เตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูหนาว

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1351 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูหนาว

หลาย ๆ คนเข้าใจว่าประเทศไทยมีแต่เพียงฤดูร้อน หรือฤดูร้อนกับฤดูฝนเท่านั้น แต่จริง ๆ ประเทศไทยก็มี 4 ฤดูกาลเหมือนกับในต่างประเทศเช่นกัน โดยทั่วไปอย่างในประเทศจีนที่มีฤดูกาลค่อนข้างชัดเจน คือ 4 ฤดูกาลใหญ่ ๆ แต่แบ่งออกเป็น 24 ช่วงของการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ที่เรียกว่า “เจี๋ยชี่ (节气)” คือ ฤดูไบไม้ผลิจะมีจุดเริ่มต้นที่ “ลี่ชุน (立春)” คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ฤดูร้อนมีจุดเริ่มต้นที่ “ลี่เซี่ย (立夏)” ช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม ฤดูใบไม้ร่วงมีจุดเริ่มต้นที่ “ลี่ชิว (立秋)” ช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม และฤดูหนาวมีจุดเริ่มต้นที่ “ลี่ตง (立冬)” ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ฤดูหนาวในประเทศไทยเองจะเริ่มตั้งแต่ต้น เดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายเดือนมกราคม เช่นกัน โดยปกติจะไม่มีอากาศที่หนาวจัด แต่จะเป็นอากาศที่เย็นสบาย มีอุณหภูมิทั่วไปราว 15-30 องศาเซลเซียส ยกเว้นทางภาคเหนือและภาคอีสานโดยเฉพาะบริเวณยอดเขาจะค่อนข้างหนาวจัด

ในช่วงย่างเข้าฤดูหนาว สำหรับคนไทยรู้สึกเย็นสบายทำให้เผลอลืมระวังตัวจนทำให้เราเจ็บป่วยได้ง่าย ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนสมัยโบราณใน “ตำราเน่ยจิง” ให้ความสำคัญถึงการดูแลสุขภาพตามฤดูกาล ดำรงชีวิตตามหลักธรรมชาติ ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ชุนเซิง (春生) คือ ฤดูใบไม้ผลิเริ่มก่อเกิด เซี่ยจ่าง (夏长) คือ ฤดูร้อนเติบโต ชิวโซว (秋收) คือ ฤดูใบไม้ร่วงเก็บเกี่ยว เก็บทั้งหยางชี่ น้ำ และการเคลื่อนไหว ตงฉาง (冬藏) ฤดูหนาวต้องกักเก็บ ทั้งหยางชี่และสารจิง และเข้าสู่ช่วงจำศีล และ ชิวตงบำรุงอิน (秋冬养阴)” นั่นหมายถึง ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวเข้าสู่ช่วงสงบ จัดเป็นธาตุอิน ต้องเก็บรักษาไว้ไม่ให้รั่วไหล ดังนั้นเราควรต้องให้ความสำคัญในการบำรุงอินด้วย โดยเริ่มดูแลสุขภาพตั้งแต่การตื่นและเข้านอนตามธรรมชาติ

“ฤดูใบไม้ร่วงช่วงสามเดือน เรียกว่า หรงผิง เป็นช่วงที่สรรพสิ่งในธรรมชาติเติบโตอย่างสมบูรณ์และเงียบสงบ
ชี่ของฟ้าและดินเปลี่ยนแปลงอย่างที่สุด หยางชี่กลับลงสู่พื้นดิน อินชี่เติบโตทำให้หนาวเย็น
ดังนั้นในช่วงนี้เราควรจะเข้านอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้าเหมือนไก่...”

“ฤดูหนาวช่วงสามเดือน เรียกว่า ปี้ฉาง เป็นช่วงที่น้ำเย็นจนแข็งตัว พื้นดินแตกแยก ไม่ควรรบกวนหยางชี่
ดังนั้นในช่วงนี้เราควรจะเข้านอนแต่หัวค่ำและตื่นสายเล็กน้อย ตื่นเมื่อตะวันขึ้นแสงแดดส่อง...”

ธรรมชาติของฤดูใบไม้ร่วงจะมีลักษณะอากาศเย็นสบายแต่แห้ง สรรพสิ่งต่าง ๆ ก็แห้งและร่วงโรย ดังนั้นจึงมักพบว่าหลาย ๆ คนมักจะมีอารมณ์เศร้า ๆ เหงา ๆ จึงเป็นฤดูกาลที่มักจะเป็นซึมเศร้าได้ง่าย ดังนั้นต้องระวังอย่าปล่อยอารมณ์ไปตามสภาพอากาศนอกจากนี้ในฤดูใบไม้ร่วงอากาศแห้ง ซึ่งปกติปอดจะชอบความชุ่มชื้นและกลัวความเย็นแห้ง ดังนั้นปอดมักจะแห้งได้ง่าย อาการที่จะพบได้ในช่วงนี้ เช่น คอแห้ง เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ รวมถึงอาการปวดจากความเย็น ฤดูนี้ควรจะทำให้ชี่ของปอดปลอดโปร่ง และต้องระวังการกักเก็บสารอินจิงและหยางชี่ แนะนำการออกกำลังกายแบบช้า ๆ เช่น การเดินช้า การรำชี่กง เพื่อให้จิตใจสงบ ไม่ควรออกกำลังที่หักโหมหรือเสียเหงื่อมากเกินไป เพราะจะทำให้ปอดและอินถูกทำร้ายได้ง่าย ส่วนอาหารแนะนำเห็ดหูหนูขาว ปอดหมู เนื้อเป็ด สาลี่ แอปเปิ้ล ลูกพลับ เม็ดบัว รากบัว น้ำผึ้ง เป็นต้น สามารถ ต้มสาลี่เห็ดหูหนูขาว สามารถใส่เก๋ากี้ เม็ดบัว พุทราจีนและน้ำตาลกรวดเล็กน้อยรับประทานได้ ซึ่งจะช่วยบำรุงอินระบายร้อน เติมความชุ่มชื้นแก้กระหาย สงบจิตใจได้

