Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2431 จำนวนผู้เข้าชม |
ผมหงอกหรือผมขาว สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ แบบที่เป็นแต่กำเนิดกับภายหลังกำเนิด โดยผมขาวแต่กำเนิดนั้นมักพบในผู้ที่เป็นโรค Albinism (โรคผิวเผือก) โดยเส้นผม ขนทั้งร่างกายจะเป็นสีขาวรวมถึงผิวหนัง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้กับโรคพันธุกรรมบางชนิด หากมีผมขาวชนิดเป็นแต่กำเนิดจะมีผมขาวเฉพาะที่มักมีประวัติทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องเสมอ โดยมีผมขาวบริเวณเดียวหรือหลายบริเวณตั้งแต่เกิดหรือหลังกำเนิด ส่วนแบบที่สองนั้นพบบ่อยสุดคือผมขาวในผู้สูงวัยจัดเป็นลักษณะทางสรีรวิทยา โดยปกติเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปจะเริ่มปรากฏผมขาว ตามอายุที่มากขึ้นผมขนส่วนต่าง ๆ จะค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว ส่วนผมขาวก่อนวัยมักพบในวัยรุ่นโดยผมขาวจะอยู่บริเวณจอนทั้งสองข้าง โรคบางอย่างอาจทำให้เกิดผมขาวได้ เช่น ภาวะหลอดเลือดแข็ง โรคด่างขาวบริเวณศีรษะ เป็นต้น ผมขาวมีสาเหตุที่ซับซ้อน
ผมขาวก่อนวัยนั้นนอกจากปัจจัยจากทางพันธุกรรมแล้วมักมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความกังวล ความเครียด การขาดสารอาหารบางชนิดรวมถึงการป่วยเรื้อรัง จากมุมมองแนวทางการรักษานั้น ผมขาวในผู้สูงวัยเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติไม่มีความจำเป็นต้องรักษา ส่วนผมขาวแต่กำเนิดนั้นปัจจุบันยังขาดการรักษาที่เห็นผล ส่วนบางโรคที่มีผลให้ผมขาวจะรักษาที่สาเหตุของโรคนั้น ๆ กรณีผมขาวก่อนวัยนั้นปัจจุบันการรักษาจะเป็นในลักษณะของการควบคุมไม่ให้ผมขาวเพิ่มมากขึ้นหรือเปลี่ยนสีผมขาวให้ดำเข้มขึ้นหรือผมที่ขาว ๆ ดำ ๆ ให้ดำขลับมากขึ้น
ในทางแพทย์แผนจีนมองว่าเส้นผมคือส่วนเกินของ “เลือด”(发为血之余)หรือจะกล่าวได้ว่าเลือดส่วนที่เกินจากการหล่อเลี้ยงร่างกายก่อเกิดเป็นเส้นผม ดังนั้นแล้วหากจะให้เส้นผมแข็งแรงสวยงามก็ต้องดูแลกันถึงต้นตอ นั่นคือการมีเลือดที่เพียงพอ นอกจากนี้แพทย์แผนจีนยังมองว่า “ไต” ยังมีส่วนสำคัญเช่นกัน ไตเป็นที่เก็บสารจำเป็น(精)ซึ่งสารจำเป็นแปรเปลี่ยนซึ่งกันและกันกับเลือด จึงสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ดังจะเห็นได้จากมีการบันทึกเรื่องของผมขาวตั้งแต่สมัยโบราณหลายพันปีก่อนในตำราจูปิ้งหยวนโฮ่วลุ่น《诸病源候论》ตอนหนึ่งได้กล่าวไว้มีความหมายว่า ไตสร้างกระดูกและไขกระดูกโดยสะท้อนออกทางเส้นผม หากเลือดและชี่เพียงพอ ชี่ของไตก็แข็งแรง เมื่อชี่ของไตแข็งแรงไขกระดูกเติมเต็ม จะส่งผลให้ผมดกดำ หากเลือดและชี่พร่อง พลังชี่ไตก็พร่อง ไขกระดูกขาดการหล่อเลี้ยงจึงส่งผลให้ผมขาว เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนตามอายุที่มากขึ้น พลังชี่ไตลดลงผมจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว เป็นไปตามกระบวนการทางสรีรวิทยาไม่จัดเป็นโรค แต่ผมที่ขาวก่อนวัยนั้นมักมีสาเหตุมาจากหัวใจและม้ามทำงานหนัก ชี่และเลือดพร่อง เส้นผมขาดการหล่อเลี้ยงหรือจากสารต้นกำเนิดไม่เพียงพอ หรือป่วยหนักป่วยเรื้อรัง เป็นต้น ส่งผลให้สารจำเป็นของไตไม่พอ ผมจึงขาวก่อนวัย สามารถแบ่งสาเหตุออกเป็นสี่กลุ่มอาการคือ
1. กลุ่มอาการตับไตพร่อง
