เส้นเลือดขอดคืออะไร รักษาด้วยการฝังเข็มได้หรือไม่

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  4947 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เส้นเลือดขอดคืออะไร รักษาด้วยการฝังเข็มได้หรือไม่

ภาวะเส้นเลือดขอด (Varicose Vein) คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณหลอดเลือดดำบริเวณขา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ทำให้เกิดการปวดเมื่อยเนื้อตัว ไม่สบายตัว ก่อให้เกิดอาการกังวลใจต่าง ๆ อีกทั้งอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงได้ เมื่อละเลยต่อการดูแลรักษา อาจมีอาการปวด บวม กดเจ็บหรือผิวหนังเริ่มหนา และเปลี่ยนเป็นสีคล้ำมากขึ้น ซึ่งจะต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว

ลักษณะอาการของเส้นเลือดขอด

อาการหลัก ๆ ที่สามารถสังเกตได้ คือ อาการปวด หน่วง ชา และบวมบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด โดยในบางรายจะเห็นเส้นเลือดขอดชัดเจน แต่ในบางรายก็จะยังมองไม่เห็น แต่จะมีอาการปวด และเป็นตะคริวได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ทั้งนี้ เพศหญิงจะมีแนวโน้มเป็นเส้นเลือดขอด ได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากเส้นเลือดดำขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศหญิง โดยสามารถสังเกตความผิดปกติ ได้ดังนี้

  • มองเห็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมา
  • เส้นเลือดปรากฏสีม่วงเข้มหรือสีฟ้าบริเวณขา
  • เมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ หนักขา
  • บวม ร้อนขาส่วนล่าง
  • ปวด เมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
  • เลือดออกจากเส้นเลือดขอด
  • กรณีที่เป็นแบบรุนแรง อาจมีอาการผิวหนังอักเสบหรือมีแผลพุพองบริเวณผิวหนังใกล้ข้อเท้า

สาเหตุของการเกิดเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ การทำกิจวัตรประจำวันด้วยอิริยาบถเดิมซ้ำ ๆ เช่น มีพฤติกรรมการนั่ง ยืน เป็นเวลานาน ๆ และอยู่ในท่าที่ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดไม่สะดวก เช่น การนั่งไขว้ขา การเดิน หรือยืนด้วยรองเท้าส้นสูง รวมทั้งอายุที่มากขึ้นก็ทำให้มีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดได้มากขึ้น เนื่องจากความแข็งแรงของลิ้นหลอดเลือดจะลดน้อยลงตามอายุ และในเรื่องของน้ำหนักตัวก็เช่นกัน การที่มีน้ำหนักตัวมากย่อมส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดได้ นอกจากนั้น ในเรื่องของกรรมพันธุ์ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้เช่นกัน

กลไกการเกิดเส้นเลือดขอด

ในร่างกายจะมีหลอดเลือดดำใต้ผิวหนัง แบ่งออกเป็น หลอดเลือดดำชั้นตื้น (Superficial Vein) และหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein) ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บีบหลอดเลือดดำ เพื่อส่งเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจ เมื่อหลอดเลือดดำที่ขาผิดปกติ ส่งผลให้เลือดไม่สามารถถูกลำเลียงกลับเข้าสู่หัวใจได้ทั้งหมด หรือเกิดการย้อนกลับของเลือดดำจากลิ้นกั้นเลือดที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนวาล์ว (Valve) สำหรับกั้นเลือดรั่วชำรุด ทำให้เลือดดำค้างในหลอดเลือดและเกิดการขยายตัวกลายเป็น เส้นเลือดขอด (Varicose Vein)

การวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคเส้นเลือดขอดโดยทั่วไป ได้แก่ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ชนิดพิเศษสำหรับหลอดเลือด (Duplex Ultrasound) ซึ่งต้องทำเพื่อประเมินหาสาเหตุแอบแฝง มิฉะนั้นจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา

เส้นเลือดขอดในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ภาวะเส้นเลือดขอด คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำที่ขาที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เลือดไม่สามารถถูกลำเลียงกลับเข้าสู่หัวใจได้ทั้งหมด หรือเกิดการย้อนกลับ ทำให้เลือดดำค้างในหลอดเลือดและเกิดการขยายตัวกลายเป็น เส้นเลือดขอด (Varicose Vein)

โดยในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียก ภาวะเส้นเลือดขอด ว่า 筋瘤 (จินหลิว) 筋痹 (จินปี้) 恶脉 (เอ้อม่าย) 脉痹 (ม่ายปี้) โดยเชื่อว่า “ไม่คล่องหรือติดขัดจะทำให้ปวด หากคล่องแล้วจะไม่ปวด” (不通则痛、通则不痛)กล่าวคือ เส้นเลือดขอดเกิดจากการที่เลือดในเส้นเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น

สาเหตุและกลไกการเกิดเส้นเลือดขอดในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ภาวะเส้นเลือดขอดเกิดจาก ชี่ติดขัด, เลือดคั่ง/ชี่พร่อง, เลือดพร่อง/เลือดแห้ง, กล้ามเนื้อเกร็ง/ความชื้นและความเย็นสะสม/ความชื้นและความร้อนลงล่าง โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้