ส่วนในช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นเป็นปัจจัยก่อโรคอิน ซึ่งจะทำร้ายหยางชี่ได้ง่าย และมักทำให้หยุดนิ่งติดขัด ดังนั้นจึงมักพบอาการปวดตามร่างกายได้ง่าย นอกจากนี้มักจะเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดอาการไข้หวัดเช่นกัน ซึ่งกระทบทำร้ายปอด จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาวมักกระทบปอด นอกจากอวัยวะปอดแล้ว และอวัยวะไต ยังเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับฤดูหนาวตามทฤษฎีปัญจธาตุอีกด้วย ซึ่งไตยังควบคุมกระดูกและสร้างไขกระดูก ถ้าหากในฤดูหนาวที่หยางชี่ถูกกักเก็บอยู่ภายในร่างกาย อินชี่อยู่ภายนอกร่างกาย ในผู้สูงอายุหรือคนที่หยางชี่ไม่เพียงพอเป็นทุนเดิมส่งผลให้รู้สึกขี้หนาว ปวดเมื่อยเอวและปวดกระดูกได้ง่าย

ดังนั้นในฤดูหนาวต้องระวังการได้รับความหนาวเย็นเข้าสู่ร่างกายซึ่งมักจะเข้าจากทางฝ่าเท้า และบริเวณต้นคอท้ายทอยได้ง่าย จึงควรปกป้องให้อบอุ่นอยู่เสมอ ในส่วนของการรับประทานอาหารต้องระวังอาหารที่มีฤทธิ์เย็นเกินไป และฤทธิ์ร้อนเกินไป ทำไมฤทธิ์ร้อนเกินไปก็ทานมากไม่ได้ เนื่องจากทำให้หยางชี่ที่เก็บอยู่ภายในมากเกินไปแล้วเกิดไฟและร้อนในได้ง่าย นอกจากนี้ยังไปทำลายอินชี่ที่ปกคลุมอยู่ภายนอกเช่นกัน จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ฤดูหนาวทานไชเท้า ฤดูร้อนทานขิง” ซึ่งเป็นคำเตือนให้ระวังถึงแม้ว่าฤดูหนาวแต่ทำไมยังต้องทานหัวไชเท้าซึ่งมีฤทธิ์เย็นบ้าง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะชอบทานอาหารมีฤทธิ์อุ่นร้อน จึงเป็นการป้องกันการทานอาหารที่อุ่นร้อนมากเกินไม่ให้ไปทำลายอินชี่นั่นเอง และในฤดูหนาวแบบนี้โบราณว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะบำรุง แนะนำอาหารที่มีฤทธิ์อุ่น แต่ไม่ร้อนแห้งเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไก่ดำ ปลาตะเพียนหรือเนื้อปลาอื่น ๆ หัวหอม  มันเทศ เห็ดหูหนูดำ เห็ดต่าง ๆ เป็นต้น สามารถ ต้มซุปไก่ดำใส่ฮ่วยซัวและเก๋ากี้ รับประทานได้ สามารถใส่ขิงพุทราได้พอประมาณ (3-4 แว่น) เพื่ออุ่นบำรุง เสริมอินเติมความชุ่มชื้น ส่วนฮ่วยซัวจะช่วยบำรุงได้ทั้งปอด ม้ามและไตได้ ซึ่งมีฤทธิ์กลางๆ ไม่ทำให้ร้อนหรือแห้งเกิน หรือบำรุงตามสภาพร่างกายของแต่ละคน นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายๆ เนื่องจากการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมน้อยในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้บางคนจะพบว่าทุกครั้งที่เข้าสู่ฤดูหนาวจะมีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น ภูมิแพ้ เป็นหวัด หอบหืด ปวดตามร่างกาย เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชี่และหยางไม่เพียงพอจึงเกิดโรคในฤดูหนาวได้ง่าย

นอกเหนือจากที่เราดูแลสุขภาพตามฤดูกาลที่แนะนำไปข้างต้นแล้ว แพทย์แผนจีนยังให้ความสำคัญในเรื่อง “ตงปิ้งเซี่ยจื้อ=冬病夏治” หมายถึงโรคที่มักเกิดในฤดูหนาวต้องรักษาที่ช่วงฤดูร้อน นั่นก็คือเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนเราควรให้ความสำคัญในการบำรุงและปกป้องหยางชี่ด้วยเพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดในฤดูหนาวต่อไป ดังนั้นถ้าหากว่าเราสังเกตุตัวเองว่ามีปัญหาเหล่านี้ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ในช่วงฤดูหนาวต้องให้ความสำคัญในการปกป้องหยางชี่ ส่วนในช่วงฤดูร้อนเราสามารถที่จะปรับสมดุลบำรุงร่างกาย เบื้องต้นลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตดูก่อน หากยังไม่ดีขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์แผนจีนเพื่อวางแผนการรักษาปรับสมดุลร่างกาย เช่น การรับประทานยาสมุนไพรจีน การรมยา หรือฝังเข็ม เป็นต้น

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนอรกช  มหาดิลกรัตน์ (หมอจีนไช่ เพ่ย หลิง)
蔡佩玲 中医师
TCM. Dr. Orakoch Mahadilokrat (Cai Pei Ling)
แผนกอายุรกรรมโรคมะเร็ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้