วัยทองทำไมจึงอ้วนง่าย

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  969 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วัยทองทำไมจึงอ้วนง่าย

แม้ว่าความอ้วนจะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่ในทางคลินิกมักพบได้บ่อยในช่วงวัยกลางคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งบ่งชี้ว่าความอ้วนมีความเกี่ยวข้องกับอายุอย่างมีนัยสำคัญ

จากมุมมองในทางการแพทย์แผนจีนได้กล่าวไว้ว่า “年四十,而阴气自半也,起居衰矣。年五十,体重,耳目不聪明矣” “เมื่ออายุ 40 ปี อินชี่ลดลงครึ่งหนึ่ง การดำรงชีวิตก็ถดถอย เมื่ออายุ 50 ปี น้ำหนักเกิน หูและตาไม่ชัดเจน” ในช่วงวัยกลางคน ความอุดมสมบูรณ์ของหยวนชี่ (元气) ในร่างกายเริ่มพร่องลง การทำงานของระบบเผาผลาญจะค่อย ๆ ลดลง การขนส่งสารน้ำ สารอาหารติดขัด เกิดการสะสมของน้ำ ความชื้น เสมหะ และเลือดคั่ง ส่งผลให้ร่างกายบวมและอ้วน นอกจากนี้เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว คนจะชอบอยู่นิ่ง ๆ ขยับตัวน้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง และบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ จึงทำให้ร่างกายอ้วนขึ้น

นอกจากนี้ความอ้วนยังพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงหลังคลอดหรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่า ชี่ไต (肾气) ของผู้หญิงลดลงเร็วกว่าผู้ชาย การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า “ชี่ไต (肾气) ที่ไม่เพียงพอ ทำให้ชี่ไม่มีแรงผลักดันน้ำ จึงนำไปสู่การสะสมเป็นความชื้นและเสมหะ และนำไปสู่ความอ้วนในที่สุด”

การรับประทานอาหารมัน หรือหวานมากเกินไปก็ส่งผลทำให้อ้วนได้ง่าย《素问·奇病论》说 :“肥者令人内热,甘者令人中满。” กล่าวว่า “อาหารมัน ทำให้เกิดความร้อนขึ้นภายในร่างกาย และของหวานทำให้รู้สึกจุกแน่น” ดังนั้นหากคุณรับประทานอาหารมัน และหวานมากเกินไป แคลอรี่ส่วนเกินจะถูกแปลงเป็นไขมันและสะสมในร่างกาย ซึ่งความเข้าใจในเรื่องนี้ทั้งในทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนจีนมีความเห็นที่สอดคล้องกัน

คุณจะเห็นได้ว่าสาเหตุหลักของความอ้วนเกิดจากความไม่สมดุลของชี่ เลือด อินและหยางในร่างกายมนุษย์ และเมื่อพิจารณาตามอายุมักพบมากในช่วงวัยกลางคน พบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงหลังคลอดบุตรและวัยหมดประจำเดือน แต่ผู้ชายที่มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูง

จากการวินิจฉัยในทางคลินิก พบว่ากลไกการเกิดโรคส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับ ความชื้น (湿) เสมหะ (痰) น้ำ (水) เลือดคั่ง (瘀) และไขมันตกค้างในร่างกาย (脂) และลักษณะของโรคนี้มักเป็นกลุ่มอาการพร่อง (虚证) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชี่พร่อง (气虚)  

วิธีการรักษา

ปัจจุบันนี้มีความเข้าใจผิดบางประการว่าในการลดน้ำหนักจะต้องใช้ยาระบาย โดยไม่สนใจว่าสาเหตุของความอ้วนนั้นแตกต่างกัน วิธีระบายมักถูกใช้เพื่อรักษาโรคอ้วน ผลที่ตามมากลับพบว่าไม่เพียงแต่คุณจะล้มเหลวในการลดน้ำหนัก แต่ยังทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย

ทั้งนี้สาเหตุและกลไกการเกิดโรคจะอยู่ที่ม้ามและไตเป็นหลัก และส่วนใหญ่เป็นลักษณะชี่พร่อง (气虚) แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกี่ยวข้องกับตับและถุงน้ำดี และมีลักษณะชี่พร่องร่วมกับเลือดคั่ง (气虚挟瘀)

ดังนั้นในด้านการรักษา แนะนำให้รักษาโดยพิจารณาจากการวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการนั้น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นการรักษา 8 วิธี คือ

  • ขจัดความชื้น (化湿)
  • สลายเสมหะ (祛痰)
  • ขับน้ำ (利水)
  • ระบายความร้อนของกระเพาะอาหาร (通腑)
  • ช่วยการย่อย (消导)
  • ขับระบายสิ่งตกค้าง (疏利)
  • เสริมม้าม (健脾)
  • อุ่นบำรุงหยาง (温阳)


ซึ่งการรักษาทั้ง 8 วิธีข้างต้นสามารถใช้ร่วมกันได้ ตัวอย่างเช่น การเสริมม้ามและขจัดความชื้น (健脾与化湿) การอุ่นบำรุงหยางและการขับน้ำ (温阳与利水) สามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการและเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

วิธีการรักษาด้วยหลักการแพทย์แผนจีน นอกจากการแยกวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดโรคอ้วนแล้ว ยังมีการใช้ยาสมุนไพรจีน ซึ่งมีสรรพคุณในการลดความอ้วน ขจัดไขมัน รวมถึงการฝังเข็มด้วยเทคนิคต่าง ๆ อันเป็นลักษณะเด่นของการแพทย์แผนจีนอย่างหนึ่ง ซึ่งมีประสิทธิผลในการรักษาที่ดี

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ปะการัง เขตคาม (หมอจีน ข่าย ซิน)
凯心 中医师
TCM. Dr. Pakarung Khetkam (Kai xin)
แผนกอายุรกรรมนรีเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้