ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  1761 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก

ภาวะที่เกิดมีเลือดออกทางช่องคลอดจะต้องเป็นเลือดประจำเดือนได้อย่างเดียวเท่านั้นหรือ?

ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำแล้วเห็นรอยเลือดบนกางเกงใน สาวๆหลายคนคงคิดว่า “เลือดประจำเดือน” มา แต่ในความเป็นจริง ในชีวิตประจำวันไม่ได้มีเพียงแค่ประจำเดือนมาไม่ปกติเท่านั้นที่สามารถทำให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอด โรคบางชนิดก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน ที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (Dysfunctional uterine bleeding/DUB) ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือพยาธิสภาพใดๆภายในอุ้งเชิงกราน

สาวๆหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นเคยกับภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก(DUB) หลายๆคนมักจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อต้องไปโรงพยาบาล เพื่อไปพบแพทย์ เนื่องจากมีประจำเดือนมาไม่ปกติ

แล้ว “เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก” คืออะไร? ก่อนอื่นหวังว่าทุกคนจะเข้าใจก่อนว่า ประจำเดือนปกติคืออะไร !

ปัจจัยพื้นฐาน 3 ส่วนของการมีประจำเดือนปกติ
ปริมาณและระยะห่างของรอบประจำเดือนมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล

  1. รอบประจำเดือน
    หนึ่งรอบของประจำเดือนปกติมีระยะเวลาคือ 28 วัน หรืออยู่ระหว่าง 21-35 วัน การนับระยะห่างของรอบเดือนโดยนับวันแรกของการมีประจำเดือนเป็นวันที่หนึ่งของรอบเดือนจนถึงวันสุดท้ายก่อนมีประจำเดือนรอบใหม่
  2. ระยะเวลาช่วงมีประจำเดือน
    ระยะเวลาของการมีประจำเดือน (มีเลือดออก) ปกติ คือ 3-7 วัน
  3. ปริมาณของประจำเดือน
    เลือดประจำเดือนที่ออกในแต่ละรอบมีปริมาณ 20-80 มิลลิลิตร เฉลี่ยประมาณ 35 มิลลิลิตร

เลือดออกที่ไม่ใช่ประจำเดือน
คือการมีเลือดออกจากช่องคลอดเมื่อไม่ใช่เวลาที่ควรมีเลือดออก ผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน 2 รอบเป็นเวลา 2-3 วัน ซึ่งเป็นอาการที่ผิดปกติ ทั้งนี้สามารถเปรียบเทียบได้ หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขพื้นฐาน 3 ประการข้างต้น ก็มักจะเป็นเลือดออกผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า “เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก” อย่างไรก็ตาม การมีเลือดออกในโพรงมดลูกที่ผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องเป็น DUB เสมอไป เพราะอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้างทางกายภาพหรืออาจเกิดจากความผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากทางกายภาพก็ได้

ความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้างทางกายภาพและความผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากทางกายภาพหมายถึงอะไร?
การมีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก มีภาวะพังผืดในกล้ามเนื้อมดลูก มีเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก มะเร็ง หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตมากกว่าปกติ เป็นต้น

กรณีที่มีความผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากทางกายภาพ เช่น มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้า มีการตกไข่ที่ผิดปกติ มีความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกในการควบคุมการหยุดไหลของเลือดประจำเดือน สาเหตุจากยาหรือสารเคมีต่างๆที่มารบกวนสรีรวิทยาของรอบเดือน เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาปกติทุกเดือน แต่แล้วก็ไม่มีประจำเดือนมาเป็นเวลานาน หรือมีเลือดออกบ่อยๆ สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือการตั้งครรภ์ จำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อตัดปัจจัยเหล่านี้ออกไป เพราะอาจมีสาเหตุที่น่ากลัวกว่านั้นอีกอย่างคือการตั้งครรภ์นอกมดลูก

หลังจากที่มีการตรวจทางการแพทย์โดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว หากไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์ และไม่ใช่การตั้งครรภ์นอกมดลูก ไม่มีก้อนเนื้อ ไม่มีการบาดเจ็บ และไม่มีการอักเสบ เป็นต้น ก็เป็นไปได้สูงที่จะเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (DUB)

หลังจากวินิจฉัยโรคว่าเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (DUB) แล้ว ผู้ป่วยควรรับการรักษาตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพและชีวิตที่ตามมา เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด โลหิตจางจากการมีเลือดออกมากผิดปกติ หรือผลเสียต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์และระบบอื่นๆของร่างกาย

การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก

ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดขึ้น ในรายที่มีความผิดปกติด้านฮอร์โมน จำเป็นต้องได้รับการปรับฮอร์โมนเพื่อให้รอบเดือนมาตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน การใช้ยาฉีด หรือในรูปแบบของห่วงอนามัยที่สามารถปล่อยฮอร์โมนออกมาได้ หรือในรายที่มีเนื้องอกภายในโพรงมดลูกก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเอาเนื้องอกนั้นออก รวมทั้งในรายที่เป็นมะเร็งก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดและฉายแสงร่วมด้วย

ส่วนในทางการแพทย์แผนจีนนั้น การรักษาจะมีทั้งการทานยาสมุนไพรจีนและการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้อง ปรับสมดุลการไหลเวียนชี่และเลือด ในรายที่มีเนื้องอกก็สามารถฝังเข็มหรือเพิ่มตัวยาที่มีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและสลายก้อนร่วมด้วย

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ปะการัง เขตคาม (หมอจีน ข่าย ซิน)
凯心 中医师
TCM. Dr. Pakarung Khetkam (Kai xin)
แผนกอายุรกรรมนรีเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้