อาการแพ้ท้อง แก้ได้ด้วยแพทย์จีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1811 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาการแพ้ท้อง แก้ได้ด้วยแพทย์จีน

อาการแพ้ท้องมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงในคุณแม่อายุครรภ์ 4-6 สัปดาห์แรก และมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงเป็นพิเศษ สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรก โดยที่อาการแพ้ท้องมีหลายอาการ เช่น คลื่นไส้อยากอาเจียน เวียนศีรษะ รู้สึกแสบลิ้นปี่ เหม็นกลิ่นต่าง ๆ เช่น กลิ่นอาหาร เป็นต้น และเมื่อคุณแม่อายุครรภ์เกิน 3 เดือนขึ้นไปอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง

การแพทย์แผนจีนอธิบายสาเหตุของอาการแพ้ท้องอย่างไร

สาเหตุสำคัญคือ กลไกชี่ของกระเพาะอาหารวิ่งสวนทางขึ้นด้านบน ซึ่งปกติชี่ของกระเพาะอาหารควรจะวิ่งลงด้านล่าง เมื่อวิ่งกลับทิศจะส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ โดยปัจจัยที่ทำให้ชี่ของกระเพาะอาหารวิ่งสวนขึ้นบนเกิดจาก

  1. ม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง
    เมื่อตั้งครรภ์และคุณแม่ไม่มีประจำเดือน เลือดในร่างกายไม่สามารถระบายออกเป็นประจำเดือนได้ ดังนั้นเลือดและชี่ไปสะสมที่ชงม่าย(冲脉)เพื่อบำรุงทารกในครรภ์ เมื่อชงชี่(冲气)ในชงม่ายเติมเต็ม ชงชี่จึงวิ่งสวนขึ้นด้านบน กระทบการทำงานของกระเพาะอาหาร ถ้ากระเพาะอาหารอ่อนแอ ชงชี่ที่วิ่งสวนขึ้นด้านบนจะทำให้การทำงานของกระเพาะอาหารแปรปรวน ชี่ของกระเพาะอาหารที่ควรวิ่งลงล่างผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการพะอืดพะอม แพ้ท้อง แต่ถ้าม้ามพร่องจนเกิดความชื้นขึ้นในร่างกาย ชงชี่และความชื้นรวมตัวกันและวิ่งสวนขึ้นด้านบน ทำให้เกิดอาการพะอืดพะอมเช่นกัน
  2. ตับและกระเพาะอาหารทำงานไม่สอดคล้องกัน
    หลังตั้งครรภ์ เลือดและสารอิน(阴血)ไปรวมตัวกันที่มดลูกเพื่อบำรุงทารกในครรภ์ ชงม่ายมีชี่ไปสะสมจนเต็ม ในทฤษฎีการแพทย์แผนจีนได้บันทึกไว้ว่า ตับมีหน้าในการเก็บกักเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงในครรภ์จนหมด ทำให้เลือดในตับไม่เพียงพอ ชี่ตับจึงมีมาก หากเดิมทีเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ก็จะกระทบการทำงานของตับ จนชี่ตับยิ่งมีมากขึ้น ขณะเดียวกันเส้นลมปราณตับมีความเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารและกะบังลม เมื่อชงชี่และไฟจากตับวิ่งสวนขึ้นไปทำลายกระเพาะอาหาร ส่งผลให้การทำงานของกระเพาะอาหารแปรปรวน ชี่ของกระเพาะอาหารที่ควรวิ่งลงล่างจึงผิดปกติ ทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม แพ้ท้อง


ตำรับยาจีนที่รักษาอาการแพ้ท้อง
จะมีหลายตำรับด้วยกัน ซึ่งการเลือกใช้ตำรับยาไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่มีอาการแพ้ท้องเนื่องจากสาเหตุใด

ตัวอย่างเช่น ตำรับเซียงซาลิ่วจวินจื่อทัง(香砂六君子汤)ตำรับยานี้มักใช้กับคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มอาการม้ามและกระเพาะพร่อง ในตำรับปะกอบด้วยตัวยา เช่น

  • เหรินเซิง(人参)ไป๋จู๋(白术)ฝูหลิง(茯苓)กันเฉ่า(甘草)ต้าเจ่า(大枣)มีสรรพคุณช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงชี่ ปรับสมดุลการทำงานของกระเพาะอาหาร
  • เซิงเจียง(生姜)ปั้นเซี่ย(半夏)มีสรรพคุณช่วยดึงชี่ของกระเพาะอาหารลงล่าง แก้อาการพะอืดพะอม แพ้ท้อง
  • ซาเหริน(砂仁)เฉินผี(陈皮)มู่เซียง(木香)มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลของชี่ให้ไหลเวียนเป็นปกติ


ดังนั้นตำรับเซียงซาลิ่วจุนจื่อ นอกจากจะช่วยแก้อาการพะอืดพะอมได้แล้ว ยังช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหารอีกด้วย

นอกจากตำรับยาที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีหลายตำรับยาที่สามารถแก้อาการแพ้ท้องได้ เช่น กุยจือทัง(桂枝汤)เจียเว่ยเวิ่นตั๋งต่านทัง(加味温胆汤)เป็นต้น

ยาสมุนไพรจีนมีประวัติมาอย่างยาวนานกว่า 5000 ปี ในการรักษาอาการแพ้ท้องได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งยังปลอดภัยกับทารกในครรภ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์แผนจีนที่มีใบประกอบโรคศิลปะที่ถูกต้อง

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หมอจีน หลิน อิ่ง เหวิน)
林影雯 中医师
TCM. Dr. Sita Soiampornkul (Lin Ying Wen)
แผนกอายุรกรรมนรีเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้