การดูแลรักษาภาวะซึมเศร้าด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน Depressive Disorder

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  1924 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลรักษาภาวะซึมเศร้าด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน Depressive Disorder

ในสภาวการณ์ในปัจจุบันมีอัตราการการป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันโลกของเรามีประชากรราว 7.6 พันล้านคน และมีคนเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน หรือเกือบ 4% เลยทีเดียว ส่วนในคนไทยเองนั้นพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน หรือ 2.2% ของคนไทยทั้งหมด 70 กว่าล้านคน และน่าตกใจว่าคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายก็คือโรคซึมเศร้านั่นเอง

สถานการณ์ป่วยโรคซึมเศร้านำสู่การฆ่าตัวตาย กำลังเป็นปัญหาคุกคามสังคมไทยในปี 2564 มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 

แต่ปัญหาของในประเทศไทยคือมีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยที่ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา ซึ่งผู้ที่ป่วยรุนแรงจะนำไปสู่ความพยายามฆ่าตัวตาย อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์โรคซึมเศร้าไทยกรมสุขภาพจิตระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจำนวน 100 คน เข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เราจึงตระหนักถึงความสำคัญถึงการให้ข้อมูลของโรคและแนวทางการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนซึ่งเป็นอีกทางเลืดหนึ่ง ดังนี้\

โรคซึมเศร้าหรือโรคภาวะซึมเศร้า Depression เป็นความผิดปกติทางด้านอารมณ์ชนิดหนึ่ง ลักษณะอาการทางคลินิกที่สำคัญคือ มีอารมณ์ซึมเศร้าหดหู่ใจอย่างชัดเจนเป็นระยะเวลานาน มักมีการรับรู้และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปร่วมด้วย ในกรณีรุนแรงอาจมีความคิดและพฤติกรรมทำร้ายร่างกายตัวเองจนไปถึงฆ่าตัวตาย

การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้า

  1. เกณฑ์อาการ
    1.1 อารมณ์ซึมเศร้าหดหู่
           1.1.1 สูญเสียสิ่งที่น่าสนใจ ไม่มีความสุข
           1.1.2 ประเมินตัวเองต่ำเกินไป สำนึกผิดหรือรู้สึกผิด
           1.1.3 มีความคิดอยากตายหรือมีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกายตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
    1.2 กระบวนการคิดเชื่องช้า
           1.2.1 กระบวนการทางความคิดยุ่งยากหรือความสามารถในการนึกคิดลดลง
    1.3 การเคลื่อนไหวร่างกายช้ากว่าปกติ (Hypoactivity)
           1.3.1 พลังงานลดลง หรือรู้สึกอ่อนเพลียง่าย
           1.3.2 ความคิด การเคลื่อนไหว และการพูดจาช้าลง (Psychomotor retardation) หรือกระสับกระส่าย (Psychomotor agitation)
    1.4  อาการทางกาย (Somatic Symptoms)
           1.4.1 ความผิดปกติของการนอน เช่น นอนไม่หลับ หลับยาก ตื่นง่าย หรือนอนหลับมากเกินไป
           1.4.2 ความอยากอาหารลดลงหรือน้ำหนักลดลงอย่างชักเจน
           1.4.3 ความรู้สึกทางเพศลดลง

  2. เกณฑ์มาตรฐานในการเกิดโรค : สอดคล้องกับการวินิจฉัยตามอาการเบื้องต้น และมีการดำเนินโรคหรืออาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป

  3. เกณฑ์การคัดแยกโรค : ยกเว้นจากความผิดปกติจากอาการทางจิตจากทางสมองหรือได้รับสารที่ออกฤทธิ์ที่มีผลทางจิตและสารเสพติดที่มีผลทำให้เกิดภาวะข้างเคียงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

การอธิบายภาวะซึมเศร้าในทางการแพทย์แผนจีน
ภาวะซึมเศร้าในทางแพทย์จีนได้จัดอยู่ในกลุ่มอาการเตียน โรคกลุ่มอาการเตียน “癫证” เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางจิตประสาท เนื่องจากมีเสมหะมาอุดกั้นทวารของหัวใจ ทำให้การทำงานของเสินแปรปรวน ลักษณะพิเศษของโรคคือ จิตใจซึมเศร้า อารมณ์เฉื่อยชา เงียบขรึม  พูดจาสับสน อ่อนเพลียหรือเคลื่อนไหวน้อย ในคัมภีร์ซู่เวิ่น บทเสวียนหมิงอู่ชี่เพียน《素问·宣明五气篇》:“เสียชี่เข้าสู่หยางทำให้เกิดอาการคุ้มร้ายอาละวาดอาจทำร้ายคน (ขวง 狂) เสียชี่เข้าสู่อินทำให้เกิดอารามณ์ผิเดเพี้ยนไม่ทำร้ายคน (เตียน 癫)”  คัมภีร์ตันซีซินฝ่า บทเตียนขวง 《丹溪心法·癫狂》﹕“ไฟจากอารมณ์ความรู้สึกทั้งห้า ทำให้เกิดอารมณ์ทั้งเจ็ด อัดอั้นกลายเป็นเสมหะ จึงกลายเป็นอาการของโรคจิตเภทบ้าอาละวาด ควรรักษาที่ตัวบุคคล ไม่ใช่รักษาได้ด้วยยา ควรตรวจวินิจฉัยและสังเกตสาเหตุเพื่อปรับให้สมดุล โกรธทำลายตับทำให้เกิดเป็นวิกลจริต ให้ให้อารมร์ครุ่นคิดเพื่อเอาชนะ ให้อารมณ์หวาดกลัวเพื่อบรรเทาอาการ” “เตียนจัดเป็นอิน ขวงจัดเป็นหยาง …ส่วนใหญ่มักเกิดจากเสมหะติดขัดอยู่ที่หัวใจและกลางอก”

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค :

  1. การได้รับการกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น ครุ่นคิดไม่ได้ดั่งใจหวัง ความเสียใจดีใจปะปนกัน สับสน โกรธ ตกใจ หรือหวาดกลัว
  2. เสมหะอุดกั้น
  3. พันธุกรรม

การเปี้ยนเจิง (วิเคราะห์แยกกลุ่มอาการ) และการรักษา

  1. กลุ่มชี่ตับติดขัด อาการหลักคือ ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนง่าย โกรธง่าย ชอบร้องไห้ ถอนหายใจถี่ จุกแน่นกลางอกและบริเวณชายโครง ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรเสวียน หลักการรักษา คือปรับสลายชี่ตับ เพิ่มการไหลเวียนของชี่ 
  2. กลุ่มเสมหะติดขัด อาการหลักคือ อาการซึมเศร้า แสดงอาการเฉยชา พูดจาสับสนหรือบ่นพึมพำกับตัวเอง ดีใจเสียใจผิดปกติ แยกแยะความสกปรกกับสะอาดไม่ได้ มีอาการเบื่ออาหาร ลิ้นซีด ฝ้าลิ้นขาวเหนียว ชีพจรเสวียนหัว  หลักการรักษาเน้นไปที่การปรับชี่สลายติดขัด สลายเสมหะอุดกันเสิน
  3. กลุ่มหัวใจและม้ามพร่อง อาการหลักคือ เหม่อลอย พฤติกรรมเปลี่ยน ใจสั่น ตกใจง่าย เศร้าเสียใจชอบร้องไห้ แขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อย หน้าซีด ลิ้นซีด ฝ้าขาวเหนียว ชีพจรซี่รั่ว หลักการรักษาเน้นเสริมม้าม บำรุงหัวใจ ปรับสมดุลชี่สงบจิตใจ

หลักการรักษาทางด้านการแพทย์แผนจีน เน้นการปรับสมดุลชี่ สลายติดขัด เพิ่มการทำงานของชี่ และการบำบัดทางจิต วิธีการรักษา เช่น การฝังเข็ม การใช้เครื่องการตุ้นฟ้า ทานยาจีน ฝังเข็มหู การฝังเข็มศีรษะ และการนวดทุยหนา และแนะนำหลังการักษาให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเพื่อช่วยในการฟื้นฟูสภาวะทางอารมณ์ให้กับผู้ป่วย เช่นการสร้างความบันเทิงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นเต้น เพื่อให้มีชีวิตชีวา มีความสุข ร่าเริง ส่งเสริมงานอดิเรกที่ผู้ป่วยสนใจ มีการให้คำปรึกษาและรับฟังปัญหาของผู้ป่วย คนรอบข้างหรือคนในครอบครอบไม่ควรเลือกปฏิบัติเฉยชา เยาะเย้ยหรือเกลียดชังผู้ป่วย ควรหากิจกรรมที่ทำร่วมกับคนในครอบครัวให้ผู้ป่วยผ่อนคลายอารมณ์ ช่วยรักษาอารมณ์ให้มั่นคง และสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น แนะนำผู้ป่วยออกกำกายเบาๆเช่นว่ายน้ำ โยคะ หรือไทเก็ก อู่ฉินซี่ (การบริหารเคลื่อนไหวที่เลียนแบบท่าสัตว์ 5 ชนิด คือ เสือ กวาง หมี ลิง และนก) เพื่อช่วยให้ชี่และเลือดไหลเวียนสะดวกมากขึ้น สภาวะทางอารมณ์ก็จะดีขึ้นตามลำดับ

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ศศิพัชญ์ อิทธิชัยโฆษิตกุล (หมอจีน สุ่ย จิง ซิน)
许精鑫  中医师
TCM.Dr.Sasiphat Aitthichaikhositkun
แผนกกระดูกและทุยหนา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้