รู้ทันโรคติกส์ในเด็ก (Tics)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1435 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้ทันโรคติกส์ในเด็ก (Tics)

       โรคติกส์ เป็นโรคของระบบจิตประสาทที่มีอาการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หรือมีอาการทางเสียงที่ผิดปกติ เป็นจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอและไม่ได้ตั้งใจ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยรุ่นตอนต้น อาการอาจเป็นเพียงชั่วคราว หรือนานกว่า 1 ปี อุบัติการณ์ของโรคติกส์ พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดย Provisional Tics Disorder พบอุบัติการณ์ร้อยละ 2.99 ในเด็กผู้ชายพบโรคร่วมสมาธิสั้นมากกว่าในเด็กผู้หญิง ในขณะที่เด็กผู้หญิงพบโรคร่วมย้ำคิดย้ำทำมากกว่าในเด็กผู้ชาย และหากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ มีโอกาสที่เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย

       อาการเริ่มแรกอาจพบได้ในช่วง 5-7 ปี แสดงอาการมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนต้นอายุประมาณ 10-12 ปี และอาการลดลงในช่วงวัยผู้ใหญ่ ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยกระตุ้น โดยความเครียด และการถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ จากการใช้หน้าจอ ไม่เพียงแค่หน้าจอโทรศัพท์ รวมไปถึงหน้าจอโทรทัศน์ที่มีภาพเคลื่อนไหว เฉลี่ย 20-30 เฟรมต่อวินาที ทำให้สมองต้องประมวลผลอย่างหนัก เกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ นอนหลับยาก รวมถึงพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ถดถอย เนื่องจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่ถูกใช้งานน้อยลง วัย 3 ขวบขึ้นไป กิจกรรมกลางแจ้งสำคัญมาก ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน พัฒนาศักยภาพกล้ามเนื้อ เพิ่ม EF เพิ่มทักษะ เด็กวัยนี้ได้กล้ามเนื้อชุดใหม่มาเพิ่ม 8 ชุด จำเป็นต้องลองใช้และปลดปล่อยพลัง ปัญหาคือ เด็กส่วนใหญ่นั่งนอนเฉย ๆ จึงถูกปิดกั้นโอกาส ใช้เพียงกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ไม่กี่มัดในการสไลด์หน้าจอ ซึ่งเป็นสิ่งผิดวิสัยสำหรับเด็กวัยนี้ อีกสิ่งที่สำคัญที่แนะนำคนไข้เสมอคือ การมีกิจกรรมในครอบครัวร่วมกัน ออกกำลังกายร่วมกัน วิ่งเล่น เล่นบอร์ดเกม ได้ใช้เวลาคุณภาพด้วยกัน

       ในเด็กอีกส่วนหนึ่งที่มีพัฒนาการปกติ ไม่มีปัญหาสมาธิสั้น เรียนได้คะแนนดี พูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่จุดสังเกตคือ มีภาวะอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ฉุนเฉียวง่าย รออะไรนาน ๆ ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาการใช้หน้าจอเหล่านั้นเด็กไม่เคยต้องรอ สมองส่วนเหตุผลไม่ทำงาน กระพริบตาถี่ ทำเสียงแปลก ๆ ในลำคอ กระแอมไอ ถอนผม ถอนขนเวลาเผลอ หรือหากเครียด อาการจะชัดเจนขึ้น บางเคสถอนจนผมหายเป็นหย่อม ๆ อาการจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ พอทำบ่อย ๆ เข้า ร่างกายก็เริ่มจดจำพฤติกรรมนี้จนทำซ้ำเป็นนิสัย สมองส่วนเหตุผล เป็นสมองที่เรียกว่า Neocortex สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล วางแผน แก้ปัญหาซับซ้อน คิดสร้างสรรค์ และพัฒนาภาษา มีสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ในการประมวลผลจากทุกส่วนในสมองแล้วก็นำมาตัดสินใจที่สมองส่วนหน้านี้ เรียกว่า Brain Executive Functions : EF คอยควบคุมการคิด อารมณ์ การกระทำผ่านการฝึกฝน คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยประคับประคองจนกว่าสมองส่วน EF จะสมบูรณ์เต็มที่ในช่วงอายุ 25 ปี

       ตำแหน่งของโรคอยู่ที่ตับและม้าม ม้ามทำหน้าที่ในการสร้างเลือดและชี่ ดูดซึมสารอาหารไปสร้างพลังงานเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ม้ามพร่องจึงสร้างเลือดได้น้อย ตับซึ่งทำหน้าที่กักเก็บเลือด ส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หล่อเลี้ยงเส้นเอ็น เมื่อเลือดกักเก็บในตับไม่เพียงพอ จะเกิดความร้อนหยางมากเกินไป เมื่อมีความร้อนมากในร่างกายจะเกิดลมพุ่งสู่ที่สูง เสมือนลูกบอลลูนที่ต้องใช้ไฟเพื่อสร้างแรงลอยตัว ลักษณะของลมนั้นลอยไปมาไม่มีทิศทาง อาการของโรคจึงเกิดขึ้นได้ไม่ซ้ำ การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน จำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยด้วยหลักการเปี้ยนเจิ้ง ร่างกายแต่ละคนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การรักษาด้วยการฝังเข็มร่วมกับยาสมุนไพรจีน จึงต้องจำเพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล

       จากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ คือ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเท่าที่ควร และที่หนักกว่านั้นคือ พ่อแม่ไม่ยอมรับว่าลูกกำลังมีปัญหา ทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษา ดังนั้นการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลเกี่ยวกับการควบคุมปัจจัยกระตุ้นและควบคุมอาการของโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน กนิษฐา ใจเย็น แสงสกุล (หมอจีน จาง เยว่ ฟาง)
张月芳 中医师
TCM. Dr. Kanittha Jaiyen Saengsakul ( Zhang Yue Fang)
แผนกฝังเข็ม

อ้างอิง
พุทธชินราชเวชสาร ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๑มกราคม-เมษายน ๒๕๖๑

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้