  1. ชี่ในร่างกายไหลเวียนติดขัดหรือแรงขับคลื่อนลดลง เกิดภาวะเลือดไหลเวียนไม่สะดวกบริเวณน่อง จึงเกิดเป็นเส้นเลือดที่มีลักษณะคดเคี้ยว โป่ง หรือบิดเป็นก้อน ทำให้มีอาการปวดขาเหมือนมีเข็มทิ่มอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นหนักขึ้นเมื่อขยับขา ร่วมกับอาจมีอาการซึมเศร้า ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ลิ้นเป็นสีม่วงเข้ม มีจุดเลือดคั่ง ชีพจรเสียนหรือเซ่อ
  2. เลือดหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นเกิดภาวะแห้ง เกิดเป็นเส้นเลือดสีเขียวคดเคี้ยวบริเวณน่อง และจะปวดตามข้อ รวมถึงมีอาการหูมีเสียงคล้ายเสียงจั้กจั่น เวียนศีรษะ ชาบริเวณแขน-ขา ตาแห้ง ลิ้นซีด ชีพจรซี่
  3. ความเย็นและความชื้นตกค้างอยู่ภายในร่างกาย เกิดเป็นเส้นเลือดสีเขียวคดเคี้ยวบริเวณน่อง ขาบวม กดแล้วมีลักษณะบุ๋ม หนาวง่าย กลัวความเย็น ขาชาไม่สามารถขยับได้ รู้สึกหนักไม่มีแรง หากอาการหนัก อาจเกิดอาการเดินขาลาก รวมถึงอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องร่วง ลิ้นซีดมีฝ้าขาวลื่นหรือขาวเหนียว ชีพจรหรูห่วน

วิธีการรักษา

การรักษาด้วยวิธีฝังเข็มและรมยา เป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งการฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด พร้อมทั้งยังช่วยปรับสมดุลการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอีกด้วย

โดยแพทย์จะใช้วิธีการฝังเข็มและรมยา เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ดังนี้
จุดฝังเข็ม : จู๋ซานหลี่ ซานอินเจียว อาซื่อ
วิธีการ : ฝังเข็มทุกวัน ทำการฝังเข็ม 7 ครั้ง นับเป็น 1 รอบการรักษา

จุดรมยา : ถานจง เก๋อซู อาซื่อ
วิธีการ : รมยาแบบอุ่นเล็กน้อยจะทำให้เกิดความร้อนอย่างช้า ๆ ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที และจุดอาซื่อ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที จนผิวหนังบริเวณนั้นเริ่มแดง ทำการรมยาทุกวัน โดยรมยา 7 ครั้ง นับเป็น 1 รอบการรักษา

หลังจากได้รับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มและรมยา อาการของเส้นเลือดขอดจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสิทธิภาพของการรักษาที่ดี

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

แม้ว่าหลายคนจะมองว่า เส้นเลือดขอด ไม่ใช่โรครุนแรงหรือกังวลเพียงแค่เรื่องความสวยงาม ซึ่งอาจทำให้ละเลยที่จะเข้ารับการรักษา แต่ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น จะพบว่าหากไม่รีบรักษาอาจส่งผลให้เกิดแผลหลอดเลือดดำ ดังนั้นเมื่อเป็นเส้นเลือดขอดจึงควรเข้าพบแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเร็วเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่มีภาวะเส้นเลือดขอด ควรระมัดระวังและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะดังกล่าว ซึ่งทำได้ง่าย ๆ คือ หมั่นออกกำลังกายเพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีและการเดินก็เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณขาดีขึ้น นอกจากนั้นจะต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนาน ๆ โดยจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หมั่นบริหารข้อเท้าในขณะนั่ง โดยการเหยียดปลายเท้าและกระดกปลายเท้าสลับกันตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด เป็นต้น

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ริฟฮาน ยูโซะ (หมอจีน หลัว หรู ซาน)
罗如珊  中医师
TCM. Dr. Rifhan Yusoh (Luo Ru Shan) 
แผนกฝังเข็ม

ข้อมูลอ้างอิง
- 吴绪平 张淑蓉 金来星 主编. 现代针灸治疗大成. 北京:中国医药科技出版社,2012 年
- “เส้นเลือดขอด บอกลาได้แค่รักษาให้ไว” จาก https://www.bangkokhospital.com/content/varicose-vein
- “เส้นเลือดขอดที่ขา” จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/varicose-veins
- “เส้นเลือดขอด (Varicose veins) มีวิธีรักษาอย่างไร รักษาที่ไหนดี?” จาก https://www.rattinan. com/varicose-veins/?utm_source=Youtube&utm_medium=varicose-veins&utm_campaign= varicose-veins
- “การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยการฝังเข็ม – Varicose veins” จาก https://www.mandarin-clinic. com/articles/varicose-veins/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้