ซึ่งกลุ่มอาการนี้จะพบมากในวัยกลางคนโดยเริ่มจากผมขาวไม่กี่เส้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณผมขาวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนขาวทั้งศีรษะอาจพบผมบางผมร่วงร่วมด้วย มักพบอาการเวียนศีรษะ ตาลาย นอนไม่หลับฝันเยอะ หูอื้อหูมีเสียง ปวดเมื่อยเอว รู้สึกไม่สดชื่นเป็นอาการประกอบ จัดอยู่ในอาการผมขาวของคนสูงอายุ หากพบในผมขาวก่อนวัยอาจพบอาการประเดือนไม่ปกติในผู้หญิง
2. กลุ่มอาการปอดกระเพาะร้อนสะสม
มักเกิดจากการทานอาหารเผ็ดมันหวานมาก นานวันสะสมส่งผลให้ปอดกระเพาะร้อน ความร้อนลอยสู่ด้านบนทำให้เส้นผมแห้งหรือผมขาวจำนวนมาก หรืออาจพบผมร่วงเป็นกระจุกร่วม มักมีอาการคัน แสบร้อนที่หนังศีรษะ มีรังแคเยอะมีอาการปากขมปากแห้ง ใบหน้าแดงและมัน ท้องผูก กลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อกลุ่มอาการนี้ ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ (พนักงานออฟฟิศ) ผู้ที่เดินทางบ่อย ๆ รวมถึงผู้ที่นอนดึก นอนไม่เป็นเวลา
3. กลุ่มอาการหัวใจและม้ามอ่อนแอ
ความกังวล ความเครียด หรือใช้สมองมากเกินไปจะส่งผลต่อม้ามและหัวใจให้ทำงานหนัก ม้ามในทางแพทย์แผนจีนทำหน้าที่ย่อยอาหารแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารและเลือด หัวใจสูบฉีดกำกับเลือด เมื่อม้ามและหัวใจทำงานหนักทำให้การสร้างเลือดและชี่พร่องลงส่งไปหล่อเลี้ยงเส้นผมไม่เพียงพอและเกิดผมขาว พบร่วมกับอาการผมแห้งขาดง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย ใบหน้าซีดขาว นอนหลับไม่สนิท
4. กลุ่มอาการชี่ตับติดขัด
คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อกลุ่มอาการนี้คือผู้ที่มีอารมณ์หงุดหงิด เครียดโมโหง่าย ภาวะซึมเศร้า ประกอบกับอาการเบื่ออาหาร ทำให้ตับสูญเสียการทำงานในการขับเคลื่อนชี่ ส่งผลให้ชี่ติดขัดเลือดจึงไหลเวียนติดขัดไปด้วย หรือการติดขัดของชี่ตับก่อตัวเป็นไฟแผดเผาเลือดทำให้เกิดผมขาวก่อนวัย มักพบกลุ่มอาการนี้ในวัยกลางคน จะพบผมขาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ รายที่เป็นหนักอาจผมขาวทั้งศีรษะ อาจเรียกได้ว่าผมหงอกชั่วข้ามคืน (ตรงนี้จะให้เห็นภาพอาจนึกถึงเอี้ยก้วยที่มารอพบเซียวเหล่งนึ่งแต่ไม่มาตามนัดจนผมขาวชั่วข้ามคืน หรือหนังจีนกำลังภายในหลาย ๆ เรื่องเมื่อปวดใจโกรธแค้นจัดจนผมขาว)
ดังนั้นลองหันมาพิจารณาดูกันนะคะว่าเรามีผมขาวที่เข้าข่ายกลุ่มอาการดังที่กล่าวมากันบ้างหรือไม่ อาจลองเริ่มหันมาปรับปรุงพฤติกรรม ทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือมีสรรพคุณบำรุงไตช่วยให้ผมดกดำ เช่น งาดำ ถั่วดำ ข้าวสีนิล วอลนัท พุทราจีน เป็นต้น ลดปริมาณอาหารที่มีน้ำตาลและไขมัน ดูแลสุขภาพเส้นผม เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพเส้นผม พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาอารมณ์และจิตใจ คนบนโลกนี้จะให้พบแต่เรื่องสุขสมหวังไปตลอดก็คงจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการปรับจิตปรับใจของเราเองนั้นอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง เมื่อตัวเราเองยังปล่อยวางกับเรื่องบางอย่างไม่ได้ จะให้ใครมาช่วยก็คงไม่ดีไปกว่าการเริ่มที่ตัวเราเองหากยังไม่ได้ผลอาจลองทานยาจีนเพื่อช่วยในการปรับสมดุลร่างกายอีกทางหนึ่ง
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร (หมอจีน หวง เหม่ย ชิง)
黄美清 中医师
TCM. Dr. Mananya Anurakthanakorn (Huang Mei Qing)
แผนกอายุรกรรมภายนอก คลินิกดูแลสุขภาพผิวพรรณ
อ้างอิง
刘宁.(2016).中医美容学.中国中医药出版社.
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567