหาด้านการทรงตัว ด้านการมองเห็น ด้านการสื่อสาร หมดสติทันที ฯลฯ และความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น มักจะขึ้นอยู่กับบริเวณสมองส่วนที่ได้รับผลกระทบ และขนาดของพื้นที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมอง
อันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง
4 สัญญาณของร่างกายที่บ่งบอกโรคหลอดเลือดสมอง
1. สัญญาณจาก “นิ้วมือ”
คือ อาการผิดปกติที่แสดงบริเวณนิ้วมือ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการชาบริเวณนิ้วมืออย่างกระทันหันได้ พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งของอาการสมองขาดเลือดในระยะสั้น หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจขยายบริเวณกว้างขึ้นจากนิ้วมือไปยังมือ แขน หรือครึ่งซีกของร่ายกาย และจะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงได้
2. สัญญาณจาก “โคนลิ้น”
คือ อาการผิดปกติที่แสดงบริเวณลิ้น โดยผู้ป่วยจะรู้สึกโคนลิ้นแข็ง พูดไม่สะดวก พูดไม่ชัด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร เนื่องจากอาการของโรคเกิดบริเวณเยื่อหุ้มสมองซึ่งเป็นศูนย์กลางภาษาหรือการสื่อสาร นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนลำบาก หรือสำลักน้ำอยู่บ่อยครั้ง
3. สัญญาณจาก “ใบหน้า”
คือ อาการผิดปกติที่แสดงบริเวณใบหน้า โดยผู้ป่วยจะมีอาการปากเบี้ยว มุมปากตก เวลาดื่มน้ำจะมีน้ำไหลออกมาจากมุมปาก ในข้างหนึ่งข้างใดของใบหน้า เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบโดยตรงต่อเส้นประสาทที่ทำให้เกิดอาการอัมพาตบริเวณใบหน้าได้
4. สัญญาณจาก “แขนขา”
คือ อาการผิดปกติที่แสดงบริเวณแขนและ/หรือขา โดยผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนแรงบริเวณดังกล่าว ไม่สามารถทรงตัวหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบโดยตรงต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่สั่งการบริเวณแขนและ/หรือขา ซึ่งโดยปกติแล้วหากรอยโรคของโรคหลอดเลือดสมองเกิดที่ซีกใดของสมอง ย่อมส่งผลให้แขนขาซีกตรงข้ามอ่อนแรงหรือไม่สามารถใช้งานได้
วิธีการรักษาในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
แพทย์จีน เรียกโรคหลอดเลือดสมอง ว่า “จ้งเฟิง : 中风” โดยเรียกตามลักษณะของโรคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทันที และมีการแปรเปลี่ยนหลากหลายและว่องไวเช่นเดียวกับ ลักษณะของ “ลม” หรือ “ เฟิง : 风”
วิธีการรักษา
สำหรับในช่วงแรกเริ่มของการเกิดโรค วิธีการรักษาที่เหมาะสม มีประสิทธิผล สะดวกและให้ผลรวดเร็วที่สุด คือ “วิธีการฝังเข็ม” และเสริมด้วยยาจีนที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ในแต่ละช่วงเวลา
โดยวิธีการฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง และเกิดผลสำเร็จมากในการรักษาผู้ป่วยสมองขาดเลือด โดยให้ผลเช่นเดียวกับการให้ยาละลายลิ่มเลือด และการลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดตามวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามการฝังเข็ม มีระยะเวลาทองของการรักษาที่ได้ผลยาวนานกว่า คือ หากได้รับการรักษาภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดโรค การรักษาจะเกิดประสิทธิภาพสูงมาก และมีอาการข้างเคียงน้อย ดังนั้นจึงเพิ่มโอกาสในการหายป่วยจนใกล้เคียงกับปกติ หรือหายจนเป็นปกติได้มากขึ้น
วิธีการฝังเข็มในกรณีที่ “สมองขาดเลือด” และ “หลอดเลือดสมองแตก”
กลไกการรักษาด้วยการฝังเข็ม
วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
วิธีป้องกันโรคมีหลายวิธี ได้แก่ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน พักผ่อน อย่างสมดุล ปรับสมดุลทางอารมณ์ ใช้ชีวิตให้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละฤดูกาล หลีกเลี่ยงบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมเบาหวานหรือระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมระดับไขมันในเลือด
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ริฟฮาน ยูโซะ (หมอจีน หลัว หรู ซาน)
罗如珊 中医师
TCM. Dr. Rifhan Yusoh (Luo Ru Shan)
แผนกฝังเข็ม
อ้างอิง
